ในปัจจุบันเริ่มมีผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น โดยในปี 2564 นี้ ได้มีการประมาณสัดส่วนผู้สูงวัยในช่วง 60 ปีขึ้นไป มีถึง 20 % ของจำนวนประชากรทั้งหมดในไทย และในอนาคตอาจจะเพิ่มขึ้น เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและ สูงวัยอย่างมีคุณภาพ ให้มีความสุขไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกาย หรือสุขภาพจิต
[embed-health-tool-bmi]
เคล็ดลับ สูงวัยอย่างมีคุณภาพ มีอะไรบ้าง
การเป็นผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ คือการมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดี ซึ่งอาจทำได้ดังนี้
- การดูแลผิว เมื่ออายุเพิ่มขึ้นผิวพรรณอาจจะเริ่มหย่อนคล้อย และสูญเสียความชุ่มชื่น จึงควรหมั่นใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่อ่อนโยนในการดูแลผิว รวมถึงการดื่มน้ำ 8 แก้วอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เพื่อช่วยรักษาสุขภาพผิวและลดสัญญาณริ้วรอยแห่งวัย และทาครีมกันแดดเป็นประจำหากออกไปข้างนอก เนื่องจากรังสียูวีเป็นปัจจัยที่อาจทำให้เกิดริ้วรอย และมะเร็งผิวหนัง
- การดูแลสุขภาพปาก ผู้ที่ใช้ฟันปลอมควรดูแล และทำความสะอาดอย่างถูกวิธี เพื่อลดแบคทีเรีย และเชื้อโรคที่อาจอยู่ที่ฟันปลอม และหมั่นหาทันตแพทย์เป็นประจำ คือทุก ๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี
- การตรวจสุขภาพ เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ควรไปหาคุณหมอ เพื่อเช็คสุขภาพร่างกายอย่างน้อยปีละครั้ง
- การออกกำลังกาย หากออกกำลังกายอย่างเป็นประจำ จะช่วยให้ร่างกายมีความแข็งแรงและกระฉับกระเฉง เช่น การเดินอย่างน้อย 30 นาทีทุกวัน หรือแบ่งเวลาออกกำลังกายเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ 15 นาที 2 ครั้ง เพื่อไม่ให้รู้สึกเหนื่อยมากเกินไป นอกจากนี้ยังอาจช่วยบำรุงกระดูก และสร้างกล้ามเนื้อ รวมถึงอาจช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรค เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และช่วยเรื่องปัญหาการนอนหลับ โดยการวิจัยยังชี้ให้เห็นถึงการออกกำลังการแบบแอโรบิก อาจช่วยลดปัจจัยการเกิดโรคอัลไซเมอร์ หรือเกิดขึ้นช้าลง ทั้งนี้ควรปรึกษาคุณหมอว่าการออกกำลังกายแบบไหนจึงจะเหมาะสมกับสภาวะร่างกาย
- การรับประทานอาหาร ควรรับประทานอาหารที่ให้สารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเช่น แคลเซียม เพื่อช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง วิตามินดีที่ช่วยดูดซึมแคลเซียม อาจทำให้กระดูกแข็งแรงและอาจป้องกันการเป็นโรคกระดูกบางและกระดูกพรุน วิตามินบี 12 ที่ช่วยในเรื่องของระบบประสาทและการสร้างเม็ดเลือด วิตามินบี 6 ที่อาจลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจและช่วยเสริมการสร้างเม็ดเลือดแดง รวมถึงหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เพราะอาจทำให้เกิดโรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
- การมองโลกในแง่ดี การทำใจให้พร้อมรับมือและยอมรับกับความเสื่อมของร่างกายที่จะเกิดขึ้น การทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นโดยไม่หวังผล และรู้จักปล่อยวางไม่กังวลหรือคิดมากในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
- การเข้าสังคม การออกไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูง การหางานอดิเรกใหม่ ๆ ทำ รวมถึงการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น สามารถช่วยลดภาวะซึมเศร้า เพิ่มความสนุกและความสุขในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงหากอยาก สูงวัยอย่างมีคุณภาพ
ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงความคิดและการกระทำ ดังต่อไปนี้
- การเก็บตัวอยู่คนเดียว ไม่พบปะหรือติดต่อครอบครัว เพื่อน หรือบุคคลอื่น อาจส่งผลให้เป็นโรคซึมเศร้าได้
- การมองโลกในแง่ร้าย หากคิดว่าตนเองไม่มีประโยชน์ ไม่สามารถช่วยงานอะไรได้ เป็นภาระให้กับผู้อื่น อาจส่งผลกลายเป็นโรคเครียด เกิดอาการซึมเศร้า และอาจนอนไม่หลับได้
- การสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายได้ในระยะยาว
- การไม่ออกกำลังกาย อาจทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง และโรคร้ายต่าง ๆ อาจตามมา
- การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ควรงดอาหารประเภทเนื้อแดง อาหารขยะ อาหารที่ผ่านการแปรรูป เพราะการรับประทานอาหารเหล่านี้มากเกินไป อาจทำให้มีน้ำหนักตัวที่มากขึ้น เกิดความเสี่ยงเป็นโรคต่าง ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็น ความดันสูง กรดไหลย้อน และเบาหวาน