backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

อาการแพ้ครีม เกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/05/2022

อาการแพ้ครีม เกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไรบ้าง

อาการแพ้ครีม เป็นปฏิกิริยาของผิวหนังที่เกิดการระคายเคืองหลังจากใช้ครีม โดยอาการที่พบบ่อยคือ ผื่นขึ้น เป็นปื้นแดง ผิวหนังบวม รู้สึกคัน ซึ่งควรหยุดใช้ครีมทันทีหากมีอาการดังกล่าว ทั้งนี้ อาการแพ้ครีมรักษาได้ด้วยยาลดการอักเสบ หรือยาปฏิชีวนะ และป้องกันได้โดยการเลือกซื้อครีมภายใต้คำแนะนำของเภสัชกรหรือคุณหมอเพื่อลดโอกาสเสี่ยงเกิดอาการแพ้ครีม

อาการแพ้ครีม เกิดจากอะไร

อาการแพ้ครีมเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อสารประกอบของครีมที่ทำให้เกิดการระคายเคืองหรือสารก่อภูมิแพ้ เช่น น้ำหอม กรดต่าง ๆ น้ำมันหอมระเหย  สารประกอบในครีมกันแดดอย่างสารออกซิเบนโซน (Oxybenzone)

ในทางการแพทย์ อาการแพ้ครีมจัดเป็นอาการของโรคผื่นระคายสัมผัส (Contact Dermatitis) ซึ่งเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งพบได้ทั่วไป และแบ่งสาเหตุของโรคผื่นระคายสัมผัสเป็น 2 ปัจจัยหลัก คือ

  • ผื่นระคายสัมผัส (Irritant Contact Dermatitis) เป็นผื่นระคายสัมผัสประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด เป็นผลจากการที่ผิวหนังภายนอกเกิดความเสียหายหรือถูกทำลายเนื่องจากสัมผัสโดนสารเคมีหรือสารประกอบต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองในปริมาณมาก เช่น สบู่ ยาสระผม โลชั่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำหอม ฝุ่นละออง
  • ผื่นแพ้สัมผัส(Allergic Contact Dermatitis) เป็นผื่นระคายสัมผัสที่เกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ทำให้ผิวหนังเกิดอาการอักเสบหรือคัน เช่น น้ำยาย้อมผม ยางพารา ยาบางชนิด สารกันเสีย สารประกอบในครีมกันแดด

อาการแพ้ครีม เป็นอย่างไร

อาการแพ้ครีมอาจเกิดภายใน 1 ชั่วโมงหรือไม่กี่นาทีหลังใช้ครีม เกิดขึ้นได้ตามผิวหนังทุกส่วนของร่างกายโดยอาการที่พบได้บ่อย มีดังนี้

  • ผื่นขึ้น
  • ผิวหนังเป็นปื้นแดง แห้ง หรือลอก
  • ผิวหนังมีอาการคัน บวม
  • ผิวหนังมีตุ่มน้ำขึ้น

ทั้งนี้ หากมีภาวะแพ้รุนแรง ผู้ที่มีอาการแพ้ครีมอาจหายใจไม่ออก หัวใจเต้นเร็ว หรือคลื่นไส้ร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ภาวะแพ้รุนแรงอาจพบได้ไม่บ่อย แต่สำหรับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้หรือหอบหืด มีแนวโน้มพบภาวะนี้มากกว่าบุคคลทั่วไป

เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

โดยทั่วไป อาการแพ้ครีมจะค่อย ๆ ทุเลาลงจนหายไปภายใน 1 สัปดาห์หลังจากหยุดใช้ครีม หรือหลังจากหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารอันเป็นต้นเหตุของอาการแพ้

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบไปพบคุณหมอ

  • อาการระคายเคืองเนื่องจากผื่น ทำให้นอนไม่หลับ หรือรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน
  • ผื่นเกิดขึ้นแบบกะทันหัน แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และสร้างความเจ็บปวดอย่างรุนแรง
  • ผื่นแพ้ไม่หายไปภายใน 3 สัปดาห์
  • มีภาวะแพ้รุนแรง ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นได้

อาการแพ้ครีม รักษาอย่างไร

หากมีอาการแพ้ครีม คุณหมออาจใช้วิธีการรักษา ดังต่อไปนี้

  • ทายาสเตียรอยด์ ในรูปแบบครีมหรือขี้ผึ้ง เพื่อลดจำนวนผื่นบนผิวหนังโดยคุณหมออาจให้ทาสเตียรอยด์วันละ 1-2 ครั้ง ติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์
  • รับประทานยาเม็ด เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบ หรือยาแก้แพ้ ซึ่งช่วยบรรเทาอาการคัน หรืออาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
  • ฉีดอิพิเนฟริน (Epinephrine) หรือฮอร์โมนอะดรีนาลีน (Adrenaline) เพื่อบรรเทาอาการแพ้ ในกรณีที่มีภาวะแพ้รุนแรง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

อาการแพ้ครีมอาจสามารถป้องกันได้ ตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • เข้ารับการทดสอบผื่นแพ้ (Patch Test) ที่สถานพยาบาล เพื่อจะได้ทราบว่าตัวเองแพ้สารชนิดใด หรือควรหลีกเลี่ยงสารชนิดใด ทั้งนี้ การทดสอบผื่นแพ้ จะทำโดยการปิดพลาสเตอร์ซึ่งมีสารก่อภูมิแพ้บนผิวหนัง เป็นเวลา 48-96 ชั่วโมง เพื่อตรวจดูปฏิกิริยาของผิวหนังต่อสารที่ใช้ทดสอบ
  • เลือกซื้อครีมโดยรับคำแนะนำหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ใด ๆ ใช้เอง รวมทั้งการอ่านฉลากให้ละเอียดก่อนเลือกซื้อสินค้าที่สนใจ เพื่อตรวจสอบว่าไม่มีสารอันเป็นสาเหตุของอาการแพ้เป็นส่วนผสม นอกจากนี้ ควรเลือกซื้อครีมที่มีส่วนผสมเพียง 2-3 อย่าง เพื่อลดโอกาสสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้
  • หยุดใช้ครีมต่าง ๆ เมื่อพบอาการแพ้ครีม แม้ไม่ใช่สาเหตุของอาการแพ้โดยตรง เนื่องสารเคมีในครีมหรือเครื่องสำอางต่าง ๆ อาจทำให้ผิวหนังฟื้นฟูและหายจากการแพ้ได้ช้าลง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา