ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
การดื่มกาแฟอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ และหากความดันโลหิตสูงเรื้อรัง อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือที่เรียกว่าภาวะหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากคาเฟอีนทำให้หลอดเลือดหดตัว ส่งผลให้ส่งเลือดไปเลี้ยงหัวใจและสมองได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะหากบริโภคคาเฟอีนเป็นประจำ
ทำให้รู้สึกวิตกกังวล
การบริโภคกาแฟเกินครั้งละ 400 มิลลิกรัม อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหากมีภาวะวิตกกังวล (Anxiety disorders) อยู่แล้ว เนื่องจากร่างกายได้รับการกระตุ้นจากฤทธิ์ของคาเฟอีนในปริมาณมาก คาเฟอีนจะไปปิดกั้นการทำงานของสารเคมีในสมองที่ชื่อว่าอะดีโนซีน (Adenosine) ที่ทำให้ร่างกายรู้สึกเหนื่อย ทั้งยังกระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนอะดรีนาลีนที่มีผลต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด เมื่อสมดุลของสารเคมีหรือฮอร์โมนเหล่านี้เปลี่ยนแปลง จึงอาจทำให้เกิดอาการวิตกกังวลและกระวนกระวายหลังบริโภคกาแฟได้
ข้อควรระวังเมื่อดื่มกาแฟ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
ข้อควรระวังในการดื่มกาแฟและเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ อาจมีดังนี้
- ไม่ควรบริโภคกาแฟมากกว่า 4 แก้ว/วัน เพราะอาจทำให้มีอาการปวดศีรษะ นอนไม่หลับ รู้สึกกระวนกระวาย หงุดหงิด หัวใจเต้นเร็วและรัวกว่าปกติ กลั้นปัสสาวะลำบาก กล้ามเนื้อกระตุก
- กาแฟอาจลดประสิทธิภาพการดูดซึมแคลเซียมในร่างกาย และเพิ่มการขับแคลเซียมออกจากร่างกายผ่านการปัสสาวะ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน เพราะแคลเซียมถือเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ช่วยทำให้กระดูกแข็งแรง
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน รวมถึงผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวาน ควรบริโภคคาเฟอีนอย่างระวัง เพราะคาเฟอีนในกาแฟจะไปเพิ่มภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ไม่ดี จนอาจส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
ปริมาณกาแฟที่สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย
- คนทั่วไปสามารถบริโภคกาแฟในปริมาณ 200 มิลลิกรัม/ครั้ง หรือ 400 มิลลิกรัม/วัน
- ผู้หญิงตั้งครรภ์ควรบริโภคกาแฟไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/วัน เนื่องจากคาเฟอีนอาจทำให้เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด กระทบต่อน้ำหนักของทารกแรกคลอด และอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้
- สำหรับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ควรบริโภคกาแฟไม่เกิน 300 มิลลิกรัม หรือ 3 แก้ว/วัน เนื่องจากคาเฟอีนอาจส่งผลให้กระดูกไขสันหลังเสื่อมเร็วขึ้น หากได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ โดยผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนควรได้รับแคลเซียมเสริมวันละ 1,000 มิลลิกรัม
- ผู้เป็นโรคกระดูกพรุน ควรบริโภคกาแฟไม่เกิน 300 มิลลิกรัม หรือ 3 แก้ว/วัน และรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมหรือหรืออาหารเสริมแคลเซียมเป็นประจำ เพื่อให้ได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ โดยควรได้รับแคลเซียมวันละ 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน
ทั้งนี้ คาเฟอีนไม่ได้มีพบแค่ในกาแฟเท่านั้น แต่ยังพบในเครื่องดื่มประเภทอื่น ๆ เช่น ชา ช็อกโกแลต น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง จึงควรบริโภคแต่พอดีในแต่ละวัน เพื่อให้ร่างกายสามารถรักษาสมดุล และป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ตามมา
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย