backup og meta

รอยสักติดเชื้อ อาการและการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 23/01/2024

    รอยสักติดเชื้อ อาการและการรักษา

    รอยสักเป็นศิลปะบนเรือนร่างอย่างหนึ่ง วิธีการสักคือการใช้เข็มที่เต็มไปด้วยหมึกวาดลงบนผิวหนัง หากดูแลรักษาแผลหลังจากสักเสร็จไม่ดี ก็อาจทำให้ รอยสักติดเชื้อ ซึ่งอาจส่งผลทำให้ผิวหนังเกิดความเสียหาย ทั้งยังอาจเกิดอาการต่าง ๆ เช่น อาการแพ้ คัน ผื่น และหากปล่อยไว้นานโดยไม่รักษาในทันที อาจทำให้เกิดภาวะช็อคจากการแพ้ รวมถึงอาจต้องทำการผ่าตัดเพื่อเอาเนื้อบริเวณที่ติดเชื้อออก

    รอยสัก คืออะไร

    รอยสัก (Tattoo) เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป ซึ่งเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ชาวอเมริกันราว 4 ใน 10 คนมีรอยสักอย่างน้อย 1 ลายบนตัว นอกจากนี้ รอยสักยังกลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันน้อยลงในที่ทำงาน ในหลายอุตสาหกรรม โดยอาจจะเห็นได้จากการที่เพื่อนร่วมงาน เจ้านาย หรือผู้บริหารหลายคนมีรอยสักที่มองเห็นได้ ความนิยมของรอยสักอาจทำให้หลายคนคิดว่า เมื่อไปสักแล้วอาจจะไม่มีความเสี่ยงใด ๆ ตามมา แต่ความจริงแล้วการสักมีความเสี่ยงหลายอย่าง เนื่องจากการใช้เข็มที่เต็มไปด้วยหมึกสักลงไปบนผิวหนังอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายหรืออาจเกิดการติดเชื้อได้ การสักกับบุคคลหรือร้านที่ไม่ได้ทำความสะอาดเครื่องมืออย่างถูกต้อง หรือให้ไม่ยอมให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรักษารอยสักที่เพิ่งสักใหม่ให้สะอาด อาจนำไปสู่ปัญหารอยสักติดเชื้อ หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้

    อาการของ รอยสักติดเชื้อ

    อาการของรอยสักติดเชื้อที่อาจพบได้บ่อย คือ ผื่นแดง หรือผิวหนังเป็นหลุมเป็นบ่อบริเวณที่มีรอยสัก ในบางกรณีผิวอาจเกิดการระคายเคืองเนื่องจากเข็มที่ใช้สัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีผิวบอบบาง หากเป็นกรณีนี้อาการอาจหายไปภายใน 2-3 วัน แต่หากอาการที่เกิดขึ้นยังเป็นอยู่นานกว่า  1 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น ควรกลับไปพบช่างสักหรือคุณหมอ ซึ่งอาการที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

    • อาการไข้
    • รู้สึกร้อน ๆ หนาว ๆ
    • ตัวสั่นผิดปกติ
    • มีอาการบวมบริเวณรอยสัก
    • บริเวณที่มีรอยสักมีหนองไหลออกมา
    • แผลแดงรอบ ๆ บริเวณที่มีรอยสัก
    • เนื้อเยื่อนูนขึ้นมาและมีลักษณะแข็ง

    วิธีการรักษารอยสักติดเชื้อ

    รอยกระแทกและผื่นเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจรักษาได้ด้วยการทาครีมต้านเชื้อแบคทีเรีย การทำความสะอาดที่เหมาะสม และการพักผ่อน หากประสบกับการติดเชื้อ การรักษาอาจขึ้นอยู่กับสาเหตุของการติดเชื้อ คุณหมออาจเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือชิ้นเนื้อ เพื่อตรวสอบว่าแบคทีเรียหรือไวรัสชนิดใดเป็นสาเหตุของการทำให้เกิดการติดเชื้อ

    ในกรณีส่วนใหญ่คุณหมออาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยหยุดการติดเชื้อ ในกรณีที่รอยสักมีการติดเชื้อรุนแรง การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน หากการติดเชื้อเกิดจากแบคทีเรียเอ็มอาร์เอสเอ (Methicilin Resistant Staphylococcus Aureus หรือ MRSA) ซึ่งเป็นเชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) สายพันธุที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ ยาปฏิชีวนะอาจไม่สามารถรักษาได้ และหากแบคทีเรีย MRSA ทำให้เกิดฝี คุณหมออาจทำการระบายฝีออกแทนการใช้ยา

    ในบางกรณี การติดเชื้ออาจจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมเนื้อ หากเนื้อเยื่อตายเนื่องจากการติดเชื้ออาจจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อเอาเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อออกทั้งหมด หากรอยสักเกิดอาการคันและเจ็บปวดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของการติดเชื้อเชื้อมัยโคแบคทีเรีย (Mycobacterium) ซึ่งเป็นเชื้อวัณโรคเทียมอาจต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะในระยะยาว

    เมื่อไหร่ที่ควรไปพบคุณหมอ

    หากรู้สึกว่ามีไข้ มีอาการวูบผิดปกติ หรือมีการตกสะเก็ดบริเวณรอยสักควรไปพบคุณหมอโดยทันที เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณทั่วไปของการติดเชื้อ และหากบริเวณรอยสักมีผื่นหรือบวมนานกว่า 1 สัปดาห์ หรือรอยสักติดเชื้อไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว หรือไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เชื้อแบคทีเรียอาจดื้อต่อยาปฏิชีวนะจนอาจทำให้เกิดฝีได้ ซึ่งการกำจัดฝีอาจต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล

    นอกจากนี้ หากรู้สึกไม่สบาย คันบริเวณรอยสัก หรือบริเวณรอยสักมีหนองเกิดขึ้น นั่นอาจเป็นอาการแพ้หมึกสัก โดยอาการแพ้ที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่ภาวะช็อคจากการแพ้ (Anaphylactic Shock) ซึ่งส่งผลให้คอปิดและความดันโลหิตต่ำลงจนอันตราย ซึ่งหากเกิดอาการแพ้เช่นนี้ควรไปพบคุณหมอทันที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 23/01/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา