ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดฝีที่ตูด มีดังนี้
- โรคโครห์น (Crohn’s Disease)
- โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง (Ulcerative colitis)
- โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ (Diverticulitis)
- โรคเบาหวาน
- โรคกระดูกอุ้งเชิงกรานอักเสบ
- การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
- การใช้ยาบางชนิด เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone)
การวินิจฉัยเมื่อเป็นฝีที่ตูด
คุณหมอมักวินิจฉัยอาการฝีที่ตูดด้วยการตรวจทางทวารหนัก (Digital Rectal Examination) โดยคุณหมอจะสวมถุงมือที่เคลือบสารหล่อลื่นแล้วสอดนิ้วเข้าไปในทวารหนัก เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น พร้อมซักถามเกี่ยวกับระยะเวลาที่เป็นฝี ความเจ็บปวดบริเวณที่เป็นฝี หรืออาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น โดยอาจมีการเก็บตัวอย่างหนองจากฝีไปส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาชนิดของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฝี ซึ่งจะช่วยให้คุณหมอสามารถวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม
หากมีฝีมากกว่า 1 จุดบนร่างกาย และเป็นซ้ำบ่อย ๆ คุณหมออาจจะขอตรวจเลือดเพื่อตรวจดูว่าเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้มีความเสี่ยงในการเกิดฝีที่ผิวหนังบริเวณอื่น ๆ สูง ในบางกรณีอาจต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อคัดกรองโรคอื่น ๆ บริเวณทวารหนัก เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคลำไส้อักเสบ โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ (Diverticulitis) มะเร็งลำไส้ตรง (Rectal cancer)
การรักษาฝีที่ตูด ทำอย่างไรได้บ้าง
การรักษาฝีที่ตูด อาจทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
การกรีดและระบายหนองออก
หากฝีที่ตูดมีหนองคั่งอยู่ภายในและจำเป็นต้องกรีดออกก่อนฝีจะแตก คุณหมออาจจะใช้ยาชาเฉพาะที่ฉีดบริเวณผิวหนังและกรีดฝีเพื่อระบายหนองออก และทำความสะอาดแผลด้วยยาฆ่าเชื้อ และน้ำเกลือปลอดเชื้อแล้วปิดด้วยผ้าพันแผล โดยไม่เย็บปิดแผล เพื่อให้สังเกตอาการได้สะดวก และระบายหนองที่เกิดขึ้นใหม่ได้ง่าย แต่หากฝีลึกมากคุณหมอจะยัดผ้าพันแผลไว้ที่บริเวณปากแผลเพื่อป้องกันแผลปิด สำหรับผู้ที่มีสุขภาพดีคุณหมออาจสั่งจ่ายยาแก้ปวดให้ใช้ แต่หากมีปัญหาสุขภาพบางกรณี เช่น โรคเบาหวาน ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ คุณหมออาจสั่งยาปฏิชีวนะให้เพิ่มเติม
การระบายหนองและของเหลวออกทางผิวหนัง
สำหรับฝีที่อยู่ลึกกว่าชั้นผิวหนัง เช่น ฝีที่อวัยวะภายใน แต่พิจารณาแล้วว่าสามารถระบายผ่านผิวหนังโดยการเจาะได้ คุณหมออาจระบายหนองออกด้วยการใช้เข็มเจาะเข้าไปในผิวหนังเพื่อระบายหนองที่คั่งอยู่ภายใน เริ่มจากการหาตำแหน่งของฝีด้วยเครื่องอัลตราซาวด์หรือเครื่องซีทีสแกน ก่อนจะใช้เข็มเจาะผิวหนังแล้วสอดท่อพลาสติกบาง ๆ ที่เรียกว่าสายระบายของเหลวผ่านทางผิวหนัง (Catheter Drainage) เพื่อถ่ายหนองและของเหลวออกมานอกร่างกาย
การผ่าตัดนำฝีออก
ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีข้างต้นไม่ได้ เช่น ฝีใหญ่เกินไปจนใช้เข็มเจาะไม่ได้ เข็มไม่สามารถเจาะเข้าไปถึงชั้นผิวหนังบริเวณที่มีฝีได้อย่างปลอดภัยและไม่กระทบกับผิวหนังโดยรอบ รักษาด้วยการระบายหนองออกแล้วไม่สามารถนำฝีหนองออกได้หมด คุณหมออาจต้องรักษาฝีที่ตูดด้วยการผ่าตัดนำฝีออก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของฝีด้วย
วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกัน ฝีที่ตูด
วิธีป้องกันและดูแลฝีที่ตูดและฝีตามร่างกาย อาจทำได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการบีบฝีเอง เพราะอาจทำให้แผลอักเสบมากขึ้น และแบคทีเรียอาจแพร่กระจายไปยังผิวหนังส่วนอื่นได้
- ควรรักษาฝีที่ตูดให้หายสนิทก่อน จึงไปใช้อุปกรณ์ส่วนกลางร่วมกับผู้อื่น เช่น เครื่องออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ
- หลังใช้ทิชชู่เช็ดหนองออกจากฝี ควรทิ้งทิชชู่ใส่ถุงหรือห่อกระดาษอีกชั้นให้มิดชิดแล้วค่อยทิ้งถังขยะ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย และควรล้างมือให้สะอาดหลังจากทิ้งทิชชู่แล้ว
- ระมัดระวังในการโกนขนบริเวณใบหน้า ขา บริเวณใต้วงแขน หรือบริเวบขอบชุดชั้นใน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวหนังระคายเคือง หรือเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย และจะทำให้เกิดฝีตามมา
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย