ช่องคลอด ติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial vaginosis) เป็นการติดเชื้อในช่องคลอดที่ไม่รุนแรง เกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียที่มีอยู่ในช่องคลอดเสียสมดุล แม้การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดจะไม่ใช่การติดเชื้อที่รุนแรง แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็อาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนที่อันตรายได้ อย่างไรก็ตาม หากสังเกตอาการเบื้องต้นของ ช่องคลอดติดเชื้อแบคทีเรีย ก็อาจช่วยให้สามารถเข้ารับการรักษาได้ทัวท่วงที
[embed-health-tool-ovulation]
ภาวะแทรกซ้อนจาก ช่องคลอด ติดเชื้อแบคทีเรีย
แม้การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดจะพบได้ทั่วไปในผู้หญิงวัย 18-44 ปี แต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา ก็อาจนำไปสู่โรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงบางชนิดได้ เช่น
- มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีได้ง่ายขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงในการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นเพิ่มขึ้น เช่น โรคหนองในเทียม โรคหนองในแท้
- หากเข้ารับการผ่าตัด เช่น การตัดมดลูก การทำแท้ง ก็จะเสี่ยงติดเชื้อหลังผ่าตัดมากขึ้น
- เสี่ยงเป็นโรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น เช่น การคลอดก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย
- เสี่ยงเกิดภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่มดลูกและท่อนำไข่ ที่จะนำไปสู่การมีบุตรยาก
ช่องคลอดติดเชื้อแบคทีเรีย มีอาการอะไรบ้าง
ควรดูแลช่องคลอดเป็นประจำ เพื่อป้องกันไม่ให้เสี่ยงต่อช่องคลอดติดเชื้อแบคทีเรีย และควรรีบไปพบคุณหมอทันทีเพื่อทำการรักษา
ตกขาวผิดปกติ
อาการทั่วไปที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด คือ ตกขาวมีกลิ่น แบคทีเรียในช่องคลอดมักมาพร้อมกับตกขาวสีเทาหรือสีเข้ม บางครั้งช่องคลอดอาจมีกลิ่นคาวปลา ซึ่งกลิ่นอาจแย่กว่าเดิมหลังจากมีเพศสัมพันธ์ นอกจากตกขาวผิดปกติแล้ว บางครั้งการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดก็อาจทำให้รู้สึกคันในช่องคลอดได้ด้วย
รู้สึกแสบขณะปัสสาวะ
ผู้หญิงบางคนรู้สึกแสบขณะปัสสาวะ ความรู้สึกเจ็บปวดอาจเริ่มตั้งแต่ขณะที่ปัสสาวะ หรือหลังปัสสาวะ หากความเจ็บปวดเกิดขึ้นภายนอกช่องคลอดอาจเป็นเพราะช่องคลอดอักเสบหรือระคายเคืองคันบริเวณด้านนอกช่องคลอด
รู้สึกเจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์
การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด อาจส่งผลให้รู้สึกเจ็บปวดหรือแสบขณะมีเพศสัมพันธ์ได้ หากรู้สึกเจ็บปวดจนทนไม่ไหว หรืออาการที่เป็นทำให้รู้สึกไม่มีความสุขกับการมีเพศสัมพันธ์ ควรไปโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการวินิจฉัยอย่างเหมาะสม
ค่าความเป็นกรดด่างในช่องคลอดไม่สมดุล
หากช่องคลอดยังอยู่ในภาวะปกติ จะมีค่าความเป็นกรดด่างหรือค่าพีเอช (pH) อยู่ที่ 3.8 ถึง 4.5 แต่หากค่าความเป็นกรดด่างในช่องคลอดสูงกว่า 4.5 จะทำให้แบคทีเรียชนิดไม่ดีมีโอกาสเจริญเติบโตได้มากขึ้น จึงเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การตรวจไม่ได้ยืนยันว่าเป็นโรคนี้ วิธีที่จะยืนยันได้ดีที่สุดก็คือ การทดสอบการปนเปื้อนจุลินทรีย์ (swab test) แพทย์จะนำตัวอย่างตกขาวไปตรวจเพิ่มเติม
บางครั้งการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดก็ไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ ผู้หญิงบางคนที่ติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดอาจไม่พบสัญญาณหรืออาการบ่งชี้อย่างชัดเจน ทำให้ไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อนี้อยู่ จึงไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม จนกลายเป็นโรคหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่รุนแรงได้ในที่สุด ฉะนั้นหากมีอาการใด ๆ ข้างต้น ควรรีบไปปรึกษาคุณหมอทันทีเพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้องและเข้ารับการรักษา