backup og meta

ยาฮอร์โมนรักษาสิว ทำงานอย่างไร

ยาฮอร์โมนรักษาสิว ทำงานอย่างไร

ยาฮอร์โมนรักษาสิว คือยาที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน หนึ่งในปัจจัยที่อาจกระตุ้นการเกิดสิว โดยอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ สารยับยั้งการสังเคราะห์แอนโดรเจน กับ สารต้านการทำงานของตัวรับแอนโดรเจน ซึ่งแต่ละชนิดก็อาจมีจุดประสงค์ในการใช้และผลข้างเคียงที่ต่างกัน ดังนั้น จึงควรศึกษาการทำงานของยาฮอร์โมนรักษาสิว และปรึกษาคุณหมอทุกครั้งก่อนเลือกใช้ยาใด ๆ

[embed-health-tool-bmi]

ยาฮอร์โมนรักษาสิว ทำงานอย่างไร

มีหลักฐานจำนวนมากที่บ่งชี้ว่าฮอร์โมนเพศมีบทบาทในการกระตุ้นให้เกิดสิว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่มีฮอร์โมนเพศชายหรือแอนโดรเจนเกิน แอนโดรเจนจะกระตุ้นต่อมไขมันในผิวหนังให้ผลิตไขมัน และทำให้เกิดการอุดตันรูขุมขนจึงเกิดสิวอุดตันและเกิดการอักเสบตามมา การที่สิวตอบสนองต่อยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานและกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชายเป็นหลักฐานที่สำคัญในทางคลินิกที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของฮอร์โมนในการรักษาสิว นอกจากนี้ยังพบว่า ฮอร์โมนยังมีประสิทธิภาพสูงในการรักษาสิวในผู้หญิงแม้จะมีระดับแอนโดรเจนปกติ 

หลักในการพิจารณาการใช้ยาฮอร์โมนรักษาสิว

โดยทั่วไปพิจารณาใช้ในผู้ป่วยกลุ่มต่อไปนี้ ได้แก่ ผู้ที่มีฮอร์โมนเพศชายเกิน ผู้ที่เป็นสิวในช่วงอายุมากกว่า 25 ปี หรือที่เรียกว่าสิววัยผู้ใหญ่ มีการกระจายของสิวเด่นบริเวณกราม สิวที่มาพร้อมกับการมีประจำเดือน สิวอุดตันที่มีภาวะต่อมไขมันทำงานเกินร่วมด้วยและสิวที่ดื้อต่อการรักษาแบบดั้งเดิม หรือการรักษาแบบดั้งเดิมใช้ไม่ได้ผล เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรมีการวางแผนครอบครัวก่อนที่จะเริ่มการรักษาด้วยฮอร์โมนเสมอ เนื่องจากผู้ป่วยจะต้องรับประทานฮอร์โมนเป็นระยะเวลาติดต่อกันค่อนข้างนาน อย่างน้อย 3 ถึง 6 เดือนจึงจะเห็นผลการรักษา ซึ่งจะมีผลให้มีการเว้นระยะของการมีบุตร และควรมีการประเมินเกี่ยวกับโรคของต่อมไร้ท่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ป่วยสิวมีอาการที่ส่อว่ามีระดับฮอร์โมนเพศชายสูงร่วมด้วย เช่น ขนดกและเกิดผิดที่ มีภาวะผมบางตามกรรมพันธุ์ มีลักษณะเพศชายเด่น มีภาวะอ้วนลงพุง ประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ เป็นหมัน เป็นสิวรุนแรงฉับพลัน หรือเป็นสิวที่ไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษาแบบดั้งเดิม เป็นต้น

ประเภทของฮอร์โมนรักษาสิว

ฮอร์โมนที่ใช้ในการรักษาสิวสามารถแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ

1. สารยับยั้งการสังเคราะห์แอนโดรเจน

สารยับยั้งการสังเคราะห์แอนโดรเจน ได้แก่ อนุพันธุ์ของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ข้อควรพิจารณาด้านความปลอดภัยที่สำคัญที่สุดในการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน คือ โอกาสในการเกิดการอุดตันของหลอดเลือด ส่วนผลข้างเคียงที่พบบ่อยอื่นๆ ได้แก่ อาการปวดศีรษะ ความผิดปกติของรอบประจำเดือน น้ำหนักขึ้น และการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ นอกจากนี้ ยังมีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน คือ อาการซึมเศร้า การเกิดถุงน้ำในรังไข่ และ มะเร็งเต้านม จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงก่อนเริ่มใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานในการรักษาสิวเสมอ

2. สารต้านการทำงานของตัวรับแอนโดรเจน

โดยยาในกลุ่มนี้ที่นิยมใช้บ่อยที่สุดทางคลินิก คือ สไปโรโนแลกโตน (Spironolactone) ผลข้างเคียงที่สำคัญของสไปโรโนแลกโตน คือ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ กดเจ็บบริเวณเต้านม ซึ่งผลข้างเคียงเหล่านี้มักจะลดลงเมื่อใช้ร่วมกับยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังคือ อาจทำให้มีโพแทสเซียมสูงซึ่งจะต้องคอยติดตามและตรวจสอบเป็นระยะและความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติแต่กำเนิดในทารกเพศชาย ด้วยเหตุนี้จึงควรใช้ยาคุมกำเนิดร่วมกับยาสไปโรโนแลกโตน เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์เสมอ และการใช้ยานี้ควรอยู่ในการกำกับดูแลของแพทย์

แนวทางการพิจารณาใช้ยาฮอร์โมนรักษาสิว

การใช้ยาปฏิชีวนะ ฮอร์โมน และอนุพันธ์กรดวิตามินเอ ถือเป็นแนวทางหลักของการรักษาสิวที่มีความรุนแรงระดับปานกลางถึงรุนแรงในผู้หญิง การพิจารณาว่าจะเริ่มรักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะหรือฮอร์โมนนั้นขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ประวัติการล้มเหลวหรือตอบสนองต่อการรักษาคราวก่อนๆ ความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงจากยา การมีภาวะแอนโดรเจนเกิน รวมทั้ง ความต้องการที่จะคุมกำเนิดของผู้ป่วย เป็นต้น ดังนั้น ก่อนเริ่มการรักษาสิวด้วยยาฮอร์โมนจึงควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพสูงสุด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Anti-Androgen Therapy in Female Adult Acne. https://clinmedjournals.org/articles/ijdrt/journal-of-dermatology-research-and-therapy-ijdrt-2-023.pdf. Accessed March 10, 2022.

Hormonal treatment of acne vulgaris: an update. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5015761/. Accessed March 10, 2022.

STUBBORN ACNE? HORMONAL THERAPY MAY HELP. https://www.aad.org/public/diseases/acne/derm-treat/hormonal-therapy. Accessed March 10, 2022.

Acne. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acne/symptoms-causes/syc-20368047#:~:text=Acne%20is%20a%20skin%20condition,but%20acne%20can%20be%20persistent.. Accessed March 10, 2022.

Acne. https://www.nhs.uk/conditions/acne/. Accessed March 10, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/03/2022

เขียนโดย ดร.พญ. ชนิศา เกียรติสุระยานนท์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ช็อกโกแลต กินแล้วเป็นสิว จริงหรือ

สิวที่คาง สาเหตุ การรักษา และการป้องกัน


เขียนโดย

ดร.พญ. ชนิศา เกียรติสุระยานนท์

โรคผิวหนัง · สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข


แก้ไขล่าสุด 11/03/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา