backup og meta

ผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า อาการ สาเหตุ วิธีรักษาและป้องกัน

ผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า อาการ สาเหตุ วิธีรักษาและป้องกัน

ผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า เป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้เกิดอาการอักเสบ เป็นแผลพุพอง และคันบริเวณขาส่วนล่าง มักเกิดขึ้นในผู้ที่มีระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ ส่วนใหญ่พบในผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โรคนี้อาจสร้างปัญหาให้กับผิวหนังและสุขภาพในระยะยาวได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-heart-rate]

คำจำกัดความ

ผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า คืออะไร

ผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า (Stasis dermatitis) มักเกิดในผู้ป่วยที่ระบบไหลเวียนเลือดบริเวณขาส่วนล่างผิดปกติ พบมากบริเวณข้อเท้าและเท้า เมื่อเลือดไหลเวียนได้ไม่ดีนักมักส่งผลให้เกิดแรงดันภายในหลอดเลือดดำมากขึ้น และเกิดภาวะหลอดเลือดรั่ว จนเลือดกระจายเข้าสู่ผิวหนัง

อาการ

อาการของ ผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า

อาการข้อเท้าบวมเป็นอาการแรกที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่เป็นผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้

  • ผิวหนังบริเวณข้อเท้ามีสีแดง สีน้ำตาล หรือสีเหลือง
  • มีแผลพุพอง เป็นสะเก็ดหรือเป็นขุย
  • ผิวหนังบริเวณขาส่วนล่างแข็งและหนาขึ้น
  • มีเส้นเลือดขอด ลักษณะโป่ง บวม มีสีคล้ำ
  • ผิวแห้ง เจ็บปวดและคัน
  • ขนบริเวณข้อเท้าหรือหน้าแข้งหลุดร่วง
  • ปวดและบวมมากขึ้นเมื่อยืนหรือเดิน

อาการบวมที่ขาจะดีขึ้นเมื่อหยุดทำกิจวัตรประจำวันและนอนพักผ่อน แต่จะกลับมาเป็นซ้ำอีกเมื่อเริ่มยืนหรือเดินเป็นเวลานาน

สาเหตุ

สาเหตุของผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า

ผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้ามักพบในผู้ที่มีระบบไหลเวียดเลือดผิดปกติ โดยเฉพาะที่หลอดเลือดดำบริเวณขาส่วนล่าง ทำให้ไม่สามารถส่งเลือดกลับสู่หัวใจได้ ส่งผลให้เลือดไหลย้อนกลับ และเกิดแรงดันในหลอดเลือดดำเพิ่มขึ้นจนหลอดเลือดบวม และเกิดโรคผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า

ภาวะที่อาจส่งผลต่อความผิดปกติของการไหลเวียนเลือดที่ข้อเท้าและเท้า ได้แก่

  • การผ่าตัดที่ขา
  • อาการบาดเจ็บที่ขาส่วนล่าง
  • อาการบวมที่ขาเป็นเวลานาน
  • ภาวะเส้นเลือดขอด
  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ
  • ภาวะความดันโลหิตสูง
  • การตั้งครรภ์หลายครั้ง
  • น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน
  • ภาวะไตวาย

นอกจากนี้ หากยืนและเดินมากเกินไป หรือออกกำลังกายเป็นเวลานาน ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้าได้เช่นกัน

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า อาจมีดังนี้

  • มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • มักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
  • น้ำหนักเกินมาตรฐาน
  • ยืนหรือนั่งนาน ๆ
  • ออกกำลังกายไม่เพียงพอ
  • มีภาวะที่ส่งผลต่อการไหลเวียนเลือด
  • เพิ่งคลอดบุตร
  • เป็นโรคไต

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า

การวินิจฉัยโรคผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า คุณหมอจะซักประวัติการเกิดโรค อาการ หรือประวัติการรักษาอื่น ๆ เช่น สอบถามถึงอาการบาดเจ็บที่ขา การผ่าตัด ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจหรือการไหลเวียนเลือด และคุณหมออาจตรวจผิวหนังโดยการอัลตราซาวด์เพื่อหาสัญญาณของโรคและดูการไหลเวียนเลือด และอาจตรวจการทำงานของหัวใจ ความดันโลหิต รวมถึงอาการแพ้อื่น ๆ ด้วย

การรักษาผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า

การรักษาผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า เป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการและเพิ่มการไหลเวียนของเลือด เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกลับมาเป็นซ้ำ ดังนี้

  • ใช้ยาปฏิชีวนะและผ้าปิดแผลพิเศษเพื่อรักษาแผลติดเชื้อ
  • ใช้สารให้ความชุ่มชื้นและปกป้องผิว
  • ใช้ยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการคัน
  • ใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หรือ ยาทากลุ่มแคลซินูริน (Calcineurin inhibitors) เพื่อบรรเทาอาการปวดและลดอาการบวม
  • สวมถุงน่องที่กระชับขาเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและลดอาการบวม

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่ช่วยจัดการกับโรคผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า

วิธีดูแลตัวเองเพื่อควบคุมโรคและป้องกันไม่ให้อาการแย่ลง มีดังนี้

  • หยุดพักเป็นระยะเมื่อเดินนาน ๆ และกลับมาเดินเร็วเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด
  • ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และเสริมสร้างกล้ามเนื้อน่อง
  • นอนยกขาสูง 15 นาที ทุก 2 ชั่วโมง
  • ใช้ชุดรัดกล้ามเนื้อตามคำสั่งของคุณหมอ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ป้องกันแผลเปิด และลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำ
  • หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้าระคายเคือง เช่น ขนสัตว์เลี้ยง หญ้า น้ำหอม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
  • อาบน้ำด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวสูตรอ่อนโยน หลังอาบน้ำให้ซับผิวหนังเบา ๆ ด้วยผ้าสะอาด และทามอยส์เจอไรเซอร์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อลดอาการบวมและกระตุ้นการไหลเวียนเลือด
  • จำกัดปริมาณเกลือที่กินในแต่ละวัน เพราะเกลืออาจส่งผลต่อการไหลเวียนเลือด
  • ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม
  • ตรวจสุขภาพร่างกายและผิวหนังเป็นประจำ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What Is Venous Stasis Dermatitis?. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/eczema/venous-stasis-dermatitis. Accessed August 23, 2021

Stasis Dermatitis. https://nationaleczema.org/eczema/types-of-eczema/stasis-dermatitis/. Accessed August 23, 2021

Stasis Dermatitis. https://emedicine.medscape.com/article/1084813-overview. Accessed August 23, 2021

Stasis Dermatitis. https://www.msdmanuals.com/professional/dermatologic-disorders/dermatitis/stasis-dermatitis. Accessed August 23, 2021

ECZEMA TYPES: STASIS DERMATITIS SELF-CARE. https://www.aad.org/public/diseases/eczema/types/stasis-dermatitis/self-care. Accessed August 23, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/08/2024

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาการแทรกซ้อนจากโรคผิวหนังอักเสบ

ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใส สาเหตุ อาการ และการรักษา


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 3 สัปดาห์ก่อน

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา