วิธีรักษาสิวด้วยยารับประทาน
ยาปฏิชีวนะแบบรับประทานอาจช่วยลดแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว เหมาะสำหรับรักษาสิวในระดับปานกลางถึงรุนแรง ยาปฏิชีวนะสำหรับรับประทาน ได้แก่ เตตราไซคลีน (Tetracycline) แมคโคไลด์ (Macrolide) โดยยาแมคโคไลด์อาจเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่สามารถรับประทานเตตราไซคลีนได้ ซึ่งอาจรวมถึงคุณแม่ตั้งครรภ์ และเด็กที่อายุต่ำกว่า 8 ปี การรักษาสิวด้วยยาปฏิชีวนะแบบรับประทาน ผู้ใช้อาจต้องรับประทานยาในระยะเวลาสั้นที่สุด และอาจต้องใช้ร่วมกับยาอื่น ๆ เช่น เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ เพื่อลดความเสี่ยงในการดื้อยาปฏิชีวนะ สำหรับยารับประทานที่ใช้รักษาสิว อาจมีดังนี้
- ยาคุมกำเนิดแบบผสม เป็นยาคุมที่มีส่วนผสมของโปรเจสติน (Progestin) และเอสโตรเจน (Estrogen) ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกอาจต้องรับประทานยาคุมกำเนิดแบบผสมร่วมกับวิธีการรักษาสิวแบบอื่น ๆ สำหรับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น คือ น้ำหนักเพิ่ม เจ็บหน้าอก คลื่นไส้ ทั้งยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก
- สารต่อต้านแอนโดรเจน คุณหมออาจสั่งจ่ายยาสไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) ให้กับผู้หญิงทั้งวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ โดยยาชนิดนี้อาจทำงานโดยการปิดกั้นผลกระทบของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่อาจส่งผลต่อต่อมไขมันซึ่งทำหน้าที่ผลิตน้ำมันบริเวณผิวหนัง
- ไอโซเทรติโนอิน (Isotretinoin) เป็นอนุพันธ์ของวิตามินเอ อาจเหมาะสำหรับผู้ที่มีสิวปานกลางหรือรุนแรง นอกจากนั้น ยังอาจเหมาะกับสิวที่ไม่ตอบสนองต่อวิธีการรักษาสิวแบบอื่น ๆ ผลข้างเคียงจากไอโซเทรติโนอิน เช่น โรคลำไส้อักเสบ ภาวะซึมเศร้า ดังนั้น ผู้ที่รับประทานยานี้อาจต้องไปพบคุณหมอเป็นประจำ เพื่อเฝ้าระวังผลข้างเคียง
วิธีรักษาสิวด้วยเลเซอร์และแสงบำบัด
วิธีรักษาสิวด้วยเลเซอร์และแสงบำบัดอาจมีด้วยกันหลายรูปแบบ ได้แก่ เลเซอร์พัลส์ดาย (Pulsed Dye Laser หรือ PDL) การบำบัดด้วยโฟโตไดนามิก ส่วนใหญ่อาจต้องไปรักษาหลายครั้ง แต่ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับปริมาณรังสี แหล่งกำเนิดแสง และวิธีการที่เหมาะสม
วิธีการดูแลตัวเอง
สำหรับวิธีการดูแลตัวเอง เพื่อควบคุมสิวระดับเบาถึงปานกลาง อาจทำได้ดังนี้
- ล้างหน้าวันละ 2 ครั้งด้วยสบู่อ่อน ๆ และน้ำอุ่น
- สระผมเป็นประจำทุกวันหากผมมัน เนื่องจากความมันและสิ่งสกปรกบนเส้นผม อาจเป็นสาเหตุของการเกิดสิว
- อาบน้ำทันทีหลังจากทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดเหงื่อหรือความมัน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณที่เป็นสิว เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อหรือรอยแผลเป็นได้
- พยายามปกป้องผิวจากแสงแดด ด้วยครีมกันแดด หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำให้เกิดสิว (Noncomedogenic) เนื่องจากยารักษาสิวบางชนิดอาจทำใหผิวไวต่อแสงแดด
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของน้ำมัน ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม อาจเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมหลักเป็นน้ำ หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำให้เกิดสิว เพราะอาจทำให้โอกาสในการเกิดสิวลดลง
- ลองใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวที่จำหน่ายทั่วไป เพื่อกำจัดน้ำมันส่วนเกิน และกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิว เช่นผลิตภัณฑ์ทีมีส่วนผสมของเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ กรดซาลิไซลิก กรดไกลโคลิก หรือกรดอัลฟาไฮดรอกซี ซึ่งอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาสิว
- หลีกเลี่ยงการใช้สครับขัดผิว มาสก์หน้า เพราะอาจทำให้ผิวเกิดการระคายเคือง และอาจทำให้สิวที่เป็นอยู่แย่ลงได้
- ปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์รักษาสิวที่ใช้อยู่ รวมถึงวิธีรักษาสิวที่เหมาะสม
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย