-
ออกกำลังกาย
ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยออกกำลังกายที่มีความเข้มข้นปานกลาง เช่น วิ่งเหยาะ ๆ เดินเร็ว ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิก ปั่นจักรยาน อย่างน้อย 30-60 นาที/วัน ประมาณ 5 วัน/สัปดาห์ และอาจเพิ่มการออกกำลังกายความเข้มข้นสูงเพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น ซิทอัพ ยกน้ำหนัก สควอท (Squat) แพลงก์ (Plank) เพื่อช่วยควบคุมน้ำหนัก เสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายและกล้ามเนื้อ ช่วยกระตุ้นการเผาผลาญไขมันส่วนเกิน ซึ่งอาจช่วยให้หัวใจแข็งแรงและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ ยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง
-
ควบคุมน้ำหนักเพื่อสุขภาพ
ควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งควรมีค่าดัชนีมวลกายประมาณ 18.5-22.90 ด้วยการควบคุมการรับประทานอาหารและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม รวมถึงควรวัดไขมันหน้าท้องอยู่เสมอ โดยผู้ชายรอบเอวไม่ควรเกิน 40 นิ้ว และผู้หญิงรอบเอวไม่ควรเกิน 35 นิ้ว ซึ่งการควบคุมน้ำหนักอาจช่วยป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูงและคอเลสเตอรอลสูง ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
-
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
ผู้ที่นอนหลับไม่เพียงพออาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน หัวใจวาย โรคเบาหวาน ภาวะซึมเศร้า เนื่องจากในช่วงเวลาที่หลับสนิทร่างกายจะเริ่มกระบวนการเผาผลาญ ผลิตฮอร์โมนและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ รวมถึงอาจช่วยลดความเครียด ดังนั้น จึงควรนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง/วัน เพื่อให้ร่างกายทำงานได้อย่างเหมาะสม
-
งดการสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง
สารเคมีในบุหรี่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจและความแข็งตัวของหลอดเลือด อาจทำให้เส้นเลือดที่มีหน้าที่ลำเลียงเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบ ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติและทำให้ความดันโลหิตสูง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพหัวใจและอาจทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
-
ลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพหัวใจ เช่น อาจทำให้การทำงานของหัวใจแย่ลง ความดันโลหิตสูง อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ อาจทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน จึงควรจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกิน 100 กรัม/สัปดาห์ หรือไม่ควรเกิน 10 แก้ว/สัปดาห์
-
จัดการกับความเครียด
ความเครียดอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหากปล่อยไว้อาจเสี่ยงทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ จึงควรจัดการกับความเครียดเพื่อลดความดันโลหิตสูง เช่น การนอนหลับพักผ่อน ออกกำลังกาย ทำงานอดิเรก วาดรูป อ่านหนังสือ ฟังเพลง พูดคุยกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว
-
ตรวจสุขภาพประจำปี
การเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีอาจช่วยให้ทราบถึงระดับคอเลสเตอรอล ความดันโลหิตและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง จึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดหลอดเลือด รวมถึงโรคอื่น ๆ ที่กระทบต่อสุขภาพร่างกาย
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย