backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

วิธีรักษาสิวผด และการป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/05/2022

วิธีรักษาสิวผด และการป้องกัน

สิวผด เป็นภาวะทางผิวหนังที่เกิดจากอาการแพ้ ส่งผลทำให้เกิดอาการผิวแดง มีตุ่มแดงเล็ก ๆ จำนวนมากกระจายบริเวณผิวหนัง ผู้ที่เป็นสิวผด มักเป็นผู้ที่มีผิวบอบบาง แพ้ง่าย สัมผัสสิ่งสกปรก อากาศร้อน มีเหงื่อออกมากจนเกิดการอุดตันหรือรูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา ทั้งนี้ ควรศึกษาถึงวิธีรักษาและป้องกันสิวผดไม่ให้เกิดขึ้น เพื่อผิวเรียบเนียน สุขภาพดี

สิวผด คืออะไร

สิวผด คือ สิวอุดตัน (Comedonel) ชนิดหนึ่งที่อาจเกิดจากอาการแพ้ ซึ่งจะไม่เหมือนกับสิวทั่วไปตรงที่ไม่มีหัว โดยสิวผดอาจเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในผู้ที่มีผิวบอบบางแพ้ง่าย หรือผู้ที่สัมผัสกับสิ่งสกปรก สารเคมี มลภาวะและความร้อน นอกจากนี้ สิวผดยังอาจเกิดจากรูขุมขนอักเสบจากเชื้อรากลุ่มมาลาสซีเซีย (Malassezia ) ส่งผลทำให้เกิดตุ่มแดงเล็ก ๆ กระจายบริเวณผิวหนัง โดยเฉพาะขมับ หน้าผาก และรอบดวงตา

วิธีรักษาสิวผด

สิวผดอาจรักษาได้หลายวิธี โดยจะขึ้นอยู่กับอาการและการพิจารณาของคุณหมอ ดังนี้

ยาเฉพาะที่

  • เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ดูดซับและขจัดน้ำมันส่วนเกินบนผิว อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผิวแห้ง ลอก ตกสะเก็ด ผิวแดง ระคายเคือง คัน ปวดแสบ
  • เรตินอยด์ (Retinoids) และยาคล้ายเรตินอยด์ ประกอบด้วยกรดเรติโนอิก (Retinoic Acid) หรือเทรติโนอิน (Tretinoin) ได้แก่ ทาซาโรทีน (Tazarotene) อะดาปาลีน (Adapalene) ช่วยเร่งการสร้างเซลล์ผิวใหม่และสร้างคอลลาเจน อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผิวไวต่อแสง ผิวแห้ง ผิวแดง
  • กรดอะเซลาอิก (Azelaic Acid) ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดสิว ผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรสามารถใช้ได้ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการแดงที่ผิวหนัง ระคายเคืองผิวหนังเล็กน้อย
  • กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ช่วยป้องกันรูขุมขนอุดตัน อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น สีผิวเปลี่ยนแปลง ระคายเคืองผิวหนังเล็กน้อย
  • แอนไฮดรัส ลาโนลิน (Anhydrous Lanolin) ช่วยป้องกันต่อมเหงื่ออุดตัน และหยุดการเกิดแผลใหม่ ทั้งยังช่วยรักษาความชุ่มชื้น ปกป้องผิวจากอากาศแห้ง มลภาวะและแสงแดด ไม่ทำให้เกิดอาการแพ้และระคายเคืองผิว
  • ยาปฏิชีวนะ ได้แก่ คลินดามัยซิน (Clindamycin) อีรีโทรมัยซิน (Erythromycin) ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียส่วนเกินที่ผิวหนัง ลดรอยแดงและการอักเสบ แนะนำให้ใช้ร่วมกับเรตินอยด์หรือเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์เพื่อลดโอกาสการดื้อยา
  • ยาต้านเชื้อรา ใช้รักษารูขุมขนอักเสบจากเชื้อรากลุ่มมาลาสซีเซีย เช่น คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ครีมไมโคนาโซล (Miconazole) ครีมอีโคนาโซล (Econazole) ครีมโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ซีลีเนียม ซัลไฟต์ (Selenium Sulfide) ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ผิวลอก ระคายเคืองผิว
  • สเตียรอยด์เฉพาะที่ ใช้ในกรณีที่สิวผดลุกลามและรุนแรง ใช้ระยะสั้นๆ ช่วงแรก ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มีอาการคัน ตุ่มหนองอักเสบ ติดเชื้อแบคทีเรีย

ยารับประทาน

  • ยาปฏิชีวนะ สำหรับรักษาสิวระดับปานกลางถึงรุนแรง ได้แก่ เตตราไซคลีน (Tetracycline) แมคโคไลด์ (Macrolide) สามารถช่วยลดแบคทีเรีย อาจมีผลข้างเคียงทำให้ผิวไวต่อแสง ควรใช้ร่วมกับยาอื่น ๆ เช่น เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ เพื่อลดโอกาสดื้อยา
  • ยาคุมกำเนิด อาจใช้ร่วมกับสไปโรโนแล็กโตน (Spironolactone) ซึ่งเป็นยาต้านแอนโดรเจน ช่วยควบคุมการผลิตไขมัน อาจมีผลข้างเคียง เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น คัดตึงหน้าอก คลื่นไส้
  • สารต่อต้านแอนโดรเจน (Anti-Androgen) ช่วยปิดกั้นผลกระทบของฮอร์โมนแอนโดรเจนที่มีผลต่อต่อมที่ผลิตน้ำมัน อาจมีผลข้างเคียง เช่น คัดตึงเต้านม ปวดประจำเดือน
  • ไอโซเทรติโนอิน (Isotretinoin) ยากลุ่มอนุพันธ์กรดวิตามินเอ สำหรับรักษาสิวระดับปานกลางถึงรุนแรงมาก มักใช้รักษาในผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบอื่น อาจมีผลข้างเคียง เช่น โรคลำไส้อักเสบ ภาวะซึมเศร้า มีผลต่อทารกในครรภ์
  • ยาต้านเชื้อรา ใช้รักษารูขุมขนอักเสบจากเชื้อรากลุ่มมาลาสซีเซีย เช่น คีโตนาโซล ฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ไอทรานาโซล (Itraconazole) ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ อาจมีผลทำลายตับ กดการทำงานของต่อมหมวกไต อาจส่งผลเสียต่อสมดุลน้ำและเกลือแร่ ดังนั้น ก่อนใช้ยาจึงควรปรึกษาคุณหมอ

วิธีป้องกันสิวผด

สำหรับป้องกันปัญหาสิวผดไม่ให้เกิดขึ้นอาจทำได้ดังนี้

  • ล้างบริเวณที่มีสิวผดด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสูตรอ่อนโยน วันละ 2 ครั้ง และล้างออกด้วยน้ำอุ่น นอกจากนี้ ควรสระผมบ่อยครั้งเมื่อมีความมันสะสมมาก เพื่อลดการอุดตันของไขมันและสิ่งสกปรกที่ก่อให้เกิดสิว
  • อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันทีหลังจากกลับมาจากข้างนอก หลังจากเล่นกีฬาหรือกิจกรรมที่เหงื่อออกมาก เพื่อขจัดไขมันและเหงื่อส่วนเกินไม่ให้เกิดการสะสมของสิ่งสกปรกที่อาจก่อให้เกิดสิวผด
  • สวมเสื้อผ้าหลวม น้ำหนักเบา ระบายอากาศ และช่วยดูดซับความชื้นออกจากผิว หลีกเลี่ยงการใส่ผ้าคาดผมหรือหมวกปิดผิวเมื่อมีเหงื่อออก เพื่อป้องกันความอับชื้นสะสมที่อาจก่อให้เกิดสิวผด
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์บางชนิด เช่น สครับขัดผิว ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม ที่อาจก่อให้เกิดความระคายเคืองผิวและทำให้สิวแย่ลง
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติช่วยขจัดน้ำมันส่วนเกิน กระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวใหม่ เช่น เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ กรดซาลิไซลิก กรดไกลโคลิก กรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha Hydroxy Acids)
  • ปกป้องผิวจากแสงแดด ด้วยการทาครีมกันแดด SPF 50 ขึ้นไปเป็นประจำทุกวัน ใส่หมวกปีกกว้างหรือแว่นกันแดด เพื่อป้องกันรังสียูวีในแสงแดดที่ทำร้ายผิวและเป็นสาเหตุของการเกิดสิว
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารจำพวกไขมัน ผลิตภัณฑ์จากนม หรือน้ำตาลมากเกินไป เพราะอาจทำให้รูขุมขนอักเสบได้ในผู้ป่วยบางราย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ครีมหรือขี้ผึ้งที่มีส่วนผสมของน้ำมันหรือปิโตรเลียมเจล เพราะอาจอุดตันรูขุมขนได้
  • หลีกเลี่ยงการเสียดสี กดหรือเกาผิว เช่น โทรศัพท์ หมวกกันน็อก สายรัด เป้สะพายหลัง ที่อาจทำให้เกิดการระคายเคือง อับชื้น หรือปนเปื้อนสิ่งสกปรกที่ก่อให้เกิดสิว
  • หากสิวผดมีอาการรุนแรง ให้รีบเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจดูอาการ และควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ใช้ยารักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา