backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

ขี้แมลงวัน เกิดจากอะไร กำจัดได้ด้วยวิธีใดบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/11/2022

ขี้แมลงวัน เกิดจากอะไร กำจัดได้ด้วยวิธีใดบ้าง

ขี้แมลงวัน เป็นจุดหรือตุ่มสีดำหรือน้ำตาลบนผิวหนัง มีลักษณะแบนราบหรือนูนเล็กน้อย มักพบตามผิวหนังบริเวณที่โดนแดดเป็นประจำ เช่น ใบหน้า แขน ขา ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่ขี้แมลงวันไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแต่หากต้องการกำจัดออก สามารถทำได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น จี้กรด ฉายแสงเลเซอร์

ขี้แมลงวัน คืออะไร

ขี้แมลงวันเป็นจุดหรือตุ่มขนาดเล็กบนผิวหนัง มีรูปร่างเป็นวงกลมหรือวงรี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.2-0.5 เซนติเมตร มีสีดำหรือน้ำตาล ลักษณะนูนหรือแบนราบ มักพบตามผิวหนังบริเวณที่โดนแสงแดดเป็นประจำ ไม่ทำให้เจ็บหรือระคายเคือง

ขี้แมลงวันมีข้อแตกต่างจากกระ คือ เมื่อขี้แมลงวันเกิดขึ้นแล้วจะอยู่ถาวรและไม่จางลงในขณะที่กระอาจจางลงได้หากโดนแสงแดดน้อยลง และกระมักเกิดจากกรรมพันธุ์

ขี้แมลงวัน เกิดจากอะไร

ขี้แมลงวันเกิดจากความผิดปกติของเซลล์เมลาโนไซท์ (Melanocyte) ในผิวหนังที่ทำหน้าที่ผลิตเมลานิน (Melanin) หรือเม็ดสีให้กับผิวหนัง ซึ่งถูกกระตุ้นจากรังสีอัลตราไวโอเลต ทั้งจากการเผชิญกับแสงแดดโดยตรงเมื่ออยู่กลางแจ้ง การอาบแดด รวมถึงจากการส่องไฟหรือการฉายรังสีเพื่อรักษาโรคบางชนิด

นอกจากนี้ ในบางกรณีอาจพบขี้แมลงวันเป็นจำนวนมากผิดปกติตั้งแต่เกิด อาจมีสาเหตุมาจากโรคต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • กลุ่มอาการนูแนน (Noonan Syndrome) เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของยีน ผู้ป่วยโรคนี้จะมีความผิดปกติที่ใบหน้า หัวใจ การมองเห็น การได้ยิน การเจริญเติบโต กล้ามเนื้อ และกระดูก ในรูปแบบและระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน โดยหนึ่งในอาการของโรคนี้มักปรากฏขี้แมลงวันขึ้นตามผิวหนัง
  • กลุ่มอาการคาวเดน (Cowden Syndrome) เป็นโรคหายากที่ผู้ป่วยจะมีเนื้องอกที่ไม่ร้ายแรงเรียกว่าฮามาร์โทมา (Hamartoma) เกิดขึ้นทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบนผิวหนัง ในปาก หรือในระบบทางเดินอาหาร
  • กลุ่มอาการบันนายันไรลีย์รูวัลคาบา (Bannayan-Riley-Ruvalcaba Syndrome) เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เมื่อเป็นแล้ว ผู้ป่วยจะมีศีรษะโตกว่าปกติและมีตุ่มเนื้องอกฮามาร์โทมาเกิดขึ้นตามร่างกาย นอกจากนั้น ในผู้ป่วยเพศชายอาจพบกระสีดำหรือขี้แมลงวันบริเวณองคชาตด้วย
  • โรค PJS (Peutz-Jeghers Syndrome) เป็นโรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีติ่งเนื้อในท้องหรือลำไส้ หรือจุดหรือติ่งสีบนผิวหนังรวมถึงขี้แมลงวันบนใบหน้า ซึ่งอาจนำไปสู่การเป็นโรคมะเร็งได้ในอนาคต
  • โรคแพ้แสงแดด (Xeroderma Pigmentosum) หรืออาการผิวหนังไวต่อแสงมากผิดปกติ นับเป็นโรคทางพันธุกรรมอย่างหนึ่ง โดยผู้ป่วยจะมีผิวหนังไวต่อรังสีอัลตราไวโอเล็ตเป็นพิเศษ ทำให้มีกระหรือขี้แมลงวันจำนวนมากบนร่างกาย และเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

ขี้แมลงวัน กำจัดได้ด้วยวิธีไหนบ้าง

โดยปกติ ขี้แมลงวันไม่เป็นอันตรายหรือส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่หากต้องการกำจัดทิ้งหรือทำให้สีของขี้แมลงวันดูจางลง อาจทำได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • บำบัดด้วยความเย็น (Cryotherapy) หรือป้ายขี้แมลงวันด้วยไนโตรเจนเหลว เพื่อกำจัดเม็ดสีผิวส่วนเกินและทำให้ขี้แมลงวันดูจางลงเมื่อผิวหนังฟื้นฟูจนหายดีแล้ว
  • ฉายแสงเลเซอร์ เป็นการใช้เลเซอร์เพื่อกำจัดเซลล์เมลาโนไซท์ แต่หลังทำจะมีแผล ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผิวหนังจึงจะกลับมาปกติ

วิธีป้องกันผิวหนังไม่ให้มีขี้แมลงวัน อาจลองปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งในช่วงที่แดดแรง หรือระหว่าง 10.00 -14.00 น.
  • ทาครีมกันแดดทุกครั้งก่อนออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันผิวหนังถูกทำลายจากรังสีอัลตราไวโอเลต โดยครีมกันแดดที่ใช้ควรมีค่า SPF 50 ขึ้นไปและควรทาครีมซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง เพื่อปกป้องผิวหนังได้ดียิ่งขึ้น
  • สวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว รวมถึงหมวกปีกกว้างหรือแว่นตากันแดด เพื่อปกป้องผิวหนังจากรังสีอัลตราไวโอเลต`

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา