หูดข้าวสุก เป็นอีกหนึ่งโรคทางผิวหนังที่มีสาเหตุเกิดมาจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือการใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ทำให้เกิดอาการตุ่มขนาดต่าง ๆ อาจมีแค่ตุ่มเดียวหรือขึ้นหลายตุ่มรวมกันเป็นกระจุก หูดข้าวสารสามารถหายได้ด้วยตัวเอง หรืออาจจะเข้ารับการรักษากับคุณหมอเพื่อกำจัดตุ่มหูดออก
หูดข้าวสุก เกิดขึ้นได้อย่างไร?
โรคหูดข้าวสุก (Molluscum Contagiosum) เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจาก เชื้อไวรัสมอลลัสคุมคอนทาจิโอซุม (Molluscum Contagiosum Virus) ทำให้ผิวหนังชั้นนอกเกิดเป็นตุ่มรอยนูน เชื้อไวรัสนี้จะแพร่กระจายผ่านการสัมผัสโดยตรงจากคนสู่คน เช่น การใช้ผ้าเช็ดตัวหรือสวมใส่เสื้อผ้าร่วมกัน อย่างไรก็ตาม โรคหูดข้าวสุก ไม่ใช่โรคร้ายแรง สามารถหายได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรับการรักษา และไม่ทิ้งรอยแผลเป็นไว้ที่ผิวหนัง
สัญญาณและอาการของผู้ป่วยที่ติด โรคหูดข้าวสุก
โรคหูดข้าวสุก นั้น เกิดจากการสัมผัสกับคนที่มีเชื้อโดยตรง เช่น เด็กสัมผัสกับเด็กด้วยกันที่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้ ส่วนใหญ่พบว่า ในวัยรุ่นและผู้ใหญ่มักติด โรคหูดข้าวสุก ได้ง่ายจากการมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการติดเชื้อระหว่างการเล่นกีฬาที่มีการสัมผัสโดนผิวหนัง อย่างกีฬามวยปล้ำ หรือกีฬาฟุตบอล เป็นต้น
โรคหูดข้าวสุก จะมีระยะการฟักตัวอยู่ระหว่าง 2-7 สัปดาห์ จนถึง 6 เดือน โดยหลังจาก 6 เดือนผู้ป่วยจะเริ่มมีตุ่มขึ้นบริเวณผิวหนังเป็นตุ่มเดี่ยว ๆ หรือบางทีขึ้นเป็นกระจุกได้ถึง 20 ตุ่มกันเลยทีเดียว และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย สามารถสังเกตอาการได้ดังต่อไปนี้
- ตุ่มมีขนาดเล็กมาก โดยตุ่มจะดูออกเงา แวววาว
- ตุ่มมีสีขาวหรือสีชมพู
- ตุ่มมีลักษณะเต่งตึง เหมือนรูปโดมหรือมีรอยบุ๋มอยู่ตรงกลางตุ่ม
- ตุ่มมีขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-5 มิลลิเมตร
- ตุ่มสามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนบนร่างกาย ยกเว้นบริเวณฝ่ามือหรือฝ่าเท้า โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง ลำตัว แขน ขา หรือต้นขาด้านในอวัยวะเพศ
อย่างไรก็ตาม หากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอ อาจส่งผลให้หายช้าและยากต่อการรักษา ตุ่มอาจมีการขยายใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 15 มิลลิเมตร
โรคหูดข้าวสุกหายได้ เพียงรักษาอย่างถูกวิธี
หากมีระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่แข็งแรง ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่ในกรณีผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จำเป็นต้องได้รับการรักษา โรคหูดข้าวสุก โดยการรักษานั้นสามารถรักษาได้หลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ดังนี้
- รักษาด้วยความเย็น ในการจี้หูดด้วยการใช้ไนโตรเจนเหลว (Liquid Nitrogen)
- รักษาด้วยเลเซอร์ แพทย์จะใช้เลเซอร์ในการจี้หูด
- รักษาด้วยโดยการใช้ยา เป็นยาที่มีกรดในการทำให้ผิวหนังชั้นนอกของผิวเกิดการลอกออก เช่น กรดไตรคลอโรอะเซติก (Trichloroacetic Acid หรือ TCA) หากท่านใดที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา
- เอาหูดออก ในกรณีผู้ป่วยทีมีภูมิคุ้มกันบกพร่องจากเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อยู่ระหว่างการใช้ยาในการรักษา จำเป็นต้องรักษาโดยการเอาหูดออก เพราะอาจส่งผลให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้นกว่าเดิมและรักษาได้ยากกว่าคนปกติทั่วไป
วิธีป้องกันตัวเอง ปลอดภัยจาก โรคหูดข้าวสุก
วิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ คือ การหลีกเลี่ยงในการสัมผัสกับผิวหนังผู้ที่ติดเชื้อ โรคหูดข้าวสุก ให้มากที่สุด รวมถึงป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโดยการดูแลตนเองให้ถูกสุขอนามัย ดังต่อไปนี้
- ล้างมือเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
- หากท่านใดที่มีบุตร หลาน ควรสอนเด็กถึงวิธีการล้างมือที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกันกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว มีดโกนหนวด เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ ในกรณีที่มีหูดใกล้บริเวณอวัยวะเพศ เพื่อลดการติดเชื้อ
สำหรับวิธีการป้องกันตัวเองข้างตนจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าหากพบว่า มีอาการ และสัญญาณของโรคที่เข้าข่ายอาการของ โรคหูดข้าวสุก โปรดปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อการวินิจฉัยโรคและการรักษาที่เหมาะสม
[embed-health-tool-heart-rate]