ภาวะน้ำเกิน หรือที่เรียกว่า “ภาวะบวมน้ำ” เป็นอาการของภาวะที่น้ำในร่างกายของคุณมากเกินไป แม้ในร่างกายปกติจะมีของเหลวอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ปริมาณของเหลวที่มากเกินไป ก็อาจทำลายสุขภาพของคุณได้เช่นกัน
[embed-health-tool-bmi]
คำจำกัดความ
ภาวะน้ำเกิน (Hypervolemia) คืออะไร
ภาวะสารน้ำมากเกินไป หรือที่เรียกว่าของเหลวเกินพิกัด เป็นเงื่อนไขของการที่น้ำในร่างกายของคุณมากเกินไป ในขณะที่ร่างกายปกติจะมีของเหลวจำนวนหนึ่งอยู่ในนั้น แต่ของเหลวที่มากเกินไปอาจทำลายสุขภาพของคุณได้
ภาวะน้ำเกินไปเป็นภาวะอย่างหนึ่งของร่างกาย จะเกิดขึ้นเมื่อคุณมีของเหลวในร่างกายมากเกินไป ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่า ร่างกายมีการกักเก็บน้ำมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น ตัวบวม ความดันโลหิตสูง ปัญหาหัวใจ และอื่น ๆ
ภาวะน้ำเกิน พบบ่อยเพียงใด
ภาวะน้ำเกินพบได้ทั่วไปในคนที่เป็นโรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease หรือ CKD) และไตวาย เนื่องจากไตไม่สามารถกำจัดของเหลวส่วนเกินออกจากร่างกายได้ ซึ่งไม่เหมือนกับคนที่มีสุขภาพดี ทำให้มีของเหลวต่าง ๆ สะสมอยู่ในร่างกายมากเกินไปจากที่ร่างกายต้องการ
อาการ
อาการของ ภาวะน้ำเกิน
อาการที่เกิดขึ้นจากภาวะน้ำเกิน อาจทำให้รู้สึกไม่สบาย เกิดความเครียดในร่างกาย ทั้งยังเป็นปัญหาต่ออวัยวะต่าง ๆ ซึ่งอาการของภาวะน้ำเกิน มีดังนี้
- น้ำหนักเพิ่มอย่างรวดเร็ว
- อาการบวมที่เห็นได้ชัดเจนในแขน ขา เท้า ข้อเท้า ข้อมือ และใบหน้า
- อาการบวมในช่องท้อง
- ตะคริว
- ปวดศีรษะ
- ท้องอืด
- หายใจถี่ เกิดจากของเหลวส่วนเกินเข้าสู่ปอด ทำให้ความสามารถในการหายใจตามปกติลดลง
- ความดันโลหิตสูงที่เกิดจากของเหลวส่วนเกินในกระแสเลือด
- ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เนื่องจากของเหลวส่วนเกิน สามารถเร่งหรือชะลออัตราการเต้นของหัวใจ ทำร้ายกล้ามเนื้อหัวใจ และเพิ่มขนาดของหัวใจ ทั้งยังอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
ควรไปพบหมอเมื่อใด
หากคุณมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการใด ๆ ตามที่ระบุข้างต้น หรือมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์ ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ
สาเหตุ
สาเหตุของภาวะน้ำเกิน
โดยส่วนใหญ่เมื่อมีปัญหากับไต ก็จะทำให้เกิดภาวะน้ำเกิน เนื่องจากไตคอยรักษาสมดุลของปริมาณเกลือและของเหลวในร่างกายของคุณ เมื่อไตเก็บเกลือเอาไว้ มันก็จะเพิ่มปริมาณโซเดียม (Sodium) ของร่างกาย ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณของเหลวในร่างกายตามไปด้วย สำหรับสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของ ภาวะน้ำเกิน อาจรวมถึงโรคต่าง ๆ เหล่านี้
- หัวใจล้มเหลว โดยเฉพาะหัวใจห้องล่างขวา (Right ventricle)
- โรคตับแข็ง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป หรือตับอักเสบ
- ไตวาย มักเกิดจากจากโรคเบาหวาน และคงามผิดปกติของการเผาผลาญอื่น ๆ
- กลุ่มอาการของโรคไต และโรคที่ทำให้เกิดการขับถ่ายโปรตีนในปัสสาวะ
- อาการบวมน้ำก่อนมีประจำเดือน หรืออาการที่เกิดขึ้นก่อนรอบเดือนของผู้หญิง
- การตั้งครรภ์ ซึ่งเปลี่ยนความสมดุลของฮอร์โมนของผู้หญิง และอาจส่งผลกับน้ำในร่างกาย
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยภาวะสารน้ำมากเกิน
แพทย์อาจวินิจฉัยภาวะสารน้ำมากเกินไป โดยทำการตรวจร่างกาย เพื่อตรวจหาอาการบวม ทั้งยังอาจฟังปอดเพื่อหาสัญญาณของของเหลว แพทย์อาจจะแนะนำให้ทดสอบ เพื่อตรวจโซเดียมในเลือดและปัสสาวะ เนื่องจากภาวะสารน้ำมากเกิน มักเกิดจากปัญหาสุขภาพอื่นๆ แพทย์จึงอาจทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อค้นหาเงื่อนไขพื้นฐาน เช่น หัวใจล้มเหลว ปัญหาไต และโรคตับ
การรักษาภาวะน้ำเกิน
ความจริงแล้วการรักษาภาวะน้ำมากเกิน สามารถรักษาได้หลายวิธี แต่หนึ่งในการรักษาที่พบมากที่สุดก็คือ “ยาขับปัสสาวะ” ซึ่งยาขับปัสสาวะนั้นทำหน้าที่ในการเพิ่มปริมาณปัสสาวะที่ร่างกายผลิต อย่างไรก็ตามเงื่อนไขสุขภาพพื้นฐานจะต้องได้รับการแก้ไข ตัวอย่างเช่น คนที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว อาจต้องดำเนินการเพื่อจัดการกับสภาพของพวกเขา นอกเหนือจากการใช้ยาขับปัสสาวะ
จากการวิจัยระบุว่า ยาขับปัสสาวะอาจจะไม่สามารถทำงานได้ในผู้ที่มีปัญหาไตอย่างรุนแรง บางคนจึงต้องได้รับการรักษาทดแทนในส่วนของไต เช่น การล้างไต หรือการฟอกเลือด ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ไต หรือตับ อาจต้องกินอาหารที่มีเกลือน้อย สิ่งนี้จะช่วยรักษาระดับโซเดียมให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งการปฏิบัติดังนี้จะช่วยหลีกเลี่ยงภาวะน้ำเกินได้
สำหรับผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว อาจต้องจำกัดปริมาณของเหลวที่ดื่มในแต่ละวัน แพทย์สามารถแนะนำปริมาณน้ำและปริมาณเกลือที่เหมาะสม ตามประวัติสุขภาพของแต่ละบุคคล
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง
เมื่อคุณหายจากภาวะน้ำเกินแล้ว คุณจำเป็นจะต้องชั่งน้ำหนักทุกวัน เพื่อให้แน่ใจว่า คุณขับของเหลวส่วนเกินออกจากร่างกายได้ตามปกติ คนส่วนใหญ่ที่ทำตามคำแนะนำของแพทย์มักจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและสมบูรณ์ ซึ่งสิ่งนี้สำคัญสำหรับการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณ
นอกจากการตรวจสอบน้ำหนัก เพื่อป้องกันการเกิดภาวะน้ำเกิน คุณยังควรทำสิ่งเหล่านี้อีกด้วย
- บันทึกปริมาณของเหลวที่คุณบริโภค
- ปฏิบัติตามแนวทางการดื่มน้ำที่แพทย์แนะนำ
- จัดการความกระหายที่เกิดขึ้นด้วยลูกอมที่ปราศจากน้ำตาล น้ำแข็ง องุ่นแช่แข็ง และอาหารที่มีของเหลวน้อยอื่น ๆ
- ทำให้แน่ใจว่าคุณไม่ได้บริโภคโซเดียมมากเกินไป