วิธีรักษาเมื่อเป็นไข้ออกตุ่ม
วิธีรักษาเมื่อเป็นไข้ออกตุ่ม อาจทำได้ดังนี้
การรักษาด้วยยา
จุดมุ่งหมายในการรักษาอาการไข้ออกตุ่ม คือ การบรรเทาตุ่ม ผดผื่น และอาการคันที่ผิวหนัง คุณหมออาจสั่งยาให้ทายาลดอาการคันแบบโลชั่นหรือครีม เช่น ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ โลชั่นคาลาไมน์ (Calamine Lotion) ร่วมกับการรับประทานยาบรรเทาปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Anti-inflammatory drugs) ที่ช่วยลดไข้และบรรเทาอาการปวดเนื้อตัว
การดูแลตัวเอง
การดูแลตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้ ร่วมกับการใช้ยาตามที่คุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด อาจช่วยให้อาการไข้ออกตุ่มหายเร็วขึ้น
- ประคบผิวหนังด้วยผ้าชุบน้ำเย็นบิดหมาด เป็นเวลา 15-30 นาที สามารถทำวันละหลาย ๆ ครั้งได้
- หมั่นเช็ดตัวบ่อย ๆ เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย และควรเช็ดอย่างเบามือเพื่อไม่ให้ผิวหนังระคายเคือง
- ไม่แกะเกาผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อ เพราะอาจทำให้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นและเกิดแผลเป็นได้
อาการไข้ออกตุ่มอาจบรรเทาลงภายในไม่กี่วันหรือ 1-2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัสที่ติดเชื้อ และระยะเวลาในการติดเชื้อ
วิธีป้องกันไข้ออกตุ่ม
ไข้ออกตุ่มอาจป้องกันได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสกับดวงตา จมูก ปาก ที่อาจเป็นช่องทางให้ไวรัสเข้าสู่ร่างกาย
- ทำความสะอาดพื้นผิวที่ใช้งานร่วมกับผู้อื่นบ่อย ๆ เช่น ลูกบิดประตู ก๊อกน้ำ เคาน์เตอร์
- รับวัคซีนป้องกันไวรัสชนิดต่าง ๆ
- รักษาระยะห่างจากผู้ที่ติดเชื้อไวรัส และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับของใช้ของผู้ป่วย
- ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะก่อนประกอบอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังใช้ห้องน้ำ
วิธีป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสไปยังผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่ไม่ติดเชื้อ
- สวมหน้ากากอนามัยปิดจมูกและปาก
- ปิดปากและจมูกเมื่อไอจาม เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
- ในระหว่างติดเชื้อ ควรกักตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
หากรักษาและดูแลตัวเองด้วยวิธีข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด
- มีไข้สูง
- มีหนองไหลออกจากตุ่ม
- มีอาการปวดหรือบวมบริเวณผิวหนัง
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย