backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

ปวดหัวด้านหลัง สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 15/02/2024

ปวดหัวด้านหลัง สาเหตุ อาการ และการรักษา

ปวดหัวด้านหลัง คือ อาการปวดศีรษะบริเวณด้านหลังตั้งแต่ตรงกลางจนถึงท้ายทอย ที่ทำให้รู้สึกเหมือนถูกบีบ ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาการตึงเครียด นั่งในท่าทางที่ไม่เหมาะสม โรคข้ออักเสบ ดังนั้น เมื่อรู้สึกว่ามีอาการปวดหัวด้านหลัง ควรเข้ารับการวินิจฉัยโดยคุณหมอ เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

ปวดหัวด้านหลัง มีสาเหตุมาจากอะไร

ปวดหัวด้านหลัง อาจมีสาเหตุดังต่อไปนี้

  • อาการตึงเครียด เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียดทางจิตใจ ความวิตกกังวล การใช้สายตาหนัก ระดับธาตุเหล็กในร่างกายต่ำ การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนปริมาณมาก ที่ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้อวัยวะของร่างกายรู้สึกตึงเครียดที่นำไปสู่อาการปวดหัวด้านหลังตลอดทั้งวัน โดยอาจเริ่มปวดจากบริเวณตรงกลางของด้านหลังศีรษะและค่อน ๆ ปวดหัวด้านหน้า บางคนอาจมีอาการปวดลงมาบริเวณท้ายทอยและกล้ามเนื้อไหล่
  • โรคข้ออักเสบ อาจทำให้รู้สึกปวดบริเวณท้ายทอยที่เกิดจากกระดูกในส่วนท้ายทอยเสียหายหรืออักเสบ ซึ่งบริเวณนี้จะรวมเส้นประสาทและหลอเลือดจึงอาจส่งผลให้หลอดเลือดบริเวณศีรษะอักเสบนำไปสู่อาการปวดหัวด้านหลังร่วมด้วยได้
  • อาการปวดเส้นประสาทท้ายทอย อาจเกิดขึ้นต่อเมื่อมีแรงกดบริเวณเส้นประสาทท้ายทอยหรือเกิดการบาดเจ็บบริเวณท้ายทอยที่กระทบต่อเส้นประสาททำให้เส้นประสาทนั้นถูกกดทับและเกิดการอักเสบนำไปสู่อาการปวดหัวด้านหลัง
  • การยืนและนั่งผิดท่า การนั่งหรือยืนในท่าทางที่ไม่เหมาะสมจากการทำงาน เรียน หรือออกกำลังกายและยกของหนักที่ใช้แรงมากเป็นเวลานานอาจทำให้กล้ามเนื้อ ข้อต่อบริเวณท้ายทอยที่เชื่อมกับศีรษะตึงและรู้สึกปวดจนส่งผลให้ปวดหัวด้านหลัง

อาการของปวดหัวด้านหลัง

นอกจากอาการของปวดหัวด้านหลัง ยังอาจมีอาการอื่น ๆ ที่ควรสังเกตดังนี้

  • มีอาการปวดหัวจี๊ด ๆ คล้ายกับไฟช็อต
  • อาการปวดหัวด้านหลังที่เป็น ๆ หาย ๆ 
  • มีอาการปวดหัวด้านหลังและเริ่มปวดหัวด้านหน้าร่วมด้วย
  • มีอาการปวดศีรษะข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง
  • มีอาการปวดหัวต่อเนื่องในวันถัดไป
  • มีปัญหาการนอนหลับ
  • รู้สึกหงุดหงิด
  • ไม่มีสมาธิในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
  • อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อท้ายทอยโดยเฉพาะเมื่อต้องหน้า

ควรเข้าพบคุณหมออย่างรวดเร็วหากรับประทานยาแก้ปวดและไม่ดีขึ้นหรือปวดหัวด้านหลังเป็นเวลาหลายวัน มีอาการปวดหัวตุบ ๆ หรือปวดหัวจี๊ดเป็น ๆ หาย ๆ เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม ช่วยเพิ่มคุณภาพการใช้ชีวิตได้ดีขึ้น

ปวดหัวด้านหลัง รักษาอย่างไร

ปวดหัวด้านหลังอาจรักษาได้ดังนี้

  • ยาแก้ปวด เช่น อะเซตามินโนเฟน (Acetaminophen) แอสไพริน (Aspirin) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพรอกเซน (Naproxen) เป็นยาในรูปแบบเม็ด แคปซูล และสารละลาย ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคข้ออักเสบ ปวดไมเกรน ปวดหัว ปวดประจำเดือน ปวดกล้ามเนื้อ โดยควรรับประทานทุก 4-6 ชั่วโมง หรือตามที่คุณหมอแนะนำ พร้อมน้ำเต็มแก้ว นอกจากนี้ควรรับประทานยาทั้งเม็ด ไม่ควรบดยา แบ่งยา เพราะอาจทำให้ได้รับยาในปริมาณไม่เหมาะสมและลดประสิทธิภาพยา ผลข้างเคียงยานี้อาจทำให้รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง แต่หากมีอาการรุนแรง เช่น ผื่นลมพิษ หัวใจเต้นเร็ว หายใจลำบาก สูญเสียการได้ยิน และอาการบวมที่ใบหน้า ลิ้น ริมฝีปาก ควรเข้าพบคุณหมออย่างรวดเร็ว สำหรับเด็กควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพรินเพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เด็กเป็นกลุ่มอาการเรย์ (Reye’s syndrome) กระทบต่อการทำงานของสมองและนำไปสู่การเสียชีวิตได้
  • ยาคลายกล้ามเนื้อ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการตังเครียดของกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกายหนัก ยกของหนัก นั่งและยืนในท่าทางที่ไม่เหมาะสม เพื่อช่วยลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อนำไปสู่การช่วยบรรเทาอาการปวดหัวด้านหลัง
  • การฉีดยาบล็อกเส้นประสาท เหมาะสำหรับผู้ที่ปวดหัวด้านหลังจากอาการปวดเส้นประสาทท้ายทอย เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดบริเวณท้ายทอยและอาจจำเป็นต้อเข้ารับการฉีดซ้ำในบางจุดหากอาการยังไม่ดีขึ้น
  • การใช้ไฟฟ้ากระตุ้นเส้นประสาทท้ายทอย เป็นการผ่าตัดที่คุณหมอจะนำอุปกรณ์หรือขั้วไฟฟ้าขนาดเล็กฝังไว้ใต้ผิวหนังใกล้กับเส้นประสาทท้ายทอย เพื่อส่งคลื่นไฟฟ้าไปยังเส้นประสาทท้ายทอยที่ช่วยลดความเจ็บปวดและบรรเทาอาการปวดหัวด้านหลัง
  • การนวดบำบัด อาจช่วยให้บรรเทาอาการตึงเครียดของกล้ามเนื้อบริเวณท้ายทอยและบรรเทาอาการปวดหัวด้านหลัง โดยควรนวดอย่างเบามือ หรือเข้าใช้บริการการนวดจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น การนวดแผนไทย การนวดแบบใช้ลูกประคบสมุนไพร การนวดกดจุด

นอกจากนี้ คุณหมออาจแนะนำให้ดูแลตัวเองในระหว่างหรือหลังการรักษาด้วยการลดความเครียด หลีกเลี่ยงการใช้แรงมากในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างวัน ปรับท่านั่งยืนในท่าที่เหมาะสม เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดหัวด้านหลังและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 15/02/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา