การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยความดันต่ำ
วิธีการตรวจที่นิยมใช้มากที่สุด คือการวัดความดันโลหิต เพื่อดูว่าค่าความดันโลหิตอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ โดยคุณหมอจะวัดความดันในขณะที่ผู้ป่วยนั่งพักอยู่ และอาจจะวัดอีกครั้งหลังลุกขึ้นยืน นอกจากนี้ยังมีการทดสอบอื่น ๆ ดังนี้
- ตรวจเลือด เพื่อดูว่ามีภาวะเลือดจางหรือไม่ นอกจากนี้ยังตรวจดูความสมดุลของสารเคมีในเลือด และปริมาณของเลือด
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าของหัวใจ เพื่อดูว่าหัวใจสูบฉีดเลือดในระดับที่เหมาะสมหรือไม่
การรักษาความดันต่ำ
สำหรับผู้ที่มีความดันต่ำและมีอาการแทรกซ้อนเพียงเล็กน้อย เช่น อาการเวียนหัวเมื่อลุกขึ้น อ่อนเพลียเล็กน้อย ก็อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่คุณหมออาจจำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุที่ทำให้เกิดความดันต่ำแล้วหาทางแก้ไข เช่น หากความดันต่ำจากการใช้ยา ก็อาจต้องเปลี่ยนขนาดยา หรือเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นแทน
วิธีการรักษาภาวะความดันโลหิตต่ำขึ้นอยู่กับอายุ ภาวะทางสุขภาพ และประเภทของความดันต่ำ โดยมีวิธีดังต่อไปนี้
- เพิ่มเกลือในอาหาร ควรปรึกษาแพทย์ล่วงหน้า เนื่องจากโซเดียมส่วนเกินอาจทำให้เกิดหัวใจล้มเหลว โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
- ดื่มน้ำมากขึ้น จะช่วยเพิ่มปริมาณเลือด และรักษาภาวะขาดน้ำได้
- ยา เช่น ฟลูโดรคอร์ติโซน (fludrocortisone) เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณของเลือด
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตนเอง
การปรับไลฟ์สไตล์หรือการดูแลตนเองที่อาจช่วยจัดการกับความดันต่ำ
- ยืนขึ้นอย่างช้า ๆ และให้เวลาร่างกายได้ปรับตัว โดยเฉพาะตอนลุกขึ้นจากที่นอนในตอนเช้า ให้เริ่มต้นด้วยการลุกขึ้นนั่งสักครู่หนึ่ง แล้วแกว่งขาสักครู่หนึ่ง เมื่อลุกขึ้นยืน ควรมีสิ่งให้จับยึด หากรู้สึกเริ่มเวียนศีรษะ
- หลีกเลี่ยงการวิ่ง เดินทางไกล หรือทำสิ่งใด ๆ ที่ใช้พลังงานมากในสภาพอากาศร้อน สิ่งเหล่านี้อาจทำให้ความดันโลหิตต่ำในท่ายืนมีอาการแย่ลง
- ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะในสภาพอากาศร้อน
- หนุนหัวเตียง เพื่อช่วยยกศีรษะให้สูงเหนือระดับหัวใจเล็กน้อยขณะนอนหลับ
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย