backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

น้ำเหลืองไม่ดี สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 16/10/2023

น้ำเหลืองไม่ดี สาเหตุ อาการ และการรักษา

น้ำเหลืองไม่ดี เป็นการติดเชื้อที่ผิวหนัง ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผลบนผิวหนัง ทำให้มีอาการบวมแดง เป็นตุ่ม คัน เจ็บปวด ผู้ป่วยมักติดเชื้อจากการสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น พื้นดิน พงหญ้า หนองน้ำหรือจากแมลงกัดต่อย นอกจากนี้ น้ำเหลืองไม่ดียังอาจหมายถึงภาวะบวมน้ำเหลืองที่เกิดจากเนื้อเยื่ออุดตันขัดขวางการระบายน้ำเหลืองในร่างกาย อาจทำให้มีอาการบวม เคลื่อนไหวยาก ผิวหนังแข็งตัว

คำจำกัดความ

น้ำเหลืองไม่ดี คืออะไร

น้ำเหลืองไม่ดี คือ ภาวะติดเชื้อที่ผิวหนัง มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) และสเตรปโตคอคคัส ไพโอจิเนส (Streptococcus pyogenes) เป็นการติดเชื้อที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน พบบ่อยในเด็กที่พัฒนาระบบภูมิคุ้มกันยังไม่สมบูรณ์ หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับการติดเชื้อ  เช่น โรคภูมิแพ้ตัวเอง ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ผู้ป่วยอาจได้รับเชื้อจากการสัมผัสสิ่งของ ทราย พงหญ้า หรือแมลงกัดต่อย และเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลหรือรอยแตกบนผิวหนัง ทำให้มีอาการบวมแดง เป็นตุ่ม คัน เจ็บปวด และอาจมีของเหลวไหลออกจากแผล

นอกจากนี้ ยังมีภาวะบวมน้ำเหลือง (Lymphedema) ซึ่งเป็นภาวะเนื้อเยื่ออุดตันที่ขัดขวางการระบายของน้ำเหลืองในร่างกาย อาจเกิดจากเซลล์มะเร็งอุดตันหลอดเลือด การฉายรังสีที่ทำให้เกิดแผลเป็นอุดตัน หรือการผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองออก ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นบริเวณขา แขน หน้าอก หน้าท้อง คอ และอวัยวะเพศ อาจทำให้มีอาการบวมที่แขนและขา เคลื่อนไหวยาก ติดเชื้อง่าย ผิวหนังแข็งตัวและหนาขึ้น

อาการ

อาการน้ำเหลืองไม่ดี

อาการของน้ำเหลืองไม่ดีสามารถสังเกตได้ ดังนี้

  • เป็นตุ่ม ผื่นแดง บวมบริเวณผิวหนัง แผลอาจกระจายออกอย่างรวดเร็ว
  • ของเหลวจากแผลแห้งกลายเป็นสะเก็ดสีเหลืองปิดคลุมแผล
  • เจ็บปวด คันและอาจคันรุนแรงขึ้น
  • อาจเกิดแผลเป็นถาวร สีผิวบริเวณแผลเปลี่ยนไป

สาเหตุ

สาเหตุน้ำเหลืองไม่ดี

น้ำเหลืองไม่ดี เป็นการติดเชื้อที่ผิวหนัง มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) และสเตรปโตคอคคัส ไพโอจิเนส (Streptococcus pyogenes) อาการและการลุกลามของการติดเชื้อของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน โดยผู้ป่วยอาจสัมผัสกับเชื้อโรคได้จากแมลงสัตว์กัดต่อย เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว ของเล่น หรือแม้แต่ตามพงหญ้า บ่อโคลน หนองน้ำ ทราย หรือสนามเด็กเล่น

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงน้ำเหลืองไม่ดี

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดปัญหาน้ำเหลืองไม่ดี มีดังนี้

  • อายุ น้ำเหลืองไม่ดีพบบ่อยในเด็ก เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันอาจยังอ่อนแอ
  • อากาศร้อนชื้น เชื้อโรคมักอาศัยและเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่อบอุ่นและชื้น
  • การแพร่กระจายน้ำเหลืองไม่ดีอาจเป็นโรคที่แพร่กระจายได้ง่ายในครอบครัว พื้นที่คนพลุกพล่าน ได้รับเชื้อจากสัตว์ หรือสถานที่ต่าง ๆ เช่น พงหญ้า หนองน้ำ บ่อโคลน ทราย สนามเด็กเล่น
  • ผิวแตกลาย เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อโรคอื่น ๆ มักเข้าสู่ผิวหนังผ่านทางบาดแผลเล็ก ๆ จากแมลงกัดต่อยหรือผื่น
  • เด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนัง ผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นเบาหวาน ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ มีแนวโน้มที่จะกระตุ้นอาการหรืออาการแย่ลงได้

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยน้ำเหลืองไม่ดี

การวินิจฉัยโรคน้ำเหลืองไม่ดี คุณหมออาจสอบถามประวัติอาการของผู้ป่วย ตรวจสอบแผลที่ผิวหนัง หากทำการรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น คุณหมออาจต้องเก็บตัวอย่างของเหลวจากแผลเพื่อทำการทดสอบเพิ่มเติม และอาจให้ยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์แรงขึ้น เนื่องจากแบคทีเรียบางชนิดอาจดื้อยาปฏิชีวนะได้

การรักษาน้ำเหลืองไม่ดี

การรักษาน้ำเหลืองไม่ดี คุณหมออาจสั่งยาปฏิชีวนะเฉพาะที่ มิวพิโรซิน (Mupirocin) เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ใช้รักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง ทาโดยตรงที่แผล 2-3 ครั้ง/วัน ประมาณ 5-10 วัน แต่ก่อนใช้ยา ควรประคบผ้าชุบน้ำอุ่นที่แผล จากนั้นซับให้แห้ง แล้วขจัดสะเก็ดแผลออก เพื่อให้ยาปฏิชีวนะสามารถซึมเข้าผิวหนังได้ดียิ่งขึ้น หลังจากทายาให้ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซเพื่อป้องการการติดเชื้อเพิ่มเติม

หากแผลมีอาการรุนแรงขึ้นหรือไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน คุณหมออาจสั่งยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานเพิ่มเติม เพื่อกำจัดเชื้อจากภายในร่างกาย แต่ผู้ป่วยต้องรับประทานยาอย่างเคร่งครัดให้ครบตามที่คุณหมอสั่งแม้ว่าแผลจะหายดีแล้ว เพื่อป้องกันการดื้อยา

การดูแลแผลน้ำเหลืองไม่ดีที่บ้าน

ควรรักษาความสะอาดร่างกายและสิ่งของภายในบ้านเพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยทำความสะอาดแผลเป็นประจำด้วยสบู่และน้ำไหลผ่าน เพื่อป้องกันไม่ให้การติดเชื้อรุนแรงขึ้น หรือหากแผลไม่รุนแรง อาจใช้ยาฆ่าเชื้อเฉพาะที่ตามร้านขายยาทั่วไป  เช่น มิวพิโรซิน (Mupirocin) และปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ แต่หากอาการรุนแรงขึ้นควรรีบพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาในขั้นตอนต่อไป

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับน้ำเหลืองไม่ดี

เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ผิวหนังที่ทำให้เกิดอาการน้ำเหลืองไม่ดี สามารถทำได้ดังนี้

  • อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายเป็นประจำทุกวันเพื่อกำจัดเชื้อโรคที่เกาะอยู่ตามผิวหนัง ลดโอกาสติดเชื้อ และควรล้างมืออย่างสม่ำเสมอ
  • ล้างทำความสะอาดบริเวณแผลด้วยสบู่อ่อน ๆ และเปิดน้ำไหลผ่านแผล จากนั้นปิดด้วยผ้าก๊อซเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ และป้องกันแผลสัมผัสอากาศ
  • ซักเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน และผ้าเช็ดตัวของผู้ติดเชื้อทุกวันด้วยน้ำร้อน เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจเกาะอยู่ตามเสื้อผ้าและของใช้
  • ตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอเพื่อป้องกันเชื้อโรค และป้องกันการบาดเจ็บที่แผลหากใช้มือเกาแผล
  • ไม่ควรแกะหรือเกาที่แผลเพราะอาจทำให้แผลอักเสบและหายช้ากว่าเดิม
  • สวมถุงมือทุกครั้งก่อนทายาปฏิชีวนะที่แผล และล้างมือให้สะอาดหลังจากทายาเสร็จ เพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่มเติม และควรใช้ยาตามคุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 16/10/2023

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา