ลูปัสที่ผิวหนัง (Skin lupus หรือ cutaneous lupus) เป็นหนึ่งในโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ โรคพุ่มพวง เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ จนทำให้เกิดอาการทางผิวหนังต่าง ๆ เช่น ผื่นแดง แผลตกสะเก็ด อาการคัน ซึ่งในแต่ละคนอาการรุนแรงมากน้อยแตกต่างกัน บางรายรักษาหายได้แต่ในบางรายอาจกลับมาเป็นอีก
คำจำกัดความ
ลูปัสที่ผิวหนัง คืออะไร
ลูปัสที่ผิวหนัง (Skin lupus หรือ cutaneous lupus) เป็นหนึ่งในโรคแพ้ภูมิตัวเอง ที่เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ และสารแอนติบอดี้เข้าโจมตีเซลล์ผิวหนังที่แข็งแรงภาย ทำให้เกิดเป็นอาการทางผิวหนังต่าง ๆ เช่น ผื่นแดง แผลตกสะเก็ด อาการคัน
โรคลูปัสที่ผิวหนัง สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก ดังต่อไปนี้
- ผื่นดีสคอยด์ หรือผื่นดีแอลอี (Discoid lupus erythematosus) เป็นผื่นเรื้อรังที่มีลักษณะเป็นวงกลม มักพบในบริเวณหนังศีรษะและใบหน้า
- ผื่นชนิดกึ่งเฉียบพลัน (Subacute cutaneous lesions) เป็นผื่นที่มีลักษณะเป็นวงแหวน พร้อมอาการแผลตกสะเก็ด มักเกิดขึ้นในบริเวณที่โดนแสงแดด เช่น แขน มือ ใบหน้า ลำคอ ลำตัว แผลชนิดนี้มักจะไม่มีอาการคัน และไม่กลายเป็นแผลเป็น
- ผื่นชนิดเฉียบพลัน (Acute cutaneous lupus lesions) เป็นผื่นที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันเมื่อเริ่มมีอาการของโรคลูปัสที่ผิวหนัง มีลักษณะคือ เป็นผื่นแดงคล้ายกับโดนแดดเผา คล้ายกับผีเสื้อสีแดงที่แก้มทั้งสองข้าง
โรคลูปัสที่ผิวหนัง พบบ่อยแค่ไหน
โรคลูปัสที่ผิวหนังเป็นโรคที่ค่อนข้างหายาก แต่ผู้ป่วยโรคเอสแอลอีประมาณ 2 ใน 3 มักจะมีอาการของโรคลูปัสที่ผิวหนังร่วมด้วย นอกจากนี้ โรคนี้ยังพบได้มากในผู้หญิงวัยกลางคน ช่วง 20-50 ปี มากกว่าช่วงอายุอื่น ๆ
อาการ
อาการของโรคลูปัสที่ผิวหนัง
อาการทั่วไปของ โรคลูปัสที่ผิวหนัง มีดังนี้
- มีผื่นแดงบนผิวหนัง โดยเฉพาะในบริเวณที่โดนแสงแดด เช่น ใบหน้า แขน มือ ลำคอ ขา
- มีผื่นแดงรูปคล้ายผีเสื้อบริเวณแก้มและจมูก
- เกิดแผลตกสะเก็ด
- มีตุ่มพุพอง
- ผมร่วง
- มีแผลภายในปากและริมฝีปาก
- ผิวไวต่อแสงแดด
นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดข้อ ปวดหัว เหนื่อยล้า
ควรไปพบหมอเมื่อใด
หากสังเกตพบอาการทางผิวหนังที่ผิดปกติ เช่น ผื่นแดง แผลตกสะเก็ด ผื่นเรื้อรัง โดยเฉพาะสัมพันธ์กับการโดนแดด เช่นใบหน้า แขนด้านนอก หรือมีอาการอื่น ๆ ที่กล่าวมา ควรไปหาคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง และทำการรักษาต่อไป
สาเหตุ
สาเหตุของลูปัสที่ผิวหนัง
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของ โรคลูปัสที่ผิวหนัง แต่นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐษนว่า โรคนี้อาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติของยีน ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ และทำร้ายเซลล์ผิวหนังที่สุขภาพดีในร่างกายของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป เพื่อสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของ โรคลูปัสที่ผิวหนัง
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคลูปัสที่ผิวหนัง ได้แก่
- กรรมพันธุ์ภายในครอบครัว
- ความผิดปกติของฮอร์โมน
- ปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน
- ความเครียด
- แสงแดด
- การสูบบุหรี่
- สิ่งแวดล้อมและสภาพที่อยู่อาศัย
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยโรคลูปัสที่ผิวหนัง
การวินิจฉัยโรคลูปัสที่ผิวหนังค่อนข้างทำได้ยาก เนื่องจากอาการของโรคลูปัสที่ผิวหนังอาจมีความคล้ายคลึงกับโรคผิวหนังอื่น ๆ แต่คุณหมออาจขอตรวจตัวอย่างชิ้นส่วนผิวหนัง เพื่อตรวจคัดกรองโรคผิวหนังอื่น ๆ ที่อาจเป็นไปได้นอกจากนี้ อาจตรวจสุขภาพด้านอื่น ๆ เช่น ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด ร่วมด้วยเช่นกัน
การรักษาโรคลูปัสที่ผิวหนัง
คุณหมออาจพิจารณาให้ผู้ป่วยใช้ยาที่รักษาอาการทางผิวหนัง ดังต่อไปนี้
- ยาคอติโคสเตอรอยด์ (corticosteroids)
- ยาปรับภูมิคุ้มกัน (Immune modulators) เช่น เมโธเทรกเซท (methotrexate)
- ยาต้านมาลาเรีย
นอกจากนี้ ในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงแสงแดด สวมเสื้อแขนยาว สวมหมวก และทาครีมกันแดดที่มีค่า spf สูง ๆ เมื่อต้องเผชิญแสงแดด
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับ โรคลูปัสที่ผิวหนัง
การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์เหล่านี้ อาจช่วยให้อาการโรคลูปัสที่ผิวหนังดีขึ้นหรือไม่แย่ลงกว่าเดิม ได้แก่
- หลีกเลี่ยงแสงแดด พยายามปกป้องผิวจากแสงแดด ไม่ว่าจะเป็นการทาครีมกันแดด สวมเสื้อแขนยาว ขายาว สวมแว่นกันแดด สวมหมวก และพยายามอยู่ในที่ร่ม เพื่อลดโอกาสที่แสงแดดจะโดนผิวหนังให้มากที่สุด
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่อ่อนโยนต่อผิว ผิวของผู้ป่วยโรคลูปัสที่ผิวหนังมักจะบอบบางกว่าปกติ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงสารเคมีที่อาจทำให้เกิดความระคายเคือง ทั้งน้ำหอม สบู่แรง ๆ รวมไปจนถึงผงซักฟอก ควรเลือกสูตรที่อ่อนโยนต่อผิวและไม่ทำให้เกิดความระคายเคือง
- เลิกสูบบุหรี่ เพราะสารนิโคตินในบุหรีเป็นตัวการทำลายผิวหนังและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้อ่อนแอลง
- จัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ
[embed-health-tool-heart-rate]