หลายคนอาจสงสัยว่า ขมิ้นกับข้ออักเสบ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร โดยขมิ้นเป็นพืชล้มลุกที่มีเหง้าสีเหลืองสด มีรสชาติเผ็ดร้อนอ่อน ๆ ผสมกับความขม มักถูกนำมาใช้เป็นสมุนไพร และใช้ส่วนประกอบของอาหาร ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ รวมถึงมีส่วนประกอบของสารทางเคมีที่มีชื่อว่า เคอร์คูมิน (Cur-cumin) ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการข้ออักเสบได้
[embed-health-tool-bmr]
ขมิ้น คืออะไร
ขมิ้น เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการนำไปใช้ประกอบอาหาร มีรสชาติเผ็ดร้อนอ่อน ๆ ผสมกับความขม ส่วนใหญ่ขมิ้นมักใช้เป็นส่วนผสมหลักในแกงต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีคุณสมบัติในการช่วยบรรเทาอาการข้ออักเสบ เนื่องจากขมิ้นมีส่วนประกอบของสารทางเคมีที่มีชื่อว่า เคอร์คูมิน (Cur-cumin) และสารอื่น ๆ ที่ช่วยบรรเทาอาการปวดหรืออักเสบ ดังนั้น ขมิ้นจึงอาจใช้ประโยชน์จากขมิ้นในการรักษาโรคต่าง ๆที่มีอาการอักเสบได้
ขมิ้นกับข้ออักเสบ สัมพันธ์กันอย่างไร
ในขมิ้นมีสารเคอร์คูมินซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ ซึ่งสารเคอร์คูมินอาจช่วยปิดกั้นกระบวนการทางชีวภาพที่ก่อให้เกิดการอักเสบได้ รวมถึงอาจมีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบและช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันมีการตอบสนองที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ขมิ้นยังอาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันการอักเสบของข้อต่อมากกว่าลดการอักเสบของข้อต่อ และอาจช่วยบรรเทาอาการปวดข้อเข่าได้ในระยะยาว
สำหรับปริมาณของขมิ้นที่ควรได้รับในแต่ละวันอยู่ที่ 500-2000 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการรับรองอย่างเป็นทางการถึงปริมาณของขมิ้นหรือเคอร์คูมินที่ควรใช้อย่างแน่ชัด แต่ปริมาณขมิ้นที่ได้รับการศึกษาเพื่อช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ อาจมีดังนี้
- โรคข้อเข่าอักเสบควรได้รับสารสกัดจากขมิ้น 500 มิลลิกรัม จำนวน 2 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 2-3 เดือน
- ผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูง ควรได้รับสารสกัดจากขมิ้น 700 มิลลิกรัม จำนวน 2 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 3 เดือน
- อาการคันที่ผิวหนังควรได้รับสารสกัดจากขมิ้น 500 มิลลิกรัม จำนวน 3 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 2 เดือน
อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกได้กำหนดปริมาณที่ร่างกายควรได้รับเคอร์คูมินได้ คือ 3 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และไม่ควรบริโภคขมิ้นหรือเคอร์คูมินในปริมาณมาก เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยใด ๆ ที่ยืนยันความปลอดภัยได้
ข้อควรระวังในการบริโภคขมิ้น
แม้ขมิ้นอาจช่วยบรรเทาอาการข้ออักเสบได้ แต่บางคนก็มีข้อควรระวังในการบริโภคขมิ้น ดังนี้
- ผู้หญิงตั้งครรภ์และผู้หญิงให้นมบุตร การบริโภคขมิ้นในปริมาณมากอาจกระตุ้นการทำงานของมดลูก และส่งผลเสียต่อทารกครรภ์ นอกจากนี้ ผู้หญิงที่ให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคขมิ้นในปริมาณมาก เพราะยังไม่มีข้อมูลที่สนับสนุนว่าการบริโภคขมิ้นระหว่างให้นมบุตรนั้นปลอดภัย
- ผู้ที่เป็นโรคถุงน้ำดี การบริโภคขมิ้นอาจทำให้ถุงน้ำดีหดตัวและทำให้อาการของโรคแย่ลง