backup og meta

ฝีคัณฑสูตร คือ อะไร อาการและวิธีการรักษามีอะไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 4 สัปดาห์ก่อน

    ฝีคัณฑสูตร คือ อะไร อาการและวิธีการรักษามีอะไรบ้าง

    ฝี เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับเชื้อบางชนิดเข้าสู่ร่างกาย ลักษณะของฝีเป็นได้ทั้งไตแข็ง หรือเกิดการอักเสบบวมแดงบริเวณผิวหนัง ฝีเกิดได้ทั่วทั้งร่างกาย หากเกิดการอักเสบรุนแรงจะทำให้รู้สึกเจ็บปวดบริเวณรอบของฝี อีกทั้งมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น ฝีคัณฑสูตร คือ ฝีที่เกิดจากการติดเชื้อและมีการอักเสบ โดยเกิดขึ้นใกล้กับทวารหนัก 

    สาเหตุของ ฝีคัณฑสูตร คือ อะไร

    ฝีคัณฑสูตร (Anal Fistula) เกิดจากการติดเชื้อเรื้อรัง จากแก้มก้นที่เชื่อมต่อกับทวารหนัก โดยสาเหตุหลักส่วนใหญ่เกิดจากการเป็นฝีหนอง การติดเชื้อของต่อมที่มีหน้าที่ผลิตมูก เมื่อต่อมผลิตเมือกของทวารหนักอุดตัน ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น สาเหตุสำคัญ คือ การติดเชื้อแบคทีเรียในอุจจาระ รวมถึงของเสียหมักหมมภายในร่างกาย เมื่อติดเชื้อแล้วจะเกิดการอักเสบ กลายเป็นฝีหนอง และเพิ่มปริมาณมากขึ้น จึงค่อย ๆ เซาะไปตามชั้นกล้ามเนื้อของทวารหนัก ชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง และชั้นผิวหนังที่อยู่บริเวณรอบทวารหนัก จนออกมาให้เห็นด้านนอกทางผิวหนังที่บริเวณแก้มก้นและรอบรูทวารหนัก และพบมากในผู้ป่วยที่เคยเป็นฝีที่ทวารหนักมาก่อน

    สาเหตุของฝีคัณฑสูตร ยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อโรคบางชนิด ติดเชื้อวัณโรค หรือพบในผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือโรคมะเร็งบางชนิด

    ลักษณะของฝีคัณฑสูตร

    ฝีคัณฑสูตรแบ่งได้เป็น 2 ชนิด

    1. Simple Fistula ลักษณะฝีคัณฑสูตรจะอยู่ตื้น ไม่ซับซ้อน จึงรักษาได้ง่าย
    2. Complex Fistula ลักษณะฝีคัณฑสูตรที่ซับซ้อน เช่น พบทางออกสู่ผิวหนังหลายทาง รูเปิดอยู่ลึก อาจเชื่อมกับอวัยวะอื่นที่อยู่ข้างเคียง ทำให้การรักษานั้นยากกว่า

    อาการของฝีคัณฑสูตร

    • มีอาการคันรอบทวารหนัก
    • รู้สึกปวด บวมแดง บริเวณรอบทวารหนักหรือแก้มก้น
    • เกิดเป็นรูหรือพบเนื้อแข็ง ๆ โดยรอบของทวารหนัก
    • มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ อาจมีเลือดออก มีน้ำหนอง หรือมีน้ำเหลืองซึมออกมา
    • เกิดอาการไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย

    การวินิจฉัยฝีคัณฑสูตร

    แพทย์จะทำการวินิจฉัยฝีคัณฑสูตรร่วมกับการตรวจร่างกาย สังเกตรอยบุ๋มหรือตุ่มนูนเล็ก ๆ ใกล้กับรูทวาร ตรวจหาน้ำเหลืองที่ไหลซึมออกมา กรณีที่ตรวจหารูเปิดภายในทวารหนักไม่เจอ มีรูเปิดภายนอกที่บริเวณผิวหนังหลายรู หรือผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วกลับมาเป็นซ้ำ แพทย์จะพิจารณาตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การฉีดสีเข้าในรูทวารหนักและถ่ายเอกซเรย์ หรือการใช้หัวเครื่องตรวจอัลตราซาวด์สอดเข้ารูทวาร รวมถึงการตรวจโดยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ และการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเอ็มอาร์ไอตรวจภาพช่องท้องน้อยและทวารหนัก

    การรักษาฝีคัณฑสูตร

    1. การรักษาฝีหนองระยะก่อนเป็นฝีคัณฑสูตร สามารถทำได้โดยการผ่าฝีเพื่อระบายหนองออก ใช้ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวดลดไข้ ร่วมกับการดูแลทำความสะอาดบริเวณทวารหนัก ใช้น้ำอุ่นประคบลดอาการปวดบวม
    2. การรักษาฝีคัณฑสูตร กรณีผู้ป่วยไม่มีอาการ แต่ตรวจพบรูเปิดและเส้นทางเชื่อมต่อจากการตรวจทวารหนัก แพทย์อาจพิจารณาไม่ให้การรักษา แต่ผู้ป่วยที่มีอาการ ต้องให้การรักษาโดยการผ่าตัด
    3. กรณีผู้ป่วยฝีคัณฑสูตร ที่ยังไม่ได้ผ่าตัดรักษา หากเกิดเป็นฝีหนองกำเริบขึ้นมา ต้องรักษาฝีหนองให้หายก่อน โดยการกรีดผ่าฝีธรรมดาเพื่อระบายหนองออก และให้ยาปฏิชีวนะ เมื่อฝีหนองหายดีแล้ว ค่อยรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดต่อไป

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 4 สัปดาห์ก่อน

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา