
ผิวแตกลาย (Stretch Mark) เป็นริ้วรอยที่เกิดขึ้นตามผิวหนัง เกิดขึ้นได้ทั่วไป แต่ผู้หญิงมักมีแนวโน้มที่มีการเกิดผิวแตกลายได้มากกว่าผู้ชาย
คำจำกัดความ
ผิวแตกลายคืออะไร
ผิวแตกลาย (Stretch Mark) เป็นริ้วรอยที่เกิดขึ้นตามผิวหนัง อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อผิวหนังยืดตัวออกไปฉับพลัน
พบได้บ่อยเพียงใด
ผิวแตกลายเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป ทุกคนอาจมีผิวแตกลายได้ แต่ผู้หญิงมักมีแนวโน้มที่มีอาการมากกว่าผู้ชาย กรุณาปรึกษาแพทย์เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
อาการ
อาการของผิวแตกลาย
ผิวแตกลายมีลักษณะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานเท่าไหร่ สาเหตุ บริเวณที่เกิดบนร่างกาย และประเภทของผิว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วไป ได้แก่
- รอยหรือลายที่ลึกลงไปในผิว
- รอยชมพู แดง ดำ ฟ้าหรือม่วง
- รอยสีอ่อนบนผิว
- รอยบนหน้าท้อง หน้าอก สะโพก บั้นท้ายหรือต้นขา
- รอยที่เกิดขึ้นที่บริเวณส่วนใหญ่ของร่างกาย
อาจมีอาการที่ไม่ได้ระบุถึงข้างต้น หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการ โปรดปรึกษาแพทย์
ควรไปพบหมอเมื่อใด
หากคุณมีสัญญาณหรืออาการที่ระบุข้างต้นหรือมีคำถามอื่นๆ โปรดปรึกษาแพทย์ ร่างกายแต่ละคนตอบสนองต่างกัน ทางที่ดีที่สุดคือปรึกษาแพทย์ว่า อะไรเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์ของคุณ
สาเหตุ
สาเหตุของผิวแตกลาย
ผิวแตกลายดูเหมือนว่าจะเกิดจากการที่ผิวยืดออกอย่างรวดเร็ว ความรุนแรงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมถึงแนวโน้มทางพันธุกรรม ระดับของความตึงผิวและระดับของคอร์ติโซน (cortisone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตโดยต่อมหมวกไตซึ่งทำให้เส้นใยอีลาสติกในผิวอ่อนแอลง
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของผิวแตกลาย
มีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยที่ทำให้ผิวแตกลาย เช่น
- เป็นผู้หญิง
- เคยเป็นหรือมีสมาชิกในครอบครัวที่เคยเกิดผิวแตกลาย
- ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในผู้หญิงอายุน้อย
- น้ำหนักเกินหรืออ้วน
- น้ำหนักลดหรือเพิ่มอย่างรวดเร็ว
- ใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์
- เข้ารับการศัลยกรรมเสริมหน้าอก
- เป็นโรคในกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing’s syndrome) กลุ่มอาการมาร์แฟน (Marfan syndrome) หรือความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิด
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยอาการผิวแตกลาย
แพทย์สามารถแจ้งได้ว่าคุณมีอาการผิวแตกลายหรือไม่ โดยการดูที่ผิวของคุณ และดูประวัติการรักษา หากแพทย์สงสัยว่าผิวแตกลายเป็นผลจากโรคที่รุนแรงชนิดอื่น แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเลือด ปัสสาวะหรือการตรวจด้วยเครื่องมือถ่ายภาพ
การรักษาผิวแตกลาย
ผิวแตกลายมักจะจางลงเมื่อเวลาผ่านไป หากคุณไม่ต้องการที่จะรอ มีการรักษาที่ช่วยให้ผิวแตกลายดูดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่มีการรักษาใดที่จะทำให้ผิวแตกลายหายเป็นปกติโดยสิ้นเชิง
มีหลายวิธีที่ช่วยให้ผิวแตกลายดูดีขึ้น เช่น
- ครีมเตรติโนอิน (Tretinoin cream) หรือชื่อทางการค้าว่าเรตินเอ (Retin-A) หรือเรโนวา (Renova) ทำหน้าที่ช่วยฟื้นฟูคอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนเส้นใยที่ช่วยให้ผิวมีความยืดหยุ่น ทางที่ดีที่สุดคือใช้ครีมนี้ทาลงบนผิวแตกลายที่เพิ่งเกิดขึ้น และยังเป็นรอยแดงหรือชมพู ครีมนี้อาจระคายเคืองผิว หากคุณตั้งครรภ์ คุณไม่ควรใช้ครีมเตรติโนอิน
- การรักษาด้วยเลเซอร์ชนิดพัลซ์ดาย (Pulsed dye laser therapy) จะกระตุ้นการเพิ่มจำนวนคอลลาเจนและอีลาสตินในผิว ทางที่ดีที่สุดคือใช้การรักษานี้กับผิวแตกลายที่เพิ่งเกิดขึ้น ผู้ที่มีสีผิวเข้มอาจมีสีผิวที่เปลี่ยนไป
- การใช้เลเซอร์เพื่อปรับสภาพผิวเป็นส่วนๆ (Fractional photothermolysis) คล้ายกับการรักษาด้วยเลเซอร์พัลซ์ซ์ดาย ตรงที่ทั้งสองวิธีต่างใช้เลเซอร์ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ทำงานโดยเล็งไปที่จุดที่เล็กกว่าบนผิว และทำให้ผิวเสียน้อยกว่า
- การกรอผิวด้วยอัญมณี (Microdermabrasion) รวมถึงการขัดผิวด้วยคริสตัลขนาดเล็ก เพื่อเผยผิวใหม่ที่ยืดหยุ่นกว่าที่อยู่ภายใต้ผิวแตกลาย การกรอผิวอาจช่วยทำให้ผิวแตกลายที่เกิดขึ้นนานแล้วดูดีขึ้น
- เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ (excimer laser) ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดสีผิวหรือเมลานิน เพื่อที่ผิวแตกลายจะมีสีที่เหมือนกับผิวโดยรอบมากขึ้น
ไม่ได้มีการรับประกันว่า การรักษาทางการแพทย์และยาที่จ่ายโดยแพทย์ จะสามารถรักษาผิวแตกลายได้ วิธีรักษารวมถึงยาดังกล่าวอาจมีราคาสูง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการปฏิบัติตนขั้นพื้นฐาน
ไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่จะช่วยให้จัดการกับผิวแตกลาย
ครีม ขี้ผึ้ง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ หลายชนิด ที่อ้างว่าสามารถป้องกันหรือรักษาผิวแตกลายได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไขมันจากเมล็ดโกโก้ วิตามินอี กรดไกลโคลิก ไม่ได้เป็นอันตรายอะไร แต่ก็อาจไม่ได้ช่วยอะไรมากเช่นกัน
ผิวแตกลายมักจะจางลง และสังเกตได้ยากเมื่อเวลาผ่านไป ไม่จำเป็นที่ต้องดูแลตนเองเพิ่มขึ้น หรือเยียวยาตนเองแต่อย่างใด
หากคุณมีคำถามเพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด