backup og meta

ในช่วงโควิด-19 จะป้องกันตัวได้อย่างไร เมื่อจำเป็นต้องออกจากบ้าน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    ในช่วงโควิด-19 จะป้องกันตัวได้อย่างไร เมื่อจำเป็นต้องออกจากบ้าน

    ในช่วงที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาดนี้ หลายๆ บ้านเลือกที่จะใช้วิธีการกักตัวอยู่ที่บ้าน เพื่อลดการออกไปพบปะผู้คน และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ แต่การกักตัวอยู่ที่บ้านก็ใช่ว่าเราจะสามารถขังตัวเองไว้ในบ้านได้ตลอด และอาจจะมีเรื่องทำให้เราจำเป็นต้องออกจากบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการออกไปซื้ออาหาร รับของ หรือทำธุระอื่นๆ บทความนี้จะมาแนะนำวิธี การป้องกันตัวจากโควิด 19 เมื่อเราจำเป็นต้องออกจากบ้าน

    การป้องกันตัวจากโควิด 19 เมื่อต้องออกไปข้างนอก

    ออกไปซื้ออาหารและสินค้าจำเป็น

    อาหารและสิ่งของจำเป็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาร เนื้อสัตว์ ไข่ หรือสิ่งของ เช่น สบู่ ครีมอาบน้ำ ยาสระผม หรือยาสามัญประจำบ้านต่างๆ เป็นของสำคัญที่จำเป็นต้องกักตุน และมักจะหมดไปเป็นอย่างแรกๆ ทำให้เราจำเป็นต้องออกไปข้างนอกเพื่อหาซื้อมาเติม

    เมื่อจำเป็นต้องออกไปข้างนอกเพื่อซื้ออาหารและสิ่งของเครื่องใช้ ควรพยายามป้องกันตัวเองจากโควิด-19 ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • หากเป็นไปได้ ควรเลือกใช้บริการสั่งของส่งถึงบ้าน ในปัจจุบันนี้มีบริการส่งสินค้าและอาหารตรงถึงบ้านให้เลือกใช้อย่างมากมาย ทำให้เราไม่จำเป็นต้องออกจากบ้านไปซื้อของเลย
    • สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน จะใช้เป็นหน้ากากผ้าก็ได้
    • พยายามเลือกเวลาที่คนไม่ค่อยเยอะ เช่น เช้าตรู่ หรือดึกๆ
    • หลีกเลี่ยงบริเวณที่คนหนาแน่น และพยายามยืนให้ห่างจากคนอื่นเวลาต่อคิวจ่ายเงิน
    • เลือกซื้อของจากร้านที่ดูมั่นใจว่าสะอาด มีเจลล้างมือให้ และคนขายหรือคนซื้อโดยรอบไม่มีอาการป่วยให้เห็น
    • พยายามอย่าสัมผัสหน้า จมูก หรือปากเป็นอันขาด
    • ถ้าเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินสด โดยเลือกวิธีจ่ายผ่านทางออนไลน์ เครดิตการ์ด หรือการโอนเข้าทางบัญชีแทน
    • ใช้เจลล้างมือทุกครั้งหลังจากซื้อของหรือจับเงิน
    • เมื่อกลับถึงบ้าน ควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่เป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาที
    • ถอดหน้ากากอนามัย โดยพยายามไม่จับบริเวณตรงกลางหน้ากาก แล้วทิ้งหน้ากาก หรือซักหน้ากากทันทีหากเป็นหน้ากากผ้า

    ออกไปรับของ

    การสั่งของให้มาส่งที่บ้าน เรายังจำเป็นต้องออกจากบ้านไปรับสินค้าและจ่ายเงิน ในช่วงระหว่างนี้ หากไม่ระมัดระวัง ก็อาจจะทำให้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ ดังนั้น จึงควรปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

    • พยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสตัวคนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และอยู่ห่างจากคนส่งของอย่างน้อย 1 เมตร
    • หากเป็นไปได้ไม่ควรจ่ายด้วยเงินสด แต่ใช้เป็นวิธีจ่ายเงินทางออนไลน์แทน เพราะเชื้อไวรัสสามารถปะปนมาทางธนบัตรได้
    • รับส่งของในจุดที่ปลอดภัย เช่น ให้คนส่งแขวนสินค้าไว้ที่รั้วบ้าน แล้วก็จ่ายเงินผ่านทางออนไลน์ แล้วค่อยออกไปรับของเมื่อคนส่งจากไปแล้ว
    • ของที่รับเข้ามา ควรฉีดพ่นทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ก่อน และล้างมือทันทีหลังจากรับของ

    ออกไปธนาคาร

    ตู้ ATM หรือธนาคาร ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่อันตรายในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่หากคุณไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

  • หากเป็นธุรกรรมขนาดย่อม เช่น ถอนเงิน ฝากเงิน โอนเงิน หรือปรับสมุดเงินฝาก ควรใช้ตู้ ATM สาธารณะของธนาคารที่หาได้ทั่วไป พยายามเลือกตู้ที่มีคนน้อย ไม่แออัด
  • ยืนต่อคิวให้ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร
  • ใช้สเปรย์แอลกอฮอล์พ่นเช็ดบนแป้นกดตัวเลข หรือหากไม่มี หลังจากกดเสร็จควรล้างมือด้วยเจลล้างมือทันที
  • ล้างมือทันทีหลังจากสัมผัสเงินสด
  • หากจำเป็นต้องไปธนาคาร อย่าลืมสวมหน้ากากอนามัย และพยายามยืนให้ห่างจากผู้อื่น
  • ออกไปโรงพยาบาล

    โรงพยาบาลเป็นอีกหนึ่งจุดเสี่ยงที่อาจจะมีเชื้อไวรัสแฝงอยู่ ถ้าเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาล แต่หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรปฏิบัติตามนี้

    • หากเป็นเพียงแค่การนัดไปรับยา หรือตรวจร่างกายประจำปี ควรหลีกเลี่ยง หรือให้ผู้ที่แข็งแรง มีสุขภาพดีเป็นคนไป
    • หากต้องพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ยิ่งต้องป้องกันผู้ป่วยอย่างระมัดระวัง
    • ใส่หน้ากากอนามัย
    • ล้างมือให้บ่อยๆ
    • พยายามอย่าสัมผัสใบหน้า ดวงตา หรือปาก
    • หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีคนเยอะ และยืนให้ห่างจากผู้อื่น
    • พยายามอย่าจับพื้นผิวอะไรในโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นราวบันได โต๊ะ หรือเก้าอี้
    • ทันทีที่กลับถึงบ้าน ควรอาบน้ำล้างตัวให้สะอาด และซักเสื้อผ้าในทันที

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา