backup og meta

คันมือ สาเหตุและวิธีการดูแลตัวเอง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 30/05/2023

    คันมือ สาเหตุและวิธีการดูแลตัวเอง

    คันมือ เป็นอาการคันทางผิวหนังที่อาจมีสาเหตุมาจากการสัมผัสกับสารระคายเคือง อาการแพ้ แผลติดเชื้อ ผิวแห้ง รวมถึงการใช้ยาบางชนิดหรือเกิดจากโรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคกลาก โรคสะเก็ดเงิน โรคหิด โรคตับแข็ง หากคันมือเป็นเวลานาน โดยอาการไม่ดีขึ้น ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาต่อไป

    อาการคันมือ เกิดจากอะไร

    อาการคันมืออาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

    การสัมผัสกับสารระคายเคืองและอาการแพ้

    การใช้มือสัมผัสกับสารระคายเคือง เช่น สบู่ น้ำยาฆ่าเชื้อ ฝุ่น ดิน น้ำที่มีคลอรีน น้ำยาล้างห้องน้ำ เป็นระยะเวลานานอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ และอาจส่งผลให้มือแห้ง แตก ลอก คันมือ ผิวแดงและเจ็บปวดได้

    นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการแพ้ยาก็อาจทำให้เกิดอาการคันมือได้เช่นกัน เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันจะเข้าต่อต้านยาเหมือนกับต้านเชื้อโรค จนอาจทำให้เกิดอาการแพ้และมีอาการคันมือและเท้าเกิดขึ้น

    การรักษา หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ สารเคมีรุนแรงและจดบันทึกชนิดของยาที่มีประวัติแพ้ นอกจากนี้ ควรสวมถุงมือทุกครั้งเมื่อต้องสัมผัสสารเคมี ควรล้างมือให้สะอาดหากใช้มือสัมผัสกับสารระคายเคือง พร้อมทั้งทาครีมหรือมอยเจอร์ไรเซอร์บำรุงมือทุกครั้งเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว

    หากมีอาการแพ้รุนแรง คุณหมออาจสั่งยาแก้แพ้ ยาสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบและบรรเทาอาการแพ้

    ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใส

    ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใส เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่อาจทำให้เกิดตุ่มน้ำใสเป็นเม็ดเล็ก ๆ ใต้ผิวหนัง ที่นิ้วมือ นิ้วเท้า ฝ่ามือและฝ่าเท้า คันมาก ผิวแดง ผิวแตก และอาจมีน้ำใส ๆ ออกมาจากตุ่มพอง สิ่งกระตุ้นที่พบบ่อย ได้แก่ ความเครียด  การพักผ่อนน้อย ความเจ็บป่วย

    การรักษา คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ครีม โลชั่นหรือมอยเจอร์ไรเซอร์เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและป้องกันผิวแห้ง รวมถึงอาจสั่งยาเพื่อลดอาการอักเสบและบรรเทาอาการคันมือ เช่น ยารับประทาน ครีมสเตียรอยด์ ครีมแคลซินูริน อินฮิบิเตอร์ (Calcineurin Inhibitor)

    แผลพุพอง (Impetigo)

    เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังจนทำให้เกิดผื่นแดงและคัน ส่วนใหญ่อาจเกิดขึ้นบริเวณปาก จมูก แขน มือ ขาและเท้า โดยลักษณะจะเป็นตุ่มน้ำเหลืองขุ่นเหมือนมีหนอง หรือเป็นแผลถลอกเปิด มีหนองใสไหลออกมา เมื่อแผลแห้งจะกลายเป็นสะเก็ดสีเหลืองขุ่น

    การรักษา คุณหมออาจให้ยาปฏิชีวนะชนิดใช้ภายนอกหรือชนิดรับประทานเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และแนะนำให้ดูแลแผลด้วยการทำความสะอาดด้วยน้ำเกลือเป็นประจำทุกวันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการแคะ แกะ เกา บริเวณแผล เพราะอาจทำให้แผลหายช้าและติดเชื้อเพิ่มขึ้น

    ความผิดปกติของเส้นประสาท

    ความเสียหายของเส้นประสาทอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น โรคงูสวัด โรคปลอกประสาทอักเสบ (Multiple Sclerosis) เส้นประสาทถูกกด (Pinched Nerve) โรคเบาหวาน โรคตับ อาจทำให้เส้นประสาทเกิดการอักเสบ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการมือชา เสียวซ่า อ่อนแรง คันมือ ปวดมือ

    การรักษา ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาสาเหตุหลักของอาการ เพื่อลดอาการคันมือและบรรเทาอาการอื่น ๆ ที่เกิดจากความเสียหายของเส้นประสาท

    โรคเบาหวาน

    โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนเลือดและสุขภาพผิว อาจทำให้ผิวแห้ง แตก คันมือ คันผิวทั่วร่างกาย

    การรักษา เพื่อบรรเทาอาการคันมือ ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาโรคเบาหวานตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด ร่วมกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนและน้ำตาลต่ำ ออกกำลังกายเป็นประจำ ดูแลสุขภาพมือด้วยการตรวจเช็คมือทุกวัน ป้องกันไม่ให้มือเกิดบาดแผลหรือติดเชื้อ เพราะผู้ป่วยเบาหวานอาจเป็นแผลและติดเชื้อได้ง่าย รวมถึงแผลที่เกิดขึ้นยังอาจรักษาให้หายได้ยากอีกด้วย

    โรคตับแข็ง

    โรคตับแข็งเป็นโรคที่เนื้อเยื่อตับเกิดความเสียหายจนเกิดเป็นแผล และขัดขวางการทำงานของตับ อาจมีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นระยะเวลานาน การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเป็นเวลานาน หรือโรคไขมันสะสมในตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Non Alcoholic Fatty Liver Disease หรือ NAFLD)

    โรคตับแข็งที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรังจนอาการแย่ลงอาจมีแนวโน้มทำให้เกิดโรคท่อน้ำดีในตับอักเสบและอุดตัน (Primary Biliary Cholangitis หรือ PBC) ซึ่งเป็นโรคภูมิต้านทานตนเองที่กระทบต่อการทำงานของท่อน้ำดีที่เชื่อมต่อกับกระเพาะอาหาร ส่งผลให้น้ำดีไปสะสมในตับมากขึ้นจนทำให้ตับเป็นแผลและเกิดความเสียหาย โดยอาการของโรคตับแข็งที่พบบ่อย ได้แก่ อาการคันผิวหนัง คันมือและเท้า ตัวเหลือง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปวดกระดูก ปัสสาวะสีเข้ม โรคดีซ่าน

    การรักษา ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคตับแข็งให้หายขาดได้ แต่อาจมีวิธีที่จะช่วยบรรเทาอาการลุกลามของโรคได้ เช่น ใช้ยาต้านไวรัสเพื่อรักษาโรคตับอักเสบซีเพื่อยับยั้งไม่ให้โรคตับแข็งแย่ลง การเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการเข้ารับการปลูกถ่ายตับใหม่

    โรคสะเก็ดเงิน

    โรคสะเก็ดเงินที่มือเป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่ทำให้ผิวหนังบริเวณฝ่ามือมีสะเก็ดสีเงิน ผิวแดง ผิวหนา และคันมือ โดยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ การบาดเจ็บที่ผิวหนัง หรือการติดเชื้อ

    การรักษา คุณหมออาจแนะนำให้ใช้มอยเจอร์ไรเซอร์เพื่อช่วยให้ความชุ่มชื้นกับผิว หรือสั่งจ่ายยาที่มีส่วนผสมของยูเรีย (Urea) กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) เพื่อช่วยฟื้นฟูให้ผิวที่หนาให้บางลง รวมถึงยาสเตียรอยด์สำหรับใช้ภายนอก เพื่อช่วยลดการอักเสบ

    การดูแลตัวเองเมื่อมีอาการคันมือ

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันและบรรเทาอาการคันมือ อาจทำได้ดังนี้

    • หลีกเลี่ยงการล้างมือบ่อย ๆ และไม่ควรล้างมือเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้มือแห้ง นอกจากนี้ ควรล้างมือด้วยน้ำอุณภูมิปกติ เลือกสบู่ล้างมือสูตรอ่อนโยนที่มีส่วนผสมของมอยเจอร์ไรเซอร์ที่ให้ความชุ่มชื้นกับผิวที่มือ
    • เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว หลังล้างมืออาจทำให้ผิวบริเวณมือแห้งและมีอาการคันเนื่องจากผิวขาดน้ำและอาจสูญเสียน้ำมันบนผิว การให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวด้วยการทาครีมหรือมอยเจอร์ไรเซอร์อาจช่วยลดความแห้งกร้านและอาการคันได้
    • ประคบเย็นหรือประคบน้ำแข็ง อาจช่วยบรรเทาอาการอักเสบและลดอาการคันได้ โดยใช้ผ้าขนหนูเปียกเย็น ๆ หรือห่อน้ำแข็ง พันรอบมือหรือเท้าเป็นเวลาประมาณ 10-20 นาที เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน
    • หลีกเลี่ยงการเกามือและตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ เพราะการเกาอาจทำให้ผิวบาดเจ็บและอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
    • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่อาจก่อให้เกิดอาการคัน เช่น สารเคมี น้ำยาล้างจาน สีย้อม รวมถึงควรสวมใส่ถุงมือทุกครั้งเมื่อต้องใช้สารเคมีที่อาจก่อให้เกิดความระคายเคืองและอาการแพ้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 30/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา