รองช้ำ หมายถึงอาการเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ ทำให้เกิดอาการเจ็บบริเวณฝ่าเท้าและส้นเท้า โดยเฉพาะเวลาลุกขึ้น หรือเวลาเดิน อาจเกิดขึ้นจากน้ำหนักตัว การยืนหรือเดินนาน ๆ การเล่นกีฬา หรือปัญหาจากโครงสร้างของฝ่าเท้า สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาแก้ปวดและทำกายภาพบำบัด
คำจำกัดความ
รองช้ำ คืออะไร?
โรครองช้ำ (Plantar fasciitis) หรือ โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ ผู้ที่ป่วยจะมีอาการเจ็บส้นเท้า หรือบางรายอาจเจ็บทั่วทั้งฝ่าเท้า โดยเฉพาะช่วงที่ตื่นนอนตอนเช้า หากลุกเดินในก้าวแรกจะมีอาการเจ็บ หรือก้าวแรกหลังจากที่นั่งพักเป็นเวลานาน
โรครองช้ำเป็นโรคที่พบได้บ่อย สาเหตุส่วนใหญ่ของโรค เกิดจากการใช้งานเท้าหนักเกินไปทำให้เกิดการสึกหรอ โดยปกติแล้ว เอ็นฝ่าเท้าจะช่วยรองรับอุ้งเท้า และทำหน้าที่ดูดซับแรงกระแทกขณะเดิน เมื่อเอ็นฝ่าเท้าเกิดการอักเสบ จึงทำให้รู้สึกปวด และเดินไม่สะดวก ส่วนใหญ่แล้ว โรคนี้มักจะเกิดกับคนในช่วงวัย 40-70 ปี และมักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
อาการ
อาการของรองช้ำ
อาการหลัก ๆ ของรองช้ำ หรืออาการปวดที่บริเวณส้นเท้า หรือฝ่าเท้า โดยเฉพาะเวลาที่ลุกขึ้นยืนจากท่านั่งหรือท่านอนเป็นเวลานาน ๆ และอาการปวดจะค่อย ๆ เบาลงเมื่อได้เคลื่อนไหวเท้า ก่อนที่จะกลับมาปวดอีกครั้ง วนไปมา
สาเหตุ
สาเหตุของโรครองช้ำ
- น้ำหนัก หากมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือเป็นโรคอ้วน มักจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรครองช้ำ เพราะน้ำหนักตัวจะกดลงที่เอ็นเท้า โดยเฉพาะช่วงที่น้ำหนักขึ้นอย่างฉับพลัน เช่น ในหญิงตั้งครรภ์ ที่อาจเกิดโรครองช้ำได้ โดยมักจะพบในช่วงสัปดาห์ท้ายๆ ของการตั้งครรภ์ที่น้ำหนักตัวเพิ่มสูงสุด
- การยืนหรือเดินนาน ๆ การทำงานบางอย่างที่ต้องยืนหรือเดินวันละหลายชั่วโมง เช่น ครู พนักงานขายในห้างสรรพสินค้า พนักงานในโรงงาน รวมถึงการยืนหรือเดินบนพื้นผิวแข็ งๆ เป็นระยะเวลานาน สามารถทำให้เอ็นฝ่าเท้าเกิดความเสียหายได้
- การเล่นกีฬาหรือกิจกรรมบางอย่าง กีฬาที่มีแรงกระแทกสูง หรือกิจกรรมทางร่างกายที่ต้องมีการกระโดดซ้ำๆ เช่น นักวิ่งระยะไกล นักบัลเลต์ การเต้นแอโรบิก สามารถทำให้เกิดความเสียหายที่เอ็นฝ่าเท้า และนำไปสู่โรครองช้ำได้
- โครงสร้างเท้า ปัญหาโครงสร้างเท้าก็มีส่วนให้เกิดโรครองช้ำได้ เช่น การมีอุ้งเท้าสูง เท้าแบน อาจทำให้เกิดโรครองช้ำได้ เนื่องจากทำให้เอ็นร้อยหวายซึ่งเชื่อมกล้ามเนื้อน่องกับส้นเท้าเกิดอาการตึง และส่งผลให้เอ็นฝ่าเท้าบาดเจ็บ การใส่รองเท้าพื้นเรียบแบนที่มีพื้นนิ่มเกินไปและปราศจากการรองรับเท้าที่ดี ก็สามารถทำให้เกิดโรครองช้ำได้เช่นกัน
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของรองช้ำ
ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของรองช้ำ มีดังต่อไปนี้
- เพศ ผู้หญิงมักมีโอกาศเป็นรองช้ำมากกว่าผู้ชาย
- อายุ ผู้ที่มีอายุ 40-60 ปีมักจะเกิดรองช้ำได้
- น้ำหนักตัว การมีน้ำหนักตัวอาจทำให้กล้ามเนื้อเอ็นฝ่าเท้าต้องรับน้ำหนักมาก และทำให้อักเสบได้ง่าย
- อาชีพ อาชีพที่ต้องยืนหรือเดินนาน ๆ อาจจะมีโอกาสเป็นรองช้ำได้ง่าย
- การใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ
- การมีเท้าแบน
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยรองช้ำ
คุณหมอสามารถวินิจฉัยรองช้ำได้ด้วยการตรวจร่างกายและดูอาการที่เป็น โดยอาจทำการตรวจดูบริเวณที่มีอาการปวด นอกจากนี้ คุณหมอก็อาจให้ทำการตรวจเอกซเรย์หรือ MRI หากสงสัยว่าอาจจะมีอาการอื่น ๆ เช่น กระดูกหัก ร่วมด้วย
การรักษารองช้ำ
-
ใช้ยาแก้ปวด
หากอาการไม่มากนัก ในเบื้องต้นการใช้ยาในกลุ่มยาลดการอักเสบที่ไม่มีสเตียรอยด์ (NSAID) เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) นาพรอกเซน (naproxen) สามารถช่วยลดอาการอักเสบและปวดได้
-
ทำกายภาพบำบัด
นักกายภาพบำบัดสามารถแนะนำท่ายืดกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยยืดกล้ามเนื้อบริเวณฝ่าเท้าและเอ็นร้อยหวาย และทำให้กล้ามเนื้อขาส่วนล่างแข็งแรงขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ข้อเท้าและส้นเท้ามีความมั่นคงมากขึ้นในยามใช้งาน นักกายภาพบำบัดยังสามารถช่วยสอนวิธีพันแถบผ้าเพื่อช่วยพยุงฝ่าเท้าได้อีกด้วย
-
ใส่เฝือกอ่อนตอนกลางคืน
นักกายภาพบำบัดหรือหมออาจจะแนะนำให้ใส่เฝือกอ่อน ซึ่งช่วยยืดเหยียดกล้ามเนื้อน่อง และอุ้งเท้าในขณะนอนหลับ ทั้งยังช่วยยืดฝ่าเท้าและเอ็นร้อยหวายในตอนกลางคืนได้ด้วย
-
ฉีดยา
เมื่อลองรักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วอาการปวดยังไม่ลดลง คุณหมออาจต้องรักษาด้วยการฉีดสเตียรอยด์เข้าไปบริเวณที่มีอาการปวด เพื่อให้อาการปวดบรรเทาลง แต่วิธีนี้ไม่สามารถทำได้บ่อยๆ เนื่องจากอาจทำให้กล้ามเนื้อถูกทำลายได้ ปัจจุบันนี้ มีการเปลี่ยนมาฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นที่ใช้ในการรักษา (Platelet-Rich Plasma – PRP) โดยใช้อัลตร้าซาวด์เป็นคลื่นนำทางเข้าสู่จุดที่เหมาะสมในการฉีด การฉีดด้วย PRP สามารถช่วยลดความเจ็บปวดได้ และข้อดีก็คือมีความเสี่ยงในการที่กล้ามเนื้อจะถูกทำลายน้อยกว่า
-
รักษาด้วยคลื่นกระแทก
กระบวนการนี้ จะเป็นการใช้คลื่นเสียงตรงบริเวณที่เจ็บปวดเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเยียวยาตัวเอง ปกติมักจะใช้กับโรครองช้ำเรื้อรังที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาตามปกติ การรักษาด้วยคลื่นกระแทกอาจทำให้เกิดอาการช้ำ บวม ปวด หรือชาได้ โดยการศึกษาบางชิ้นพบว่า การรักษาด้วยคลื่นกระแทก (Shockwave) แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่ดี แต่ประสิทธิภาพที่ได้ยังไม่ค่อยสม่ำเสมอเท่าใดนัก
-
ผ่าตัด
การรักษาอาการปวดด้วยการผ่าตัดจะใช้ในกรณีที่มีอาการปวดรุนแรงเท่านั้น โดยศัลยแพทย์จะผ่าตัดเพื่อแยกเอาเอ็นที่ฝ่าเท้าบางส่วนออกจากกระดูกส้นเท้า ซึ่งผลข้างเคียงก็คือกล้ามเนื้อที่อุ้งฝ่าเท้าอ่อนแอลง และอาจทำงานได้ไม่เหมือนเดิม การผ่าตัดอีกแบบหนึ่งเรียกว่า การผ่าตัดยืดเอ็นกล้ามเนื้อน่อง (Gastrocnemius recession) ที่ทำให้เอ็นกล้ามเนื้อน่องยาวขึ้น และไม่เกิดแรงดึงอยู่ตลอดเวลาที่เอ็นร้อยหวาย ก็ช่วยบรรเทาอาการของโรครองช้ำได้
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันรองช้ำ
การดูแลตัวเองก็มีส่วนช่วยให้ไม่เกิดโรครองช้ำได้ โดยเริ่มจากการ
- รักษาน้ำหนักให้อยู่เกณฑ์ในมาตรฐาน
- เลือกออกกำลังกายที่มีผลกระทบต่อเท้าต่ำ เช่น การว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน
- สำรวจรองเท้ากีฬาที่ใช้ ดูว่าชำรุดแล้วหรือยัง หากเก่าหรือพื้นสึกหมดแล้วก็ควรเปลี่ยน
- ไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูง ควรเลือกรองเท้าส้นเตี้ยหรือสูงปานกลางที่มีพื้นซึ่งสามารถรองรับเท้าและดูดซับแรงกระแทกได้ดี
- หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าบนพื้นแข็ง ๆ เพราะจะทำให้เกิดแรงกระแทกที่ทำลายกล้ามเนื้อที่ฝ่าเท้าได้
- หากปวดเท้า ให้บรรเทาอาการปวดด้วยการประคบเย็นเป็นเวลา 15-20 นาที สามหรือสี่ครั้งต่อวัน