ผิวไหม้แดด เป็นภาวะผิวหนังอักเสบที่เกิดจากรังสียูวีเอและยูวีบีในแสงแดดทำลายผิวชั้นนอก โดยปกติ อาการผิวไหม้แดดจะเกิดขึ้นประมาณ 2-6 ชั่วโมงหลังโดนแดด แต่บางคนอาจแสดงอาการหลังจากโดนแสงแดดเพียง 30 นาทีเท่านั้น อาการผิวไหม้แดดที่พบบ่อย เช่น ผิวหนังแดง ระคายเคือง แสบร้อนบริเวณที่ผิวไหม้ หากผิวไหม้แดดรุนแรงอาจทำให้ผิวหนังบวม เป็นแผลพุพอง รวมถึงมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไว้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ทั้งยังอาจทำให้ผิวแก่เร็ว และอาจนำไปสู่โรคมะเร็งผิวหนังได้
ผิวไหม้แดด คืออะไร
ผิวไหม้แดด (Sunburn) เป็นภาวะผิวหนังอักเสบที่เกิดจากรังสียูวีเอและยูวีบีทำลายผิวหนังชั้นนอก ทำให้ผิวหนังแดง แสบร้อน ระคายเคือง หากผิวไหม้แดดรุนแรงอาจบวม เป็นแผลพุพอง รวมถึงมีอาการคล้ายไข้หวัด คือ หนาวสั่น คลื่นไส้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ร่วมด้วย โดยทั่วไป อาการผิวไหม้แดดจะเกิดหลังโดนแดดประมาณ 2-6 ชั่วโมง แต่บางคนอาจมีอาการปรากฏให้เห็นหลังโดนแดดเพียง 30 นาที และอาการเจ็บแสบจะรุนแรงที่สุดในช่วง 6-48 ชั่วโมงหลังโดนแดด
หลังจากที่ผิวไหม้แดดประมาณ 2-3 วัน จะมีอาการคันผิวหนังและผิวหนังอาจลอก ซึ่งถือเป็นกระบวนการในการเยียวยาตัวเอง และกำจัดเซลล์ผิวหนังที่ถูกทำลายของร่างกาย ส่วนใหญ่กระบวนการนี้จะใช้เวลาประมาณ 3-8 วัน แต่บางครั้งก็อาจยาวนานหลายสัปดาห์ ในช่วงนี้ ควรปล่อยให้ผิวลอกออกเองตามธรรมชาติ อย่าพยายามดึง ลอก หรือขัดผิวโดยเด็ดขาด
ความรุนแรงของอาการผิวไหม้แดดขึ้นอยู่กับสภาพผิว ระดับความเข้มของแสงแดด และระยะเวลาที่ผิวหนังสัมผัสกับแสงแดด โดยปกติแล้ว ผิวหนังจะมีเมลานิน (Melanin) หรือเม็ดสีผิวคอยทำหน้าที่ปกป้องผิวหนังจากแสงแดด ด้วยการทำให้ผิวคล้ำขึ้นเมื่อโดนแดด ซึ่งร่างกายจะผลิตเมลานินได้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ ผู้ที่มีเมลานินน้อย ผิวขาวมาก เวลาโดนแดดผิวอาจไหม้ได้ง่าย ในขณะที่บางคนมีเมลานินมากกว่า หรือผิวเข้มกว่า พอโดนแดดผิวอาจคล้ำขึ้น และไม่ค่อยเกิดอาการไหม้
ทั้งอาการผิวไหม้แดดและอาการผิวคล้ำจากแสงแดด ล้วนเป็นสัญญาณว่าเซลล์ผิวหนังถูกทำลาย และหากปล่อยให้ผิวโดนแดดบ่อย ๆ โดยไม่ป้องกัน จะทำให้ผิวแก่เร็ว ผิวแห้ง เหี่ยวย่น เกิดฝ้ากระ จุดด่างดำ ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง เช่น โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเบซาลเซลล์ (Basal cell carcinoma หรือ BCC) โรคมะเร็งผิวหนังชนิดสะความัส (Squamous Cell Carcinoma หรือ SCC) รวมถึงโรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Melanoma) ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
ผิวไหม้แดดกับโรคมะเร็งผิวหนัง
ผิวไหม้แดด รังสียูวี และโรคมะเร็งผิวหนังนั้นเกี่ยวข้องกัน ซึ่งความเกี่ยวข้องกันอาจมีดังนี้
- สำหรับคนที่ผิวขาว โดยเฉพาะคนที่มีความบกพร่องทางพันธุกรรม หากปล่อยให้ผิวไหม้แดดบ่อย ๆ อาจนำไปสู่โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Melanoma) ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต ผลการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า รังสียูวีที่ทำลายผิวหนังสามารถทำให้กลุ่มยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญของเซลล์ (Tumor suppressor gene) เปลี่ยนแปลงไป จนเซลล์ที่ได้รับบาดเจ็บซ่อมแซมตัวเองได้น้อยลง จึงเสี่ยงเป็นมะเร็งมากขึ้น
- หากทำงานหรือเล่นกีฬากลางแจ้งเป็นประจำ ก็จะยิ่งเสี่ยงเกิดอาการผิวไหม้แดด และโรคมะเร็งผิวหนัง
- หากผิวหนังไหม้แดดขั้นรุนแรงจนเป็นแผลพุพองแค่ครั้งเดียว ไม่ว่าจะเป็นในวัยเด็กหรือวัยผู้ใหญ่ ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมาได้ถึงสองเท่า
- ยิ่งปล่อยให้ผิวไหม้แดด ผิวหนังก็จะยิ่งถูกทำลาย ส่งผลให้เสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังมากขึ้น และต่อให้ผิวไม่ไหม้แดดจนสังเกตได้ชัด ก็ไม่ได้หมายความว่าผิวหนังจะไม่ถูกทำลายจากแสงแดด
- หากเกิดอาการผิวไหม้แดดตั้งแต่ 5 ครั้งขึ้นไป จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมาได้ถึงสองเท่า
ผู้ที่เสี่ยงเกิดปัญหาผิวไหม้แดด
อาการผิวไหม้แดดสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่หากมีภาวะหรือพฤติกรรมเหล่านี้ ก็จะยิ่งเสี่ยงมากขึ้น
- ผิวขาว นัยน์ตาสีอ่อน
- ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งบ่อยๆ
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ผิวโดนแดด หรือได้รับรังสียูวีบ่อยโดยไม่ได้ป้องกัน
- ใช้ยาที่มีคุณสมบัติเป็นสารไวแสง (Photosensitizing Medication) เช่น ฟีโนไทอาซีน (Phenothiazines) ซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides) เตตราไซคลีน (Tetracyclines)
วิธีดูแลผิวไหม้แดด
- รีบหลีกให้ไกลจากแสงแดดโดยเร็ว
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อให้ร่างกายเย็นลง ป้องกันภาวะขาดน้ำ และช่วยให้ผิวชุ่มชื้น
- ไม่เกา ขัด หรือลอกผิวหนังบริเวณที่ไหม้แดด หรือหากผิวไหม้แดดจนเป็นแผลพุพอง ห้ามแกะหรือเจาะแผลเด็ดขาด เพราะอาจทำให้แผลติดเชื้อได้
- ทำให้ผิวหนังเย็นขึ้น ด้วยการใช้ผ้าเย็น ๆ ประคบผิว อาบน้ำเย็น หรือแช่น้ำเย็น แต่อย่าให้นานเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้ผิวแห้ง ระคายเคือง หากเป็นเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก อาจต้องระวังร่างกายเย็นเกินไปด้วย เพราะจะทำให้เป็นหวัดได้ และห้ามใช้น้ำแข็งถูที่ผิวหนังโดยตรง หรือประคบด้วยถุงน้ำแข็งเด็ดขาด
- ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่มีส่วนผสมของว่านหางจระเข้ ถั่วเหลือง ในขณะที่ผิวยังเปียกหมาด ๆ เพื่อช่วยปลอบประโลมผิวไหม้เสียจากแดด และทำให้ผิวชุ่มชื้นขึ้น แต่ห้ามใช้ครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของน้ำมัน หรือปิโตรเลียมเจล ทาบริเวณที่ผิวไหม้แดด
- ทายาหรือครีมไฮโดรคอร์ติโซน หรือไทรแอมซิโนโลน เพื่อบรรเทาอาการคันและอาการอักเสบ แต่ครีมเหล่านี้มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ จึงควรใช้ภายใต้การดูแลของคุณหมอ และไม่ควรใช้ติดต่อกันเกินหนึ่งสัปดาห์ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรไปพบคุณหมอผิวหนังทันที
- กินยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน
- หากจำเป็นต้องออกแดด ควรปกป้องผิวบริเวณที่ไหม้แดดอยู่ให้ดี สวมใส่เสื้อผ้าที่เนื้อผ้าค่อนข้างหนา แสงแดดส่องทะลุผ่านได้ยาก และควรหลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้ารัดรูปปิดทับบริเวณที่ผิวไหม้แดดด้วย
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
- ผิวหนังบวม หรือเป็นแผลพุพองรุนแรง
- อุณหภูมิร่างกายสูง ตัวร้อน หรือหนาวสั่น
- รู้สึกวิงเวียน อ่อนเพลีย
- ปวดศีรษะ และเป็นตะคริว
- มีสัญญาณของภาวะช็อก เช่น ความดันโลหิตต่ำ หมดสติ อ่อนเพลียรุนแรง
- รักษาแล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน
อาการผิวไหม้แดดรุนแรงอาจนำไปสู่โรคเพลียความร้อน (Heat exhaustion) และโรคลมความร้อน หรือโรคฮีตสโตรก (Heat stroke) ที่มักเรียกกันว่าโรคลมแดด ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะกับเด็กและผู้สูงอายุ
วิธีป้องกันผิวไหม้ คล้ำเสียจากแดด
วิธีดูแลผิวดังต่อไปนี้ อาจช่วยปกป้องผิวจากแสงแดดและช่วยป้องกันผิวไหม้แดดได้
- หลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วง 10 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น เพราะเป็นช่วงที่แดดแรงที่สุด หากจำเป็นต้องออกไปข้างนอก หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเวลาดังกล่าว ควรหลบแดดและอยู่ในที่ร่มให้ได้มากที่สุด
- สวมใส่เครื่องแต่งกายที่ช่วยปกป้องผิวจากแสงแดด เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว หมวกปีกกว้าง สวมแว่นตากันแดด เสื้อผ้าควรเลือกที่เนื้อผ้าหนา แสงแดดส่องไม่ทะลุ หรือเสื้อผ้าที่เคลือบสารป้องกันยูวี
- ทาครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ (SPF) 30 ขึ้นไป เป็นประจำทุกวัน โดยทาก่อนออกแดดอย่างน้อย 30 นาที และทาซ้ำทุกๆ 2 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น หากเหงื่อออกมาก หรือทำกิจกรรมทางน้ำ
- หากต้องใช้ยาที่ทำให้ผิวไวต่อแสง เช่น ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮิสตามีน (Antihistamines) ยาต้านซึมเศร้า ยาปฏิชีวนะบางชนิด ยาลดไขมันในเลือดบางชนิด ก็ยิ่งต้องปกป้องผิวจากแสงแดดให้ดี หรืออาจปรึกษาคุณหมอเพื่อเปลี่ยนยา หรือปรับขนาดยา โดยไม่ให้กระทบต่อการรักษาโรค
[embed-health-tool-heart-rate]