backup og meta

คันเท้า คันฝ่าเท้า อาการ สาเหตุ และวิธีการป้องกัน

คันเท้า คันฝ่าเท้า อาการ สาเหตุ และวิธีการป้องกัน

คันเท้า หรือ คันฝ่าเท้า อาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติของผิวหนัง เช่น โรคผิวหนังอักเสบ โรคสะเก็ดเงิน อาการแพ้ หรืออาจเกิดความผิดปกติอื่น ๆ ซึ่งวิธีการรักษาและการป้องกันก็อาจแตกต่างกันออกไปตามแต่สาเหตุของอาการคันเท้า ดังนั้น หากสังเกตพบความผิดปกติ จึงควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาอย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-bmi]

อาการคันเท้า เกิดขึ้นได้อย่างไร

อาการคันเท้า สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ปัญหา คันฝ่าเท้า ที่คุณกำลังประสบอยู่ อาจมาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  • อาการคันเท้า จากโรคปลายประสาทอักเสบ

สถาบันโรคทางระบบประสาทและโรคหลอดเลือดสมองแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (National Institute of Neurological Disorders and Stroke) เผยว่าการบาดเจ็บหรือความเสียหายที่ระบบประสาทส่วนปลาย หรือปลายประสาทอักเสบ (Peripheral neuropathy) อาจจะส่งผลต่อระบบรับความรู้สึก เช่น ทำให้เกิดอาการชาที่เท้า อาการคันที่เท้า หรืออาการปวดที่บริเวณเท้า

  • โรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เกิดจากการที่เซลล์ผิวหนังมีการเจริญเติบโตเร็วเกินไปหรือเติบโตเร็วจนผิดปกติ จึงส่งผลให้เกิดอาการอักเสบจนเป็นผื่นขนาดใหญ่ และส่งผลให้เกิดอาการคัน โดยเฉพาะถ้าเกิดขึ้นที่บริเวณขาหรือเท้าก็จะทำให้รู้สึก คันเท้า

  • โรคผิวหนังอักเสบ

โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) เกิดจากการสัมผัสกับสารเคมี หรือสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองที่ผิวหนัง เมื่อเป็นแล้วมักทำให้เกิดผื่น ตุ่มแดง ผิวแห้ง อักเสบ และเกิดอาการคัน และถ้าหากเป็นที่เท้า ก็จะส่งผลให้เกิด อาการคันเท้า

  • ติดเชื้อพยาธิปากขอ

คนที่ชอบเดินเท้าเปล่า  เดินไปไหนมาไหนแล้วไม่สวมรองเท้า พยาธิปากขอที่อาจจะอาศัยอยู่ในบริเวณที่ไปเดินหรือไปสัมผัสมานั้นอาจมีการติดเชื้อขึ้นที่เท้า และส่งผลให้เกิดอาการคันเนื่องจากการติดเชื้อ แต่โดยมากแล้ว การติดเชื้อพยาธิปากขอ (Hookworm infections) นี้มักจะพบได้หากไปเดินในพื้นที่ที่ไม่ได้รับการทำความสะอาดที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อเช่นนี้ไม่ค่อยพบได้บ่อยนัก

  • โรคหิด

โรคหิด (Scabies) เกิดจากการที่ไรตัวเล็ก ๆ เข้าไปในผิวหนังและมีการวางไข่ ซึ่งสามารถเกิดได้กับผิวหนังทุกบริเวณ ไม่ว่าจะเป็นแขน ขา หรือเท้า เมื่อเป็นแล้วจะส่งผลให้เกิดอาการคัน หรือผื่นคันขึ้นมาได้ 

  • โรคเบาหวาน

เบาหวาน (Diabetes) เป็นอาการทางสุขภาพเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดอาการคันได้ เนื่องจากอาการเบาหวานที่เป็นอยู่ไม่สามารถควบคุมได้ จนกระทั่งเกิดจากแทรกซ้อนทางระบบประสาท (Diabetic Neuropathy) ทำให้เกิดความรู้สึกคันและชาตามผิวหนัง แขน ขา หรือบริเวณเท้า รวมถึงอาจมีปัญหาผิวแห้งหรือตกสะเก็ดด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ผู้ป่วยโรคเบาหวานทุกคนที่จะพบกับอาการเช่นนี้

  • อาการแพ้

ไม่ว่าจะเป็นอาการแพ้จากสารเคมี หรือแพ้สารในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย หรือสารในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหนัง เช่น สบู่ สบู่เหลว โลชั่น หรือครีมบำรุงผิว อาการแพ้สารเหล่านี้จะก่อให้เกิดผื่น ตุ่ม และมีอาการคัน โดยเฉพาะหากผลิตภัณฑ์นั้นใช้สำหรับเท้า ก็จะทำให้มีอาการระคายเคือง และก่อให้เกิด อาการคันเท้า

  • รองเท้า

ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าแตะ รองเท้าผ้าใบ รองเท้ากีฬา ขึ้นชื่อว่าเป็นรองเท้าก็มักจะเกิดการมักหมม อับชื้น เนื่องจากรองเท้ามักจะมีการหมักหมมเหงื่อจากเท้าเอาไว้ นานเข้าก็จะกลายเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียหรือเชื้อรา และถ้าไม่ทำความสะอาดรองเท้าอย่างเหมาะสมหรือทำความสะอาดอย่างทั่วถึง แบคทีเรียที่อยู่ในรองเท้าก็จะส่งผลให้เกิดอาการคันที่เท้าได้

  • ผิวแห้ง

อาการผิวแห้งเกิดจากการที่ต่อมน้ำมันในผิวหนังผลิตน้ำมันออกมาน้อย หรือสูญเสียการผลิตน้ำมันเคลือบผิว ส่งผลให้ผิวขาดความชุ่มชื้น ทำให้ผิวแห้ง เป็นขุย และปัญหาสุขภาพผิวอย่างผิวแห้งนี้ มักจะก่อให้เกิดอาการคันตามมาด้วย ยิ่งถ้าบริเวณเท้าเกิดปัญหาผิวแห้ง ก็จะส่งผลให้เกิดอาการคันตามมาได้เช่นกัน

วิธีรักษาอาการ คันเท้า คันฝ่าเท้า

หากมี อาการคันเท้า จำเป็นที่จะต้องรักษาตามสาเหตุของอาการ เนื่องจากอาการคันเท้าเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป เช่น ถ้าหากมีอาการคันเท้าเพราะอาการแพ้สารเคมีจากผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหนัง ก็ต้องหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

หากเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา ก็ควรจะต้องใช้ยาที่ช่วยป้องกันแบคทีเรียหรือเชื้อรา หรือยาเพื่อบรรเทาอาการคันตามผิวหนัง หรือควรไปพบกับคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการ และรักษาตามอาการและสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคันเท้า

ป้องกันไม่ให้เกิด อาการคันเท้า ได้อย่างไร

วิธีป้องกันอาการคันเท้าในเบื้องต้นก็คือการหมั่นรักษาความสะอาด ไม่เพียงแต่ความสะอาดของเท้าเท่านั้น แต่เป็นความสะอาดของร่างกายทุกส่วน เพราะการทิ้งให้อวัยวะส่วนใดของร่างกายสกปรก หรือหมักหมม ก็เสี่ยงที่จะเกิดปัญหาทางสุขภาพได้ และโดยเฉพาะถ้าเป็น อาการคันเท้า ควรจะต้องใส่ใจกับการดูแลเท้า ดังนี้

  • ไม่ควรสวมถุงเท้าหรือรองเท้าขณะที่เท้ายังไม่แห้ง เพราะรองเท้าหรือถุงเท้าอาจเกิดการอับชื้นจากน้ำที่เท้า ทำให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อราหรือแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการคัน
  • ทำความสะอาดเท้าด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน ปลอดภัย และไม่มีสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เพื่อป้องกันการระคายเคืองที่จะก่อให้เกิด อาการคันเท้า
  • ทำความสะอาดเท้าให้สะอาดอยู่เสมอ และไม่ควรละเลยบริเวณง่ามนิ้วเท้า เพราะถ้าทำความสะอาดไม่ครบทุกจุดอาจทำให้เกิดการหมักหมมของสิ่งสกปรกและเชื้อแบคทีเรีย
  • สวมถุงเท้าที่สามารถระบายอากาศได้ดี เพื่อให้สามารถซับเหงื่อที่เท้าได้ดี
  • โรยแป้งหรือผงที่มีคุณสมบัติป้องกันเชื้อราไว้ในรองเท้า เพื่อป้องกันแบคทีเรียหรือเชื้อราในรองเท้า และป้องกันไม่ให้เท้าเหม็น
  • หลีกเลี่ยงและระมัดระวังการเหยียบตามตามแหล่งน้ำขัง โดยเฉพาะในหน้าฝน เพราะความชื้นเหล่านั้นอาจเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียที่ทำให้เกิด อาการคันเท้า ได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Why Do My Hands and Feet Itch?. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/hands-feet-itch#1. Accessed October 14, 2020.

Psoriasis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/psoriasis/symptoms-causes/syc-20355840#:~:text=Psoriasis%20is%20a%20skin%20disease,chronic)%20disease%20with%20no%20cure. Accessed July 27, 2023.

Scabies Frequently Asked Questions (FAQs). https://www.cdc.gov/parasites/scabies/gen_info/faqs.html#:~:text=I%20treat%20myself%3F-,What%20is%20scabies%3F,a%20pimple-like%20skin%20rash. Accessed July 27, 2023.

Parasites – Hookworm. https://www.cdc.gov/parasites/hookworm/index.html#:~:text=Hookworm%20infection%20is%20mainly%20acquired,infected%20for%20the%20first%20time. Accessed July 27, 2023.

What is Eczema? https://nationaleczema.org/eczema/. Accessed July 27, 2023.

Diabetes. https://www.nhs.uk/conditions/diabetes/. Accessed July 27, 2023.

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/08/2024

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

แบคทีเรียในรองเท้า วายร้ายใกล้ตัวที่คุณอาจกำลังละเลย!

วิธีเลือกรองเท้าสำหรับการออกกำลังกาย ที่คุณควรต้องรู้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 31/08/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา