backup og meta

กัดเล็บบ่อยๆ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

กัดเล็บบ่อยๆ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

พฤติกรรมการ กัดเล็บบ่อยๆ นั้นถือเป็นพฤติกรรมที่นอกจากจะทำให้ดูเสียบุคลิกภาพแล้ว ยังอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพอีกด้วย เนื่องจากในชีวิตประจำวัน ทุกคนย่อมใช้มือในการหยิบจับสิ่งของหรือวัตถุต่างๆ ซึ่งของบางอย่างอาจจะมีเชื้อโรคแฝงตัวอยู่ ดังนั้นการกัดเล็บอาจเป็นการนำพาให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ ดังนั้น ทาง Hello คุณหมอ จึงได้นำเรื่องเกี่ยวกับการกัดเล็บบ่อยๆ มาฝากกัน

ทำไมคนเราถึงชอบ กัดเล็บบ่อยๆ

นิสัยเป็นเรื่องที่ยากจะแก้ไข บางครั้งคนเรากัดเล็บเพราะกำลังรู้สึกประหม่า เบื่อ หรือบางที่คุณอาจจะไม่ได้สังเกตตัวเองจนไปทำเล็บที่ร้านแล้วถึงเห็นว่าเล็บสั้นเกินไป ไม่ว่าจะกัดเล็บเพราะกรณีใดๆ มันมีบางวิธีที่สามารถช่วยให้คุณหยุดกัดเล็บได้

สำหรับพฤติกรรมการกัดเล็บ (Nail Biting) ในทางการแพทย์เรียกพฤติกรรมประเภทนี้ว่า Chronic onychophagia ถือเป็นพฤติกรรมที่พบมากที่สุดในการบรรเทาความเครียดที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ยังมีนิสัยอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับพฤติกรรมดังกล่าว ได้แก่

  • การดูดนิ้วหัวแม่มือ
  • การแคะจมูก
  • การม้วนผม
  • การกัดฟัน
  • การหยิกผิว

กัดเล็บบ่อยๆ ส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร

แน่นอนว่าการกัดเล็บนั้นไม่ใช่เรื่องดีอย่างแน่นอน เพราะมือของเรานั้นต้องสัมผัสกับสิ่งของมากมายหลายอย่าง ซึ่งบางอย่างที่สัมผัสอาจจะมีเชื้อโรครวมอยู่ด้วย เชื้อโรคเหล่านี้สามารถเข้าไปติดในซอกเล็บของคุณได้ และเมื่อคุณกัดเล็บเชื้อโรคเหล่านั้นก็จะเข้าสู่ร่างกาย ก็สามารถนำมาสู่ผลเสียต่อสุขภาพหรือโรคต่างๆ เราลองมาดูกันว่า การกัดเล็บนั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง

เพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อที่ผิวหนัง

Debra Jaliman แพทย์ผิวหนังจากกรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า การกัดเล็บสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียใต้เล็บ เช่น พาโรนีเคีย (Paronychia) ซึ่งอาจทำให้เกิดรอยแดง บวม และทำให้เล็บเต็มไปด้วยหนอง นอกจากนั้นยังทำให้การติดเชื้อในช่องปากได้ ซึ่งจำจะต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา

อาจนำไปสู่โรคข้ออักเสบหรือความพิการ

David Katz ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการป้องกันมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า หากไม่สามารถควบคุมพาโรนีเคียหรือการติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ได้ นั่นอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ข้อต่อของมือได้ และอาจทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “โรคข้ออักเสบติดเชื้อ’ (Septic arthritis) ซึ่งยากที่จะรักษาให้หายขาด เพราะอาจต้องได้รับการผ่าตัด มากไปกว่านั้นแล้ว ในกรณีรุนแรง การติดเชื้อดังกล่าวอาจนำไปสู่ความพิการถาวรหรือแม้แต่การติดเชื้อในระบบร่างกาย ซึ่งนั่นหมายถึงอันตรายถึงชีวิต

ทำให้เล็บผิดรูปทรง

การกัดเล็บเป็นประจำอาจทำให้เล็บเสียหาย และอาจทำให้เล็บเกิดความผิดปกติแบบถาวร การกัดเล็บอาจทำให้เกิดรอยย่นในแนวนอนลึก หรือร่องลึกในเล็บ ซึ่งเป็นสัญญาณว่ามีบางอย่างทำให้เล็บหยุดการเจริญเติบโตชั่วคราว และบางครั้งก็อาจจะหยุดการเจริญเติบโตแบบถาวรเลยก็ได้

แพร่กระจายเชื้อเริมไปยังนิ้ว

ผู้เชี่ยวชาญได้กล่าวเอาไว้ว่า หากคุณมีแผลเย็บที่ปาก และชอบกัดเล็บ การกัดเล็บของคุณจะส่งผลทำให้เชื้อเริมถูกแพร่ไปยังนิ้วของคุณได้ นอกจากนี้ผู้ที่ชอบกัดเล็บจะสามารถนำพาเชื้อหูด (Warts) ที่อยู่บนมือไปยังริมฝีปากและปากได้เช่นกัน

อาจทำให้ฟันเสียหาย

Gigi Meinecke ทันตแพทย์จากสถาบันทันตกรรมทั่วไปในรัฐแมรีแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า ฟันหน้าบิ่นเป็นปัญหาที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยที่ชอบกัดเล็บ แต่การกัดเล็บเรื้อรังอาจไม่ได้ส่งผลให้ฟันบิ่นเสมอไป แต่ความเคยชินในการกัดเล็บสามารถทำให้ฟันแตก หรือเกิดรอยแตกขึ้นมาเป็นคราบสีคล้ำและเมื่อเวลาผ่านไป เนื้อฟันก็อาจจะสลายไปในที่สุด

อยากเลิก กัดเล็บบ่อยๆ ควรทำอย่างไร

สำหรับคนที่ชอบกัดเล็บและอยากจะหยุดกัดเล็บ อาจจะสามารถหยุดพฤติกรรมนี้ได้ตัวเองที่บ้าน แต่ในบางกรณีอาจจะต้องเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิฉัย ก่อนที่คุณจะหยุดกัดเล็บ คุณอาจจะต้องใช้เวลาคิดว่าทำไมคุณถึงเริ่มกัดเล็บตั้งแต่แรก

ในเบื้องต้น คุณอาจลองบันทึกพฤติกรรมการกัดเล็บของตัวเองดูว่า คุณชอบกัดเล็บเพราะอะไร เช่น เหนื่อย เครียด หรือหิว เป็นต้น เมื่อคุณพบสาเหตุของการชอบกัดเล็บ ลองใช้วิธีเหล่านี้ในการหยุดพฤติกรรมชอบกัดเล็บของคุณดู

ตัดเล็บให้สั้น

วิธีที่ง่ายที่สุดในการป้องกันตัวเองจากการกัดเล็บ คือ การตัดเล็บให้สั้น ถ้าเล็บเหลือพื้นที่ให้กัดเพียงเล็กน้อยหรือไม่เหลือส่วนที่สามารถทำให้กัดเล็บได้เลย คุณจะไม่รู้สึกว่ามีเล็บให้กัด แต่แน่นอนว่าคุณจะต้องตัดเล็บเป็นประจำ เพราะเล็บของคนเรามีการเจริญเติบโตอยู่ตลอด

ทำเล็บให้สวย

ลองเข้าร้านทำเล็บ เพื่อแต่งเติมและทำเล็บของคุณให้สวยขึ้น มันอาจจะทำให้คุณช่วยหยุดการกัดเล็บหรือไม่อยากกัดเล็บก็ได้ นอกจากนั้นการทำเล็บยังช่วยให้เล็บของคุณดูดีอีกด้วย

แต่งเล็บ

แม้ว่ามันอาจจะฟังดูแปลกๆ แต่การใช้น้ำยาเคลือบเล็บแบบเงาที่มีรสชาติขม อาจจะช่วยให้คุณเลิกพฤติกรรมชอบกัดเล็บได้ โดยคุณสามารถใช้น้ำยาเคลือบเล็บชนิดนี้ทาลงไปบนเล็บโดยตรง หรือจะทาทับเล็บที่คุณทำมาแล้วก็ได้เช่นกัน

ห้อยยางสำหรับกัดเอาไว้

ยางสำหรับกัด (Chewelery) มีไว้ให้สำหรับทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป มันเอาไว้สำหรับเคี้ยว โดยคุณสามารถเลือกสีและความเหนียวของบางได้ โดยมีตั้งแต่ระดับอ่อนไปจนถึงเหนียวแบบพิเศษ ยางสำหรับกัดนี้ถือเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุดที่จะทำให้คุณระวังเรื่องของการกัดเล็บ เพราะแทนที่คุณจะกัดเล็บของตัวเอง ก็เปลี่ยนมากัดยางสำหรับกัดเอาไว้แทน

อย่างไรก็ตามคุณอาจจะต้องปรึกษากับทันตแพทย์ในเรื่องของการใช้ช้อน ส้อม หรือการเคี้ยวสิ่งของต่างๆ ที่อาจทำให้ฟันของคุณเสียหาย หรือเป็นอันตรายต่อกรามของคุณได้

งดกัดเล็บทีละนิ้ว

วิธีข้างต้นที่กล่าวมาทั้งหมดอาจจะใช้ไม่ได้ผลกับคุณ แต่ทาง American Academy of Dermatology ได้แนะนำเอาไว้ว่า คุณสามารถดัดนิสัยการกัดเล็บบ่อยๆ ของคุณได้ โดยอาจเริ่มโฟกัสที่เล็บเพียงครั้งละ 1 เล็บเท่านั้น คุณสามารถเริ่มต้นด้วยนิ้วหัวแม่มือ หลังจากที่คุณเลิกกัดเล็บนิ้วหัวแม่มือได้แล้วเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ก็ให้เลื่อนไปให้ความสนใจกับนิ้วถัดไปตามลำดับที่เหมาะสมกับคุณมากที่สุด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

7 Scary Gross Things That Can Happen to Nail Biters. https://www.health.com/beauty/gross-things-from-nail-biting. Accessed August 11, 2020

Does nail biting cause any long-term nail damage?. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/adult-health/expert-answers/nail-biting/faq-20058548. Accessed August 11, 2020

How to Finally Stop Biting Your Nails. https://www.healthline.com/health/how-to-stop-biting-your-nails.  Accessed August 11, 2020

Nail Biting; Etiology, Consequences and Management. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3556753/. Accessed August 11, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

25/08/2020

เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีดูแลเล็บให้แข็งแรง ไม่เหลือง ไม่บาง ไม่เปราะหักง่าย

ดูดนิ้ว กัดเล็บ พฤติกรรมที่อาจช่วยให้เด็กรอดพ้นจากโรคภูมิแพ้เมื่อโตขึ้น


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 25/08/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา