backup og meta

สิวหัวดำ อาการ สาเหตุ การรักษา

สิวหัวดำ อาการ สาเหตุ การรักษา

สิวหัวดำ เป็นสิวขนาดเล็ก เกิดจากรูขุมขนอุดตันด้วยน้ำมัน เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว และแบคทีเรีย รวมถึงการทำปฏิกิริยากับเมลานินหรือเม็ดสีที่เซลล์ผิวหนัง ทำให้เกิดการเปลี่ยนเป็นสีดำบนผิวหนัง และเป็นสิวหัวเปิดจึงเรียกว่า สิวหัวดำ สามารถพบได้บริเวณใบหน้า หลัง คอ แขน และไหล่ มักไม่มีอาการเจ็บ แต่ถ้าบีบหรือแกะสิวอาจทำให้เป็นรอยแผลได้

คำจำกัดความ

สิวหัวดำ คืออะไร

สิวหัวดำ คือ ประเภทของสิวอุดตันแบบหัวเปิด เกิดขึ้นเมื่อรูขุมขนอุดตันด้วยน้ำมัน เซลล์ผิวที่ตายแล้ว รวมถึงแบคทีเรียสะสม สาเหตุที่เรียกว่า สิวหัวดำ เพราะว่าการทำปฏิกิริยาออกซิเดชัน คือ การที่เมลานินหรือเม็ดสีผิวที่เซลล์ผิวหนังทำปฏิกริยากับออกซิเจน ทำให้เปลี่ยนสิ่งอุดตันกลายเป็นสีดำ 

สิวหัวดำพบได้บ่อยแค่ไหน 

บริเวณที่มักพบสิวหัวดำ ได้แก่ ใบหน้า หลัง คอ แขน และไหล่ เนื่องจาก เป็นบริเวณที่มีรูขุมขนมาก สามารถเป็นได้ทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะวัยรุ่น ที่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ซึ่งเป็นการกระตุ้นต่อมไขมันในร่างกายให้ผลิตซีบัมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้เกิดสิว

อาการ

อาการของสิวหัวดำ 

สิวหัวดำ มักไม่ค่อยมีอาการที่รุนแรงเหมือนสิวหัวหนอง หรือสิวประเภทอื่น แต่อาการที่แสดงให้เห็น คือ สิวมีลักษณะเป็นตุ่มนูนสีดำ สังเกตเห็นได้ง่ายบนผิวหนัง ไม่มีอาการเจ็บ เพราะสิวหัวดำไม่ใช่สิวอักเสบ

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด 

หากสิวหัวดำที่เป็นอยู่ไม่มีทีท่าว่าจะลดลงหรือหาย รวมถึงอาจมีเพิ่มขึ้น ควรไปปรึกษาคุณหมอเฉพาะทางด้านผิวหนัง เพื่อทำการรักษาอย่างตรงจุด 

สาเหตุ

สาเหตุของสิวหัวดำ

สิวหัวดำอาจเกิดจากสาเหตุหลายปัจจัย ดังต่อไปนี้ 

  • การอุดตันของน้ำมันและไขมันในรูขุมขน รวมถึงเซลล์ผิวที่ตายแล้ว
  • ต่อมไขมันในร่างกายผลิตน้ำมันมากเกินไป  
  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายในช่วงวัยรุ่น ผู้หญิงในช่วงมีประจำเดือน หรือผู้ที่รับประทานยาคุม
  • ผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ลิเทียม

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของสิวหัวดำ 

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดสิวหัวดำ เช่น 

  • การรับประทานอาหาร เช่น คาร์โบไฮเดรต ผลิตภัณฑ์จากนมอาจมีส่วนในการกระตุ้นให้เกิดสิวในผู้ป่วยบางราย
  • ความเครียด เนื่องจากฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดอาจสามารถกระตุ้นการผลิตไขมัน
  • ไม่ล้างเครื่องสำอางก่อนนอน อาจทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน 
  • หลังจากออกกำลังกายมีเหงื่อสะสม ทำให้เกิดการหมักหมมของเชื้อแบคทีเรียในเสื้อผ้า 

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในนี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยสิวหัวดำ 

ผู้ที่เป็นสิวหัวดำส่วนใหญ่มักไม่ค่อยไปพบคุณหมอ เว้นแต่สิวจะมีอาการรุนแรง จนทำให้ต้องไปพบคุณหมอ เพื่อวินิจฉัยรอยสิวจากลักษณะที่ปรากฏ 

การรักษาสิวหัวดำ 

วิธีการรักษาสิวหัวดำอาจมีหลายวิธี ดังต่อไปนี้ 

  • ยารักษาสิว ที่มีส่วนผสมอย่าง กรดซาลิไซลิก เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ และรีซอร์ซินอล โดยทำหน้าที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย กำจัดน้ำมันส่วนเกิน และผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว
  • ครีมและโลชั่นเรตินอยด์ เป็นสารที่ประกอบไปด้วยอนุพันธ์วิตามินเอ ที่อาจช่วยป้องกันไม่ให้รูขุมขนอุดตันและกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวใหม่
  • หลีกเลี่ยงการกดสิวหัวดำด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้ระคายเคืองผิวและอาจทำให้สิวแย่ลง การกดสิวควรให้คุณหมอเฉพาะทางด้านผิวหนังรักษา เพราะหากกดสิวออกไม่หมด อาจทำให้กลายเป็นสิวอักเสบและเกิดรอยแผลเป็นได้ 
  • การบำบัดด้วยแสงเลเซอร์ เพื่อลดการผลิตน้ำมันบนผิวหนัง และฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้บางส่วน โดยจะยิงเลเซอร์เข้าไปใต้ผิวหนัง โดยไม่ทำลายผิวชั้นนอกสุด 
  • การผลัดเซลล์ผิว วิธีการรักษานี้ควรให้คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังเป็นผู้รักษาเนื่องจากเป็นการใช้สารเคมีเข้มข้น เช่น กรดซาลิไซลิก (Salicylic) ไกลโคลิก (Glycolic) เรติโนอิก (Retinoic Acids) ทาลงไปที่ผิวหนัง  แล้วทิ้งไว้สักระยะ เพื่อให้ผิวหนังกำพร้าลอกออกเผยให้เห็นผิวที่เรียบเนียนขึ้น อย่างไรก็ตาม อาจทำให้เกิดรอยแดง ระคายเคืองได้  

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์บางอย่างและการดูแลตัวเองอาจช่วยป้องกันการเกิดสิวหัวดำได้ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า
  • อาบน้ำทันทีหลังจากออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ทำให้มีเหงื่อ เพราะแบคทีเรียที่เกิดจากเหงื่อที่สะสมในเสื้อผ้าอาจเป็นสาเหตุของการเกิดสิว
  • ลดอาหารจำพวกแป้ง ไขมัน และน้ำตาล เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดสิวอุดตันในผู้ป่วยบางราย
  • หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดด เพราะยารักษาสิวบางชนิดอาจทำให้ผิวไวต่อรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดดมากขึ้น หากจำเป็นต้องโดนแสงแดด หรือต้องอยู่กลางแดด อาจเลือกใช้ครีมกันแดดหรือการสวมเสื้อแขนยาว อย่างไรก็ตาม ควรเลือกครีมกันแดดที่เหมาะกับสภาพผิวของตนเองเพราะครีมกันแดดบางตัว กระตุ้นสิวได้
  • เปลี่ยนปลอกหมอนและผ้าปูที่นอนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียสะสม
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำมันและแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นสิวหัวดำ  
  • สระผมทุกวันหากมีผมมัน เพราะน้ำมันที่ผมอาจทำให้รูขุมขนอุดตันได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

How to Get Rid of Blackheads. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/acne/how-get-rid-blackheads. Accessed October 25, 2021 

Word! Blackhead. https://kidshealth.org/en/kids/word-blackhead.html. Accessed October 25, 2021 

SKIN CONDITIONS BY THE NUMBERS. https://www.aad.org/media/stats-numbers. Accessed October 25, 2021 

HOW TO TREAT DIFFERENT TYPES OF ACNE. https://www.aad.org/public/diseases/acne/diy/types-breakouts. Accessed October 25, 2021 

Comedonal acne. https://dermnetnz.org/topics/comedonal-acne. Accessed October 25, 2021 

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/04/2022

เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ที่กดสิว ใช้กับสิวประเภทไหน และการรักษาสิวที่ถูกต้อง

วิธีกำจัดสิวให้เร็วที่สุด ด้วยวิธีธรรมชาติ เพื่อหน้าสวยเนียนใส


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 30/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา