ภาวะขาดเหงื่อ (Anhidrosis) หมายถึงอาการที่ไม่มีเหงื่อออก หรือมีเหงื่อน้อยกว่าปกติอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าจะอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อน หรือออกกำลังกายอย่างหนักแล้วก็ตาม
[embed-health-tool-bmr]
คำจำกัดความ
ภาวะขาดเหงื่อ คืออะไร
ภาวะขาดเหงื่อ (Anhidrosis) หมายถึงอาการที่ไม่มีเหงื่อออก หรือมีเหงื่อน้อยกว่าปกติอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าจะอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อน หรือออกกำลังกายอย่างหนักแล้วก็ตาม
การที่เราไม่มีเหงื่อ ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถถ่ายเทความร้อน และลดอุณภูมิของร่างกายลงได้ ส่งผลให้อุณหภูมิของร่างกายสูงเกินไป จนอาจส่งผลให้เกิดสภาวะที่เป็นอันตราย เช่น ตะคริว เพลียแดด หรือลมแดด เป็นต้น
ภาวะขาดเหงื่อนั้นอาจมีตั้งแต่ในระดับเบา มีเหงื่อออกน้อย ไปจนถึงระดับรุนแรง ที่ไม่มีเหงื่อออกเลย และอาจเกิดขึ้นแค่เพียงบางส่วนของร่างกาย จึงทำให้ยากต่อการสังเกตและการวินิจฉัย บ่อยครั้งที่ภาวะขาดเหงื่อนั้นอาจจะส่งผลแค่กับบางบริเวณของร่างกาย แต่ส่วนอื่นยังคงมีเหงื่อออกตามปกติ ทำให้ร่างกายสามารถคลายความร้อนได้ และไม่เป็นอันตรายใด ๆ
ภาวะขาดเหงื่อ พบบ่อยแค่ไหน
เนื่องจากภาวะขาดเหงื่อนั้นค่อนข้างจะสังเกตยาก หากไม่ได้เกิดขึ้นทั่วทั้งร่างกาย ดังนั้นจึงไม่สามารถทราบได้ว่า มีคนมากน้อยแค่ไหน ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะขาดเหงื่อนี้ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดสอบถามแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ
อาการ
อาการของภาวะขาดเหงื่อ
สัญญาณและอาการของภาวะขาดเหงื่อ ได้แก่
- ไม่มีเหงื่อออก หรือมีเหงื่อออกน้อย
- วิงเวียน
- ร้อนวูบวาบ
- ตะคริว
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- เหนื่อยล้า
- รู้สึกร้อนมากเกินไป
บริเวณที่ไม่มีเหงื่อนั้น อาจจะเกิดขึ้นกับบางส่วนของร่างกาย หรือเกิดขึ้นทั่วทั้งร่างกาย หากคุณมีภาวะขาดเหงื่อในบางส่วน ส่วนที่สามารถขับเหงื่อได้ ก็อาจจะพยายามขับเหงื่อออกมามากกว่าปกติ เพื่อชดเชยส่วนที่ไม่สามารถขับเหงื่อได้
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
หากคุณสังเกตพบว่าตัวเองมีเหงื่อออกน้อย หรือไม่มีเหงื่อออกเลย แม้ว่าจะออกกำลังกาย หรืออยู่ในที่อากาศร้อนจัดก็ตาม ควรเข้ารับการตรวจกับแพทย์ เพราะภาวะขาดเหงื่อนั้นอาจทำให้ร่างกายไม่สามารถถ่ายเทความร้อนได้อย่างเต็มที่ และนำไปสู่สภาวะที่เป็นอันตราย เช่น ลมแดดได้ จึงควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจและรักษาอย่างเร็วที่สุด
ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ
สาเหตุ
สาเหตุของภาวะขาดเหงื่อ
ภาวะขาดเหงื่อนั้นจะเกิดขึ้น เมื่อต่อมเหงื่อไม่สามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
- โรคแต่กำเนิด โรคแต่กำเนิดอย่างอย่าง เช่น การเจริญเติบโตผิดปกติ อาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต่อมเหงื่อ และทำให้ต่อมเหงื่อทำงานอย่างผิดปกติได้
- โรคทางพันธุกรรม ที่ส่งผลกระทบต่อระบบการเผาผลาญของร่างกาย เช่น โรคฟาเบรย์ (Fabry’s disease)
- กลุ่มโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue disease) เช่น โรคโจเกรน (Sjogren’s disease) ทำให้เกิดอาการตาแห้งและปากแห้ง
- การบาดเจ็บที่ผิวหนัง เช่น โรคสะเก็ดเงิน แผลไฟไหม้ หรือแผลจากการฉายรังสีบำบัด อาจส่งผลกระทบให้ต่อมเหงื่อทำงานผิดปกติได้
- โรคที่ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท เช่น โรคเบาหวาน หรือ โรคพิษสุราเรื้อรัง
- ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) จากการดื่มน้ำไม่เพียงพอ ก็อาจทำให้ร่างกายของเรามีน้ำอยู่น้อย จนผลิตเหงื่อออกมาได้น้อยเช่นกัน
- ยาบางชนิด
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะขาดเหงื่อ
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดภาวะขาดเหงื่อ มีดังต่อไปนี้
- การกลายพันธุ์ของยีน การเปลี่ยนแปลงของยีน อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติของต่อมเหงื่อ ทำให้ต่อมเหงื่อพัฒนาได้อย่างไม่เต็มที่ หรือทำงานผิดปกติ
- โรคเบาหวาน โรคเบาหวานอาจเพิ่มความเสี่ยงในการทำให้ต่อมเหงื่อทำงานผิดปกติได้
- โรคผิวหนัง ผู้ป่วยโรคผิวหนังต่าง ๆ หรือมีความผิดปกติที่ผิวหนัง อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมเหงื่อ จนทำให้เกิดภาวะขาดเหงื่อได้
นอกจากนี้ แผลเป็น และอาการบาดเจ็บ ก็อาจส่งผลกระทบต่อต่อมเหงื่อ ทำให้ต่อมเหงื่อเกิดความผิดปกติ และไม่สามารถขับเหงื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพได้เช่นกัน
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยภาวะขาดเหงื่อ
แพทย์จะทำการตรวจร่างกายและซักประวัติ หากแพทย์สงสัยว่าคุณอาจจะมีภาวะขาดเหงื่อ ก็อาจจะต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น
- การวัดค่าเหงื่อ (Sweat Test) เป็นการวัดอัตราการเสียเหงื่อและเกลือแร่ ว่าเสียไปในปริมาณเท่าไหร่ เพื่อดูว่าคุณมีเหงื่อออกน้อยกว่าปกติหรือไม่
- การตรวจตัวอย่างชิ้นส่วนผิวหนัง แพทย์จะนำตัวอย่างชิ้นส่วนผิวหนังในบริเวณที่ต้องสงสัยว่าจะมีภาวะขาดเหงื่อไปตรวจ เพื่อดูว่าต่อมเหงื่อและเซลล์ผิวหนังมีความผิดปกติหรือไม่
หากมั่นใจว่าเป็นภาวะขาดเหงื่อแล้ว แพทย์ก็อาจจะต้องทำการตรวจ เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะขาดเหงื่อ เพื่อที่จะได้ทำการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
การรักษาภาวะขาดเหงื่อ
การรักษาภาวะขาดเหงื่อนั้น จะมุ่งเน้นไปที่การรักษาสภาวะที่ส่งผลให้เกิดภาวะขาดเหงื่อ เช่น หากภาวะขาดเหงื่อนั้นเกิดขึ้นจากยา แพทย์ก็อาจจะให้คุณเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นแทน หรือหากภาวะขาดเหงื่อนั้นเกิดขึ้นจากท่อเหงื่ออุดตัน การทำความสะอาดผิวด้วยการขัดผิว ก็อาจสามารถช่วยบรรเทาอาการขาดเหงื่อได้
นอกจากนี้ หากภาวะขาดเหงื่อของคุณมีอาการเบา ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องทำการรักษาใดๆ เพียงแค่คอยระมัดระวังเรื่องการรักษาระดับอุณหภูมิภายในร่างกาย ไม่ให้เพิ่มสูงจนเกินไป และให้ผู้ป่วยได้รับน้ำอย่างเพียงพอเท่านั้น
การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการกับภาวะขาดเหงื่อ
คุณสามารถจัดการกับภาวะขาดเหงื่อได้ ด้วยวิธีเหล่านี้
- รับประทานอาหารเสริมขิงและถั่วเหลือง อาหารเสริมเหล่านี้ สามารถช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และทำให้ร่างกายสามารถขับเหงื่อได้ดียิ่งขึ้น
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ การดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ จะช่วยให้เรามีน้ำมากพอที่จะไปผลิตเป็นเหงื่อ และขับเหงื่อออกจากร่างกายได้
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เหล่านี้ อาจสามารถช่วยจัดการกับภาวะขาดเหงื่อ สำหรับผู้ที่มีปัญหาไม่มีเหงื่อออกแค่เพียงบางส่วนของร่างกาย หรือมีเหงื่อออกน้อยเท่านั้น ไม่สามารถรักษาภาวะขาดเหงื่อได้ ทางที่ดีที่สุด คุณจึงควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาวิธีในการรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากภาวะขาดเหงื่อนี้
หากมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ