backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

หัวนมดำ กับสาเหตุใกล้ตัวที่ควรรู้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2024

หัวนมดำ กับสาเหตุใกล้ตัวที่ควรรู้

หัวนมดำ เป็นการเปลี่ยนแปลงของสีผิวรอบหัวนมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เกิดจากฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น มีประจำเดือน หรือตั้งครรภ์ ซึ่งสีหัวนมที่เข้มขึ้นไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่หากมีอาการปวด บวม แดง และหัวนมลอกเป็นขุยร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง ควรรีบเข้าพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยและรับการรักษา

หัวนมดำ เกิดจากอะไร

หน้าอกจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เริ่มตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ช่วงตั้งครรภ์ ช่วงให้นมบุตร ไปจนถึงช่วงวัยสูงอายุ การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่าง ๆ อาจส่งผลให้หัวนมมีสีคล้ำขึ้นได้ นอกจากนี้ โรคอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลทำให้หัวนมดำได้เช่นกัน ส่วนใหญ่สีของหัวนมที่เปลี่ยนแปลงไปไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่อาจเป็นสัญญาณของโรค โดยสาเหตุที่อาจทำให้หัวนมดำได้ อาจมีดังนี้

การเข้าสู่วัยหนุ่มสาว

เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยหนุ่มสาว หรือวัยเจริญพันธุ์ รังไข่จะเริ่มสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เพิ่มมากขึ้น ทำให้หน้าอกขยายตัว ส่งผลให้หัวนมยกตัวขึ้นและอาจมีสีเข้มขึ้นด้วย

ประจำเดือน

การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิงและการตกไข่ส่งผลให้เกิดประจำเดือน หรือรอบเดือน ซึ่งอาจทำให้ หน้าอกนิ่มขึ้น บวม ไวต่อความรู้สึก และสีหัวนมอาจคล้ำขึ้นด้วยเช่นกัน

ยาคุมกำเนิด

ยาคุมกำเนิดช่วยลดโอกาสในการตั้งครรภ์ มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเพศหญิง คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) การรับประทานยาคุมกำเนิดส่งผลให้ร่างกายเปลี่ยนแปลง และอาจทำให้บริเวณรอบหัวนมหรือปานนมมีสีน้ำตาล สีเทา หรือสีคล้ำขึ้น หากหยุดรับประทานยาคุมกำเนิดอาการหัวนมดำจะค่อย ๆ หายไป

การตั้งครรภ์

เมื่อตั้งครรภ์ ฮอร์โมนในร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไป โดยระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน และ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน จะเพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมผลิตน้ำนมแม่ ส่งผลให้เจ็บหน้าอก หน้าอกบวม และหัวนมมีสีเข้มขึ้น แต่อาการหัวนมดำอาจดีขึ้นหลังพ้นช่วงคลอดบุตรและให้นมบุตร

การให้นมบุตร

นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่า การมองเห็นของเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ สีหัวนมและปานนมที่เข้มขึ้นจึงเปรียบเสมือนตัวช่วยนำทางให้เด็กสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตน้ำนม ก็อาจส่งผลให้หัวนมดำขึ้นได้เช่นกัน

โรคมะเร็งหัวนม

โรคมะเร็งหัวนม (Paget’s disease of the nipple) เป็นมะเร็งชนิดหายาก ที่ทำให้ฐานหัวนม หรือปานนมมีลักษณะเหมือนผื่นผิวหนังอักเสบ หรือโรคสะเก็ดเงิน และสีคล้ำลง ซึ่งเป็นสัญญาณที่อาจพัฒนาเป็นโรคมะเร็งเต้านมได้

อาการที่พบบ่อยของโรคมะเร็งหัวนม ได้แก่

  • สีหัวนมคล้ำ มีสีเหลือง หรือมีเลือด
  • หัวนมแบน
  • ผิวบริเวณหัวนมแห้ง หนา และลอกเป็นขุย
  • มีอาการคันหรือรู้สึกชาที่หัวนม

โรคมะเร็งหัวนมส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุมากกว่าวัยรุ่น หากมีสัญญาณข้างต้น ควรรีบปรึกษาคุณหมอเพื่อวินิจฉัยอาการ และรับการตรวจเต้านม

หัวนมดำ รักษาได้หรือไม่ และเมื่อใดควรเข้าพบคุณหมอ

หัวนมดำอาจเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของหน้าอกและฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้หากกำลังเข้าสู่ช่วงวัยหนุ่มสาว รับประทานยาคุมกำเนิด หรือตั้งครรภ์ ภาวะนี้ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและอาจไม่ต้องเข้ารับการรักษา เว้นแต่สีหัวนมที่เข้มขึ้นอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็ง และหากมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย ควรรีบพบคุณหมอทันที

  • ผิวรอบหัวนมแห้งและลอก
  • จุกนมเปลี่ยนเป็นสีแดง
  • มีก้อนที่หน้าอก
  • มีไข้ ปวด บวม และคัน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา