backup og meta

ลบรอยสัก ทำได้อย่างไร มีอันตรายอะไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 10/08/2022

    ลบรอยสัก ทำได้อย่างไร มีอันตรายอะไรบ้าง

    ลบรอยสัก เป็นขั้นตอนลบรอยสักที่ไม่ต้องการบนผิวหนัง อาจแบ่งเป็นหลายเทคนิค ได้แก่ การลบรอยสักด้วยเลเซอร์ การผ่าตัดเอาออก และการขัดผิวหนัง ซึ่งแต่ละวิธีก็อาจมีข้อจำกัดและขั้นตอนการรักษาที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ การลบรอยสักอาจทำให้เกิดความเสี่ยงเกิดรอยแผลเป็น เจ็บปวด คัน รอยดำ และอาจไม่สามารถลบออกได้ทั้งหมดหรือเสี่ยงเป็นมะเร็งได้ ดังนั้น ก่อนทำการสักหรือลบรอยสักจึงควรศึกษาข้อดีและข้อเสีย พร้อมทั้งปรึกษาคุณหมอเฉพาะทางเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

    ประเภทของการลบรอยสัก

    การลบรอยสักอาจมีหลายวิธีการ ได้แก่

    การลบรอยสักด้วยเลเซอร์

    การลบรอยสักด้วยเลเซอร์ Q-switched เป็นที่นิยม สามารถใช้รักษารอยแผลเป็น ฝ้า กระ ปานได้ ไม่มีผลข้างเคียงระยะยาว โดยเลเซอร์ Q-switched เป็นการปล่อยพลังงานแสงเพื่อทำให้เซลล์เม็ดสีแตกตัว หลังจากนั้นเม็ดเลือดขาวจะดูดซึมหรือย่อยสลายเม็ดสีที่ผิดปกติ แล้วจะถูกกำจัดโดยการขับเป็นของเสียออกจากร่างกาย หลังจากยิงเลเซอร์บริเวณที่ต้องการลบรอยสัก ผิวบริเวณนั้นจะมีสีเข้มขึ้น และเมื่อร่างกายกำจัดเม็ดสีออกไปหมดแล้ว ผิวจะเริ่มตกสะเก็ดและหลุดออกไป จากนั้นผิวจะค่อย ๆ กระจ่างใสขึ้นและกลับมาเป็นปกติ ก่อนทำเลเซอร์คุณหมอจะฉีดยาชา จากนั้นจะเริ่มกระบวนการยิงเลเซอร์ ซึ่งรอยสักแต่ละแบบอาจต้องใช้พลังงานและความยาวคลื่นที่แตกต่างกัน

    หลังจากการลบรอยสักด้วยเลเซอร์อาจทำให้มีอาการบวม แสบร้อน หรือมีเลือดออกเล็กน้อย คุณหมออาจสั่งจ่ายยาต้านเชื้อแบคทีเรียเพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อ โดยการลบรอยสักด้วยวิธีนี้อาจจำเป็นต้องทำเลเซอร์หลายครั้งและอาจไม่สามารถลบรอยสักออกได้ทั้งหมด

    การผ่าตัด

    ก่อนเริ่มผ่าตัด คุณหมอจะฉีดยาชาบริเวณที่จะทำการรักษา จากนั้นคุณหมอจะตัดส่วนที่เป็นรอยสักออกแล้วเย็บขอบของผิวหนังเข้าด้วยกัน หลังจากการผ่าตัด คุณหมออาจสั่งจ่ายยาต้านเชื้อแบคทีเรียเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่ทั้งนี้ การผ่าตัดลบรอยสักช่วยลบรอยสักบนผิวหนังได้จริง แต่อาจทิ้งรอยแผลเป็นและสามารถทำได้เฉพาะรอยสักขนาดเล็กเท่านั้น

    การขัดผิวหนัง (Dermabrasion)

    ก่อนเริ่มขั้นตอน คุณหมอจะฉีดบริเวณที่รักษาด้วยยาชา จากนั้นจะเริ่มขัดบริเวณรอยสักให้ลึกลงไปใต้ผิวหนังด้วยอุปกรณ์เฉพาะที่มีล้อหรือแปรงขัด วิธีนี้จะทำให้หมึกสักซึมออกจากผิวหนัง แต่อาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดเป็นเวลาหลายวันหลังจากทำการขัดผิวหนัง และอาจต้องใช้เวลาฟื้นตัวประมาณ 2-3 สัปดาห์ และผลลัพธ์อาจไม่ดีเท่า 2 วิธีข้างต้น จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก

    ความเสี่ยงในการลบรอยสัก

    ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนของการลบรอยสักอาจเกิดขึ้นได้ ด้วยวิธีการลบรอยสักด้วยเลเซอร์ Q-switched พลังงานที่เม็ดสีดูซับจะถูกเปลี่ยนเป็นความร้อน เป็นผลมาจากแสงทำปฏิกิริยาทำให้พันธะเคมีภายในเม็ดสีแตกออก อาจทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง เอมีน (Amines) ที่เกิดจากขั้นตอนการเลเซอร์ ซึ่งอาจพบภาวะแทรกซ้อนนี้ได้เพียง 5%

    ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นทันทีหลังลบรอยสัก

    หลังจากลบรอยสัก อาจทำให้มีอาการปวดแผล แผลเป็น และเลือดออก มักพบในผู้ที่มีสีผิวเข้ม คุณหมออาจสั่งจ่ายยาทาเฉพาะที่เพื่อลดอาการเจ็บปวดหลังทำเลเซอร์ หรืออาจสั่งยาปฏิชีวนะร่วมด้วย เพื่อทำให้แผลเป็นอ่อนนุ่มลง

    ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นภายหลังจากการลบรอยสัก

    • เมื่อเวลาผ่านไปหลังลบรอยสัก อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีที่เกิดขึ้นชั่วคราว โดยทำให้ผิวหมองคล้ำลงหรือมีรอยดำ อาจเกิดขึ้นหลังการรักษาประมาณ 4-6 สัปดาห์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีอาจเกิดขึ้นอย่างถาวรได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีสีผิวเข้ม
    • อาการแพ้ ปฏิกิริยาแพ้แสงเมื่อทำการลบรอยสักด้วยเลเซอร์ มักเกิดขึ้นได้ในหมึกสักสีแดงหรือสีเหลือง อาจทำให้มีอาการเลือดคั่ง คัน เป็นก้อนเนื้อ หรือเป็นโรคผิวหนัง อาการอาจปรากฏขึ้นทันทีหรืออาจแสดงอาการเมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือนหรือหลายปี สามารถรักษาได้ด้วยคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เฉพาะที่หรือแบบรับประทาน
    • รอยคล้ำบนผิวหนัง มักเกิดขึ้นเมื่อลบรอบสักด้วยเลเซอร์ในหมึกสักสีชมพู สีเข้ม หรือสีขาว ส่วนใหญ่ใช้ในการแต่งหน้าถาวร เช่น สักปาก สักคิ้ว เนื่องจากเลเซอร์อาจเข้าไปลดไททาเนียมไดออกไซด์ (Titanium Dioxide) หรือไอเอิร์นออกไซด์ (Iron Oxide) เป็นสารแต่งสีในเครื่องสำอาง ทำให้ผิวดำลงได้
    • อาจไม่สามารถลบรอบสักออกได้ทั้งหมด โดยเฉพาะหากรอยสักมีพื้นที่กว้าง หรือหลายสี และอาจทำให้เกิดแผลเป็นได้โดยเฉพาะผู้ที่สีผิวเข็ม เนื่องจากเมลานินที่ผิวหนังดูดซับรังสีเลเซอร์ได้มากกว่า

    วิธีรักษาแผลหลังลบรอยสัก

    การดูแลแผลหลังลบรอยสักอาจขึ้นอยู่กับวิธีรักษานั้น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่คุณหมอจะให้ครีมต้านเชื้อรา หรืออื่น ๆ ใช้ทาแผลบริเวณที่ลบรอยสัก และห้ามแผลโดนน้ำประมาณ 1-2 วันหลังจากลบรอยสัก เมื่อครบเวลาสามารถทำความสะอาดแผลด้วยน้ำและสบู่อ่อน ๆ แล้วซับแผลให้แห้งสนิท หลีกเลี่ยงการแช่น้ำ อาบน้ำร้อน และใช้สระว่ายน้ำจนกว่าแผลจะหายสนิท เนื่องจากอาจเพิ่มโอกาสติดเชื้อได้ แและต้องทายาที่คุณหมอสั่งเป็นประจำจนกว่าแผลเป็นจะหลุดออกจนหมด

    นอกจากนี้ จำเป็นต้องทาครีมกันแดดและไม่ให้บริเวณที่ลบรอยสักโดนแดด โดยวิธีดูแลแผลหลังลบรอยสักจะต้องปฏิบัติวนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะครบกระบวนการตามที่คุณหมอกำหนด

    การเยียวยาแผลหลังลบรอยสักที่สามารถทำได้ที่บ้าน ดังนี้

    • ดื่มน้ำมาก ๆ เนื่องจากการดื่มน้ำจะช่วยให้ร่างกายชุ่มชื้น ช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ล้างสารพิษและฟื้นฟูเซลล์เม็ดเลือด ทั้งยังอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อที่แผล
    • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำส่งผลให้กระบวนการฟื้นฟูผิวช้าลง
    • งดการสูบบุหรี่ เนื่องจากอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำหน้าที่รักษาแผลที่ผิวไม่เต็มที่ เพราะต้องมากำจัดมลพิษในร่างกายที่ได้จากการสูบบุหรี่ จึงอาจส่งผลให้การฟื้นฟูแผลช้าลงไปด้วยเช่นกัน
    • ออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายหลังจากแผลตกสะเก็ด เพราะการออกกำลังกายทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ซึ่งการไหลเวียนของเลือดที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสลายอนุภาคหมึกในผิวหนัง แต่ควรงดออกกำลังกายหลังลบรอยสัก 2-3 วัน เพราะอาจทำให้ผิวหนังช้ำหรือบาดเจ็บได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 10/08/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา