backup og meta

ไข้เลือดออก อาการ สาเหตุ การรักษา และการป้องกัน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 13/05/2022

    ไข้เลือดออก อาการ สาเหตุ การรักษา และการป้องกัน

    ไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) ที่มียุงลายเป็นพาหะ หลังจากที่ถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกีกัดประมาณ 5-8 วัน อาจจะเริ่มมีอาการของไข้เลือดออก เช่น มีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน  ไข้เลือดออกพบได้มากในพื้นที่เขตร้อนชื้นซึ่งอาจพบการแพร่กระจายของยุงลายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในฤดูฝน ที่มักมีแหล่งน้ำขังซึ่งอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ที่ดีสำหรับยุง ดังนั้น หากทราบวิธีกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายก็อาจช่วยป้องกันไม่ให้เป็นไข้เลือดออกได้ 

    ไข้เลือดออก คืออะไร 

    ไข้เลือดออก คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งเชื้อไวรัสเดงกีมีอยู่ด้วยกัน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ เดงกี-1 เดงกี-2 เดงกี-3 และเดงกี-4 หากยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกีไปกัดคน เชื้อไวรัสก็จะเข้าสู่กระแสเลือด และอาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกได้ โดยทั่วไป อาการของไข้เลือดออกมักจะแสดงให้เห็นหลังจากได้รับเชื้อจากยุงลายประมาณ 5-8 วัน ไข้เลือดออกสามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัยและพบได้ตลอดทั้งปี แต่ส่วนใหญ่มักพบในช่วงฤดูฝน เนื่องจากมักมีน้ำขังที่เป็นเหมือนแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย 

    อาการไข้เลือดออก 

    อาการที่พบได้ทั่วไปของโรคไข้เลือดออก อาจมีดังนี้

  • มีไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส หรือบางครั้งอาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส
  • มีผื่นแดงหรือจ้ำเลือดใต้ผิวหนัง
  • ปวดศีรษะ 
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดท้อง
  • คลื่นไส้ อาเจียน 
  • เบื่ออาหาร
  • ปัสสาวะหรืออุจจาระมีเลือดปน
  • ควรไปพบคุณหมอเมื่อไหร่ 

    หากมีอาการอาเจียนบ่อยครั้ง ปวดท้องรุนแรง มีเลือดกำเดาไหลหรือเลือดออกตามไรฟัน หายใจลำบาก กระสับกระส่าย ควรรีบไปพบคุณหมอ เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของไข้เลือดออกที่รุนแรงและอาจส่งผลต่อชีวิตได้ 

    สาเหตุไข้เลือดออก 

    ไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มียุงลายเพศเมียที่มีเชื้อไวรัสเดงกีชนิดใดชนิดหนึ่งจากทั้งหมด 4 ชนิดเป็นพาหะนำโรค หากยุงลายดูดเลือดผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี เชื้อจะเข้าไปฝังตัวภายในกระเพาะอาหารและต่อมน้ำลายของยุงลายและจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 8-12 วัน เมื่อยุงลายที่มีเชื้อไวรัสไปกัดคนอื่นต่อก็อาจทำให้โรคไข้เลือดออกแพร่กระจายได้

    ปัจจัยเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดไข้เลือดออก

    • อยู่ใกล้แหล่งแม่น้ำ ลำคลอง บึง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
    • เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการรุนแรงขึ้นหากเป็นไข้เลือดออกอีกครั้ง 

    การวินิจฉัยและการรักษา

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยไข้เลือดออก 

    คุณหมออาจวินิจฉัยด้วยการซักประวัติว่ามีความเสี่ยงในการเกิดไข้เลือดออกหรือไม่ เช่น อยู่ในบริเวณที่มีการระบาดของไข้เลือดออกหรือไม่ รวมถึงการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด การตรวจภูมิคุ้มกันต้านไข้เลือดออก (IgM) การตรวจ RT-PCR เพื่อหาเชื้อไวรัสเดงกี การตรวจ NS1 ซึ่งเป็นการทดสอบโปรตีนของไวรัสไข้เลือดออก 

    การรักษาไข้เลือดออก 

    ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคไข้เลือดออกโดยเฉพาะ การรักษาอาจเป็นไปแบบประคับประคองหรือรักษาตามอาการ เพื่อให้ร่างกายของผู้ป่วยกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว โดยคุณหมออาจให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการไข้และปวดเมื่อยตามร่างกาย อย่างไรก็ตาม ห้ามรับประทานยากลุ่ม NSAID เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน เพราะอาจทำให้เลือดออกง่ายหรือเลือดออกมากขึ้นได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรพักผ่อนและดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ หากมีอาการแย่ลงควรรีบไปพบคุณหมอทันที เพื่อตรวจหาภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ภาวะช็อก ภาวะเลือดออกรุนแรง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับไลฟ์สไตล์บางอย่างอาจเป็นวิธีที่อาจช่วยป้องกันการเป็นไข้เลือดออกได้ โดยวิธีป้องกันการโดนยุงกันอาจมีดังนี้ 

    • ใส่เสื้อแขนยาว ขายาว และอยู่ในที่มีแสงสว่างมากเพียงพอ 
    • หากอยู่ในสถานที่ที่มืดหรือแสงสว่างไม่เพียงพอ ควรทายากันยุง หรือจุดยากันยุง เพื่อป้องกันยุงกัด 
    • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น หมั่นเปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้ ชามน้ำดื่มของสัตว์เลี้ยง ปิดฝาภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิด หรือจับคว่ำไม่ให้มีน้ำขัง
    • ฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก อาจช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ สำหรับผู้ที่มีอายุ 9-45 ปีที่เคยเป็นโรคไข้เลือดออก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 13/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา