backup og meta

ตับอ่อนอักเสบ อาการ สาเหตุ วิธีวินิจฉัยและวิธีรักษา

ตับอ่อนอักเสบ อาการ สาเหตุ วิธีวินิจฉัยและวิธีรักษา

ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) เป็นภาวะที่ตับอ่อนซึ่งทำหน้าที่หลั่งเอนไซม์ที่ช่วยย่อยอาหารไปยังลำไส้เล็ก ปล่อยฮอร์โมนอินซูลิน และกลูคากอนเพื่อควบคุมการย่อยน้ำตาล (กลูโคส) เกิดการบวมและอักเสบ จนส่งผลต่อการหลั่งเอนไซม์และฮอร์โมนดังกล่าว หากปล่อยไว้ไม่รักษา อาจส่งผลเสียร้ายแรงต่อร่างกายได้

[embed-health-tool-bmi]

ตับอ่อนอักเสบ คืออะไร

ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) เป็นภาวะที่ตับอ่อนบวมและอักเสบ โดยตับอ่อนเป็นต่อมลักษณะยาวแบน ตั้งอยู่ด้านหลังกระเพาะอาหารในช่องท้องส่วนบน ทำหน้าที่หลั่งเอนไซม์ที่ช่วยย่อยอาหารไปยังลำไส้เล็ก และปล่อยฮอร์โมนอินซูลินและกลูคากอนเพื่อควบคุมการย่อยน้ำตาลกลูโคส ภาวะนี้พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย

ตับอ่อนอักเสบมี 2 ชนิด ได้แก่

  1. ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (Acute pancreatitis)

เป็นการอักเสบที่เกิดขึ้นกะทันหัน อาจเริ่มจากอาการปวดเล็กน้อยไปจนถึงปวดรุนแรง และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันก็อาจหายขาดได้ ส่วนในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ตับอ่อนเฉียบพลันอาจทำให้เกิดเลือดออกในตับอ่อน เนื้อเยื่อเสียหายรุนแรง การติดเชื้อ และเกิดถุงน้ำ ทั้งยังอาจทำลายอวัยวะสำคัญอื่นๆ เช่น หัวใจ ปอด ไต

2. ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง (Chronic pancreatitis)

เป็นการอักเสบของตับอ่อนที่เกิดขึ้นเป็นเวลานาน มักเกิดขึ้นหลังจากตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน มักมีสาเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก จนทำให้ตับอ่อนเสียหาย อาจใช้เวลาหลายปีกว่าอาการจะปรากฏ และอาจทำให้เกิดอาการตับอ่อนอักเสบรุนแรงเฉียบพลันในเวลาต่อมา

อาการตับอ่อนอักเสบ

อาการตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ได้แก่

  • อาการปวดบริเวณช่องท้องส่วนบนที่ลุกลามไปยังหลัง และมีอาการแย่ลงหลังจากการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง
  • ท้องบวมและกดเจ็บ
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • มีไข้
  • หัวใจเต้นเร็วขึ้น

อาการตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ได้แก่

อาการตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง คล้ายคลึงกับอาการตับอ่อนเฉียบพลัน แต่อาจมีอาการอื่นๆ คือ น้ำหนักลดลง ซึ่งเกิดจากการดูดซึมอาหารได้น้อย เพราะตับอ่อนปลดปล่อยเอนไซม์เพื่อย่อยอาหารได้ไม่เพียงพอ นอกจากนี้ หากเซลล์ที่สังเคราะห์อินซูลินของตับอ่อนได้รับความเสียหาย ก็อาจทำให้เกิดโรคเบาหวานได้ด้วย

ควรไปพบหมอเมื่อใด

หากมีอาการปวดท้องเรื้อรัง หรือมีอาการปวดท้องรุนแรงมาก จนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบไปพบคุณหมอ

สาเหตุของตับอ่อนอักเสบ

โรคตับอ่อนอักเสบ อาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • โรคพิษสุราเรื้อรัง
  • นิ่วในถุงน้ำดี
  • การผ่าตัดบางประเภท
  • การใช้ยาบางชนิด
  • การสูบบุหรี่
  • โรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic fibrosis)
  • การรักษานิ่วในถุงน้ำดี ด้วยวิธีส่องกล้องตรวจรักษาท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน
  • ประวัติครอบครัวเคยเป็นตับอ่อนอักเสบ
  • ระดับแคลเซียมในเลือดสูง ซึ่งอาจเกิดจากภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน
  • ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
  • การติดเชื้อ
  • การบาดเจ็บในช่องท้อง
  • โรคมะเร็งตับอ่อน

ปัจจัยเสี่ยงของตับอ่อนอักเสบ

ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคตับอ่อนอักเสบ เช่น

  • การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นเวลานาน
  • โรคทางพันธุกรรมบางอย่าง เช่น โรคซิสติกไฟโบรซิส
  • นิ่วในถุงน้ำดี
  • ภาวะสุขภาพอื่น ๆ เช่น ไตรกลีเซอไรด์สูง โรคลูปัส (Lupus)

การวินิจฉัยและการรักษาโรคตับอ่อนอักเสบ

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยตับอ่อนอักเสบ

นอกจากการซักประวัติและการตรวจร่างกายโดยละเอียดแล้ว คุณหมอจะตรวจเลือดเพื่อช่วยในการวินิจฉัย เพราะในระหว่างที่เป็นตับอ่อนเฉียบพลัน เลือดจะมีส่วนประกอบของเอนไซม์อะไมเลส และเอนไซม์ไลเปส ซึ่งเป็นเอนไซม์ช่วยย่อยอาหารที่สร้างขึ้นในตับอ่อนเพิ่มขึ้นจากปกติ 3 เท่า ความเปลี่ยนแปลงยังอาจเกิดขึ้นกับสารเคมีในร่างกายชนิดอื่นๆ เช่น กลูโคส แคลเซียม แมกนีเซียม โซเดียม โพแทสเซียม ไบคาร์บอเนต เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ระดับเอนไซม์ดังกล่าวมักกลับคืนสู่ระดับปกติ

การวินิจฉัยตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันมักเป็นเรื่องยากเนื่องจากตับอ่อนอยู่ในบริเวณที่ลึกลงไป คุณหมอจึงอาจต้องใช้วิธีต่อไปนี้ด้วย

  • การอัลตราซาวด์ช่องท้อง
  • การตรวจซีทีสแกน
  • การส่องกล้องและอัลตราซาวด์ทางเดินอาหาร
  • การตรวจระบบทางเดินน้ำดีด้วยเอ็มอาร์ไอ

การรักษาตับอ่อนอักเสบ

ผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบมักจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เมื่ออาการของผู้ป่วยเริ่มคงที่และควบคุมการอักเสบในตับอ่อนได้แล้ว คุณหมอจึงจะสามารถรักษาสาเหตุที่ทำให้ตับอ่อนอักเสบได้

การรักษาเบื้องต้นเพื่อช่วยควบคุมและบรรเทาอาการโรคตับอ่อนอักเสบ อาจมีดังนี้

  • คุณหมอจะให้ผู้ป่วยหยุดรับประทานอาหารเป็นเวลา 2 วัน เพื่อให้ตับอ่อนฟื้นตัว เมื่อเริ่มบรรเทาอาการอักเสบได้แล้ว อาจเริ่มดื่มน้ำและรับประทานอาหารรสจืดได้ และเมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยจะสามารถกลับไปรับประทานอาหารได้ตามปกติ หากตับอักเสบมีอาการเรื้อรังและผู้ป่วยยังคงมีอาการปวดเมื่อรับประทานอาหาร คุณหมออาจให้ใช้สายให้อาหาร เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารตามที่ร่างกายต้องการ
  • ยาแก้ปวด ตับอ่อนอักเสบสามารถทำให้เกิดอาการปวดที่รุนแรงได้ การให้ยาแก้ปวดอาจช่วยควบคุมอาการปวดที่เกิดขึ้นได้
  • การให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ ในขณะที่ร่างกายใช้พลังงานและของเหลวสำหรับฟื้นฟูตับอ่อนอาจมีภาวะขาดน้ำได้ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับการให้น้ำเกลือเพิ่มเติมทางหลอดเลือดดำในระหว่างการพักในโรงพยาบาล

เมื่อควบคุมอาการของตับอ่อนอักเสบได้แล้ว จึงจะสามารถรักษาสาเหตุของตับอ่อนอักเสบได้ โดยการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดตับอ่อนอักเสบ เช่น

  • การผ่าตัดนำสิ่งอุดกั้นท่อน้ำดีออกไป
  • การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี
  • การผ่าตัดตับอ่อน
  • การบำบัดอาการติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ตับอ่อนอักเสบเรื้อรังอาจต้องการการรักษาเพิ่มเติม โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของผู้ป่วยแต่ละราย การรักษาอื่น ๆ สำหรับตับอ่อนอักเสบเรื้อรังอาจได้แก่

  • การจัดการอาการปวด
  • การผ่าตัด
  • การเสริมเอนไซม์ต่าง ๆ ที่ช่วยในการย่อยอาหาร
  • การเปลี่ยนแปลงอาหาร

การดูแลตัวเองเพื่อรับมือและป้องกันตับอ่อนอักเสบ

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองดังต่อไปนี้ อาจช่วยจัดการกับโรคตับอ่อนอักเสบ และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ได้

  • เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากไม่สามารถเลิกดื่มได้ด้วยตัวเอง ควรขอความช่วยเหลือจากคุณหมอหรือนักบำบัด เพื่อให้ได้รับคำแนะนำหรือโปรแกรมเฉพาะเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้
  • เลิกสูบบุหรี่ หากไม่สามารถเลิกได้ด้วยตัวเอง ควรขอความช่วยเหลือจากคุณหมอหรือนักบำบัด
  • รับประทานอาหารไขมันต่ำ และเน้นรับประทานผักสด ผลไม้สด ธัญพืชเต็มเมล็ด และโปรตีนปราศจากไขมัน
  • ดื่มน้ำให้มากขึ้น เนื่องจากตับอ่อนอักเสบสามารถทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้ ควรดื่มน้ำให้มากขึ้นตลอดทั้งวัน โดยอาจพกขวดน้ำหรือแก้วน้ำติดตัวเสมอ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Pancreatitis. http://www.healthline.com/health/pancreatitis#Overview1. Accessed October 3, 2016.

Pancreatitis. https://medlineplus.gov/pancreatitis.html. Accessed October 3, 2016.

Pancreatitis. https://www.niddk.nih.gov/health-information/health-topics/liver-disease/pancreatitis/Pages/facts.aspx. Accessed October 3, 2016.

Pancreatitis. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/pancreatitis/basics/definition/con-20028421. Accessed October 3, 2016.

What Is Pancreatitis? http://www.webmd.com/digestive-disorders/digestive-diseases-pancreatitis#1. Accessed October 3, 2016.

เวอร์ชันปัจจุบัน

22/03/2023

เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคตับแข็ง

ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (Acute Pancreatitis)


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 22/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา