backup og meta

รักษาสิว ทำอย่างไรได้บ้าง

รักษาสิว ทำอย่างไรได้บ้าง

สิวเป็นภาวะทางผิวหนังที่เกิดจากสิ่งสกปรกอุดตันรูขุมขน อาจเกิดขึ้นแบบเรื้อรัง หรือทำให้เกิดแผลเป็น และอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจและความรู้สึก การรักษาสิวตั้งแต่เริ่มต้นอาจช่วยลดปัญหาผิวที่เกิดจากสิว เช่น แผลเป็น รอยแดง และป้องกันความรุนแรงของสิวได้ ทั้งนี้ ไม่ควรปล่อยให้เกิดสิวอักเสบรุนแรง เพราะอาจทำให้ต้องใช้กระบวนการและระยะเวลา รักษาสิว เพิ่มขึ้น

[embed-health-tool-ovulation]

สิว คืออะไร

สิว คือ ภาวะทางผิวหนังที่เกิดขึ้นจากสิ่งสกปรก น้ำมัน แบคทีเรีย และเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วเข้าไปอุดตันของรูขุมขน ทำให้เกิดสิว ทั้งชนิดไม่อักเสบ เช่น สิวหัวขาว สิวหัวดำ สิวเสี้ยน และสิวอักเสบ มีตุ่มหนอง ผิวโดยรอบเป็นสีแดง และอาจมีอาการเจ็บปวด สิวสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่มักพบบ่อยในวัยรุ่นและวัยกลางคน โดยเฉพาะผู้หญิงที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง เช่น ช่วงประจำเดือน ช่วงตั้งครรภ์ มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ

สิวสามารถเกิดขึ้นแบบเรื้อรังและอาจกลายเป็นแผลเป็นได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสิว การรักษาสิวที่ถูกวิธีตั้งแต่เกิดสิวเนิ่น ๆ จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสิวรุนแรงได้

วิธีการรักษาสิวที่นิยมใช้

การรักษาสิวมีเป้าหมายเพื่อควบคุมการเกิดสิว ป้องกันการเกิดแผล หรือปัญหาผิวอื่น ๆ และทำให้รอยแผลนูนดูจางลง วิธีการรักษาสิวที่นิยมใช้ เช่น การใช้ยารักษาสิว ซึ่งยารักษาสิวจะเข้าไปรักษาต้นเหตุของสิว ลดการผลิตน้ำมัน ลดอาการบวม และรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย อย่างไรก็ตาม  วิธีและระยะเวลาในการรักษาสิวอาจขึ้นอยู่กับอายุ และความรุนแรงของสิวด้วย

ยาที่นิยมใช้รักษาสิว มีดังนี้

ยารักษาเฉพาะที่

ยาฆ่าเชื้อเพื่อลดจำนวนแบคทีเรียบนผิวหนัง ช่วยลดจำนวนสิวหัวขาวและสิวหัวดำ และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ควรทาในปริมาณพอเหมาะวันละ  2 ครั้ง หลังทำความสะอาดผิว 20 นาที

ผลข้างเคียง : ผิวไวต่อแสงมากขึ้น ผิวแห้งตึง แสบร้อน คัน รอยแดง ผิวหนังลอก

  • เรตินอยด์และยาคล้ายเรตินอยด์

มักใช้รักษาสิวในระดับปานกลาง เป็นยาที่มีกรดเรติโนอิก (Retinoic acids) หรือเทรติโนอิน (Tretinoin) ช่วยป้องกันการอุดตันในรูขุมขน มีลักษณะเป็นครีม เจล และโลชั่น สามารถใช้ยาชนิดนี้ในตอนเย็น โดยทาสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จากนั้นทาทุกวันเมื่อผิวเริ่มปรับสภาพได้

ผลข้างเคียง : อาจทำให้ผิวไวต่อแสง ผิวแห้งและแดง โดยเฉพาะในผู้ที่มีผิวสีเข้ม

  • ยาปฏิชีวนะ

ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง ลดรอยแดง และลดการอักเสบ ในช่วง 2-3 เดือนแรก คุณหมออาจให้ใช้เรตินอยด์ร่วมกับยาปฏิชีวนะ โดยทายาปฏิชีวนะในตอนเช้าและทาเรตินอยด์ในตอนเย็น นอกจากนี้ คุณหมอมักให้ใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide) เพื่อลดการดื้อยาปฏิชีวนะ

ผลข้างเคียง : ระคายเคืองผิวหนังเล็กน้อย มีรอยแดงและรอยไหม้บนผิวหนัง ผิวหนังลอก

  • กรดอะเซลาอิก (Azelaic acid)

ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียสาเหตุของการเกิดสิว และช่วยปรับสภาพสีผิวที่อาจเปลี่ยนแปลงในขณะเกิดสิว โดยคุณหมออาจสั่งยาที่มีกรดอะเซลาอิกให้ใช้รักษาสิวระหว่างตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร

ผลข้างเคียง : ผิวหนังแดง และอาจระคายเคืองผิวหนังเล็กน้อย

  • กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid)

ใช้เพื่อช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่า กระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ และช่วยช่วยป้องกันรูขุมขนอุดตัน

ผลข้างเคียง : สีผิวเปลี่ยนแปลง และอาจระคายเคืองผิวหนังเล็กน้อย

  • แดพโซน (Dapsone)

เหมาะสำหรับสิวอักเสบโดยเฉพาะผู้หญิง แนะนำให้ทาวันละสองครั้ง

ผลข้างเคียง : ผิวแดง และผิวแห้งกร้าน

ยารับประทาน

  • ยาปฏิชีวนะ

เช่น เตตราไซคลีน (Tetracycline) แมคโคไลด์ (Macrolide) เป็นยารับประทาน มักใช้รักษาสิวระดับปานกลางถึงรุนแรง ช่วยลดแบคทีเรียโดยยาแมคโคไลด์เป็นยาทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่สามารถรับประทานยาเตตราไซคลีนได้ สำหรับสตรีมีครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี คุณหมออาจให้ใช้ยาร่วมกับเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ เพื่อลดการดื้อยาปฏิชีวนะ

ผลข้างเคียง : อาจทำให้ผิวไวต่อแสง

  • ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม

เป็นยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินและฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่อาจต้องใช้เวลารักษานาน

ผลข้างเคียง : น้ำหนักอาจเพิ่มขึ้น เจ็บหน้าอก และคลื่นไส้ อาจเพิ่มความเสี่ยงปัญหาหัวใจและหลอดเลือด มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก

  • แอนตี้แอนโดรเจน (Anti-androgen agents)

ช่วยป้องกันผลกระทบจากฮอร์โมนแอนโดรเจนต่อต่อมที่ผลิตน้ำมัน เป็นยาทางเลือกสำหรับผู้หญิงและเด็กหญิงวัยรุ่นหากรักษาด้วยยารับประทานปฏิชีวนะไม่ได้ผล

ผลข้างเคียง : อาจรรู้สึกเจ็บปวดเต้านม

ยากลุ่มอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ เป็นยาทางเลือก มักใช้ในผู้ที่มีสิวปานกลางหรือรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบอื่น ๆ

ผลข้างเคียง : อาจทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบ ภาวะซึมเศร้า

รักษาสิว โดยไม่ใช้ยา

การรักษาสิวด้วยวิธีดังต่อไปนี้อาจได้ผลดีกับบางคน หรืออาจต้องใช้ร่วมกับการรักษาด้วยยา

  • การรักษาด้วยแสง เป็นการฉายแสงลงบนผิวหนังเพื่อทำให้อาการของสิวดีขึ้น ทั้งนี้ แสงที่ใช้รักษาสิวอาจมีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคุณหมอ
  • การลอกผิวด้วยสารเคมี มักใช้รักษาในผู้ที่มีสิวรุนแรง โดยคุณหมอจะใช้กรด เช่น กรดซาลิไซลิก กรดไกลโคลิก กรดเรติโนอิก ในการลอกเซลล์ผิวเก่าออก เพื่อให้เซลล์ผิวใหม่ขึ้นมาแทนที่ การรักษาสิวด้วยวิธีนี้อาจต้องทำหลายครั้ง
  • การกดสิว คุณหมออาจใช้เครื่องมือกดสิวเพื่อกำจัดสิวหัวขาว สิวหัวดำ หรือซีสต์ ที่ไม่ได้รักษาด้วยยา วิธีนี้อาจช่วยกำจัดสิ่งอุดตันได้เพียงชั่วคราว และอาจทำให้เกิดแผลเป็นได้
  • ฉีดสเตียรอยด์ มักใช้รักษาสิวอักเสบ เพื่อช่วยให้สิวยุบตัวลงอย่างรวดเร็วและลดอาการเจ็บปวด แต่อาจเกิดผลข้างเคียง เช่น ทำให้ผิวหนังบาง ผิวบริเวณที่รักษาเปลี่ยนสี

วิธีรับมือกับสิวด้วยตัวเอง

นอกจากการรักษาสิวแล้ว วิธีเหล่านี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดสิวใหม่ และช่วยบรรเทาอาการของสิวได้

  • ทำความสะอาดผิวอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อขจัดเหงื่อ น้ำมัน และสิ่งสกปรกออกจากผิวหนัง
  • ไม่ควรขัดผิวบ่อยครั้งหรือรุนแรงเกินไป โดยเฉพาะบริเวณที่ผิวบอบบาง เพราะอาจทำให้ระคายเคืองและเกิดสิวได้
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าหรือแกะเกาบริเวณที่เป็นสิว เพราะอาจทำให้ติดเชื้อ เป็นแผลเป็น และอาจทำให้สิวรุนแรงขึ้น
  • ทำความสะอาดอุปกรณ์ต่าง ๆ หรือของใช้ส่วนตัวที่สัมผัสผิว เช่น ปลอกหมอน หมวก ผ้าเช็ดตัว เพราะอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียและสิ่งสกปรกอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดสิว
  • พักหน้าและใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวเพียงอย่างเดียว เพราะการใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวหลายชนิดรวมกัน หรือเปลี่ยนผลิตภัณฑ์บ่อยครั้งอาจทำให้ผิวหน้าระคายเคืองได้ จึงควรใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวเพียงชนิดเดียว หรือใช้ยาตามคำแนะนำของคุณหมอประมาณ 4-6 เดือน เพื่อให้ได้ผลในการรักษามากที่สุด
  • เพิ่มการรักษา หากใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวมานาน 4-6 เดือนแล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้น ควรเพิ่มผลิตภัณฑ์รักษาสิวชนิดที่สอง เช่น หากใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวที่มีส่วนประกอบของเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide) ผลิตภัณฑ์ตัวที่สองอาจเลือกที่มีส่วนประกอบของเรตินอยด์ (Retinoids) หรือกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) เพื่อช่วยลดอาการอักเสบ ขจัดสิ่งสกปรกและลดความมัน
  • หากสิวรุนแรงขึ้นควรเข้ารับการรักษาทันที เพื่อวินิจฉัยอาการ สาเหตุและระดับความรุนแรงของสิว จะได้รักษาได้อย่างเหมาะสม

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Treatment – Acne. https://www.nhs.uk/conditions/acne/treatment/. Accessed October 6, 2021

Acne – Treatment. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acne/diagnosis-treatment/drc-20368048. Accessed October 6, 2021

Acne. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acne/symptoms-causes/syc-20368047. Accessed October 6, 2021

Understanding Acne Treatment. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/acne/understanding-acne-treatment. Accessed October 6, 2021

10 THINGS TO TRY WHEN ACNE WON’T CLEAR. https://www.aad.org/public/diseases/acne/DIY/wont-clear. Accessed October 6, 2021

HOW TO TREAT DIFFERENT TYPES OF ACNE. https://www.aad.org/public/diseases/acne/diy/types-breakouts. Accessed October 6, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

17/06/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ที่กดสิว ใช้กับสิวประเภทไหน และการรักษาสิวที่ถูกต้อง

วิตามินลดสิว ช่วยได้จริงไหม อยู่ในอาหารชนิดใดบ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 17/06/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา