แต่บางครั้ง การเอ็กซเรย์ก็ไม่สามารถแสดงให้เห็นภาวะกระดูกหักได้ โดยเฉพาะ ภาวะข้อมือหัก ภาวะแตกหักล้า ภาวะสะโพกหัก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ สำหรับภาวะเหล่านี้ แพทย์อาจทำการทดสอบระเภทอื่นแทน เช่น การใช้ computed tomography scan (CT scan) หรือซีทีสแกน การใช้ magnetic resonance imaging (MRI) หรือการทำเอ็มอาร์ไอ ในการสแกนกระดูก
ในบางกรณี แพทย์อาจให้เข้าเฝือกในบริเวณข้อมือที่แตกหักก่อน เพื่อให้บริเวณนั้นขยับไม่ได้ จากนั้นจึงค่อยทำการเอ็กซเรย์ซ้ำใน 10-14 วันต่อมา บางครั้ง แม้จะวินิจฉัยอาการแตกหักแล้ว ก็อาจยังต้องทำการทดสอบอื่นเพิ่มเติม เช่น การทำซีทีสแกน (CT scan) การทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) การตรวจเอ็กซเรย์หลอดเลือด (angiogram)
สำหรับภาวะกะโหลกแตกหัก แพทย์อาจไม่ทำการเอ็กซเรย์แต่ทำซีทีสแกนแทน เนื่องจากสามารถวินิจฉัยอาการแตกหักและอาการบาดเจ็บอื่นๆ เช่น อาการเลือดออกในสมอง ที่อาจเกิดภายในกะโหลกได้
การรักษาภาวะกระดูกหัก
การรักษามีข้อสำคัญ คือ ส่วนที่แตกหักควรเคลื่อนกลับไปในตำแหน่งเดิมและควรป้องกันให้ไม่ขยับไปไหนจนกว่าจะได้รับการรักษา
กระดูกหักรักษาโดย “ประสาน” กระดูกส่วนที่แตกหักเข้ากับกระดูกใหม่ที่สร้างขึ้นบริเวณรอบๆ ส่วนแตกหัก
ภาวะกระดูกหักในบางกรณีอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โดยต้องประเมินจากความรุนแรงของกระดูกที่แตกหักว่าเป็นแบบแผลปิดหรือแผลเปิด รวมถึงกระดูกเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย