ทั้งนี้ สาเหตุของภาวะขาดประจำเดือน อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
- ภาวะสุขภาพของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ เช่น การตั้งครรภ์ วัยทอง
- ไลฟ์สไตล์ที่ไม่สมดุล เช่น มีภาวะเครียด การออกกำลังกายอย่างหนัก
- ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น ผลข้างเคียงหลังหยุดรับประทานยาคุมกำเนิด
- ความไม่สมดุลของฮอร์โมน เนื่องจากภาวะสุขภาพต่าง ๆ เช่น ถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์
การรักษาภาวะขาดประจำเดือน
เนื่องจากภาวะขาดประจำเดือน เกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้น เมื่อไปพบคุณหมอ อาจได้รับการวินิจฉัยและรักษาตามอาการ เช่น หากขาดประจำเดือนเพราะความเครียด คุณหมออาจแนะนำให้ปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเครียด และทำให้ประจำเดือนกลับมาเป็นตามปกติ
อย่างไรก็ตาม ในกรณีขาดประจำเดือนเนื่องจากโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ คุณหมอจะรักษาด้วยการให้บริโภคยาหรือฮอร์โมนทดแทน เพื่อปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกายที่ผิดปกติเนื่องจากอาการป่วย
นอกจากนั้น ในกรณีที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) คุณหมออาจให้รับประทานยาปฏิชีวนะ หรือไอโอดีนรังสี เพื่อช่วยบรรเทาอาการป่วยให้ทุเลาลง
ทั้งนี้ หากเกิดภาวะขาดประจำเดือนเนื่องจากการตั้งครรภ์ หรือการหยุดใช้ยาคุมกำเนิด ไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะหลังผ่านไประยะหนึ่งประจำเดือนจะกลับมาตามปกติ โดยในกรณีตั้งครรภ์ ประจำเดือนอาจกลับมาภายใน 6-8 สัปดาห์หลังจากคลอดบุตรแล้ว ในกรณีที่หยุดใช้ยาคุม เลือดประจำเดือนจะกลับมาไหลตามปกติ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน
-
กลุ่มอาการ PMS และ PMDD
PMS ย่อมาจาก Premenstrual Syndrome หมายถึง กลุ่มอาการที่มักพบช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย รวมถึงสารเคมีในสมอง
โดยทั่วไป อาการที่พบได้ ประกอบด้วย
- อาการทางร่างกาย เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อต่อ ปวดหัว อ่อนเพลีย เจ็บเต้านม ท้องผูก ท้องเสีย น้ำหนักเพิ่ม
- อาการทางอารมณ์ เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน หงุดงิดง่าย อยากอาหาร ไม่อยากเข้าสังคม จดจ่อกับสิ่งตรงหน้าได้ยากขึ้น หลับยาก
ทั้งนี้ กลุ่มอาการ PMS สามารถพบได้บ่อย ในอัตรา 75 เปอร์เซ็นต์ ของผู้หญิงทั้งหมด โดย PMS ที่มีอาการรุนแรงกว่าปกติ จะเรียกว่า PMDD หรือ Premenstrual Dysphoric Disorder พบได้น้อยกว่า PMS หรือในอัตรา 3-8 เปอร์เซ็นต์ ของผู้หญิงทั้งหมดเท่านั้น
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย