backup og meta

การฉีดไฟเซอร์ในเด็ก ข้อมูลต่าง ๆ ที่ควรรู้

การฉีดไฟเซอร์ในเด็ก ข้อมูลต่าง ๆ ที่ควรรู้

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในประเทศไทย ได้อนุญาตให้มีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 5-11 ปี ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เพื่อป้องกันเด็ก ๆ จากการติดเชื้อโควิด-19 และความเสี่ยงต่าง ๆ โดยการฉีดไฟเซอร์ในเด็กอายุ 5-11 ปีจะเริ่มตั้งแต่ 31 มกราคม พ.ศ. 2565 ทั้งนี้ ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจในข้อมูลของวัคซีนไฟเซอร์ การเตรียมความพร้อมก่อนพาลูกหลานไปฉีดวัคซีน รวมถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของลูกหลาน

วัคซีนไฟเซอร์ คืออะไร มีความปลอดภัยแค่ไหน

วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) หรือมีชื่อทางการว่า BNT162b2 เป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA (Messenger Ribonucleic Acid) เช่นเดียวกับวัคซีนโมเดอร์นา BNT162b2 คิดค้นโดยบริษัทเวชภัณฑ์อเมริกัน ไฟเซอร์ ร่วมกับบริษัทสัญชาติเยอรมันไบออนเทค (BioNTech)

เมื่อฉีดไฟเซอร์เข้าสู่ร่างกาย สารพันธุกรรม mRNA ในวัคซีนจะสอนให้ร่างกายสร้างโปรตีนเฉพาะของไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 ขึ้นมา วิธีนี้จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้สร้างแอนติบอดีเพื่อต่อสู้กับโปรตีนดังกล่าวในฐานะสิ่งแปลกปลอม และเมื่อ SARS-CoV-2 เข้ามาในร่างกายจริง ๆ ร่างกายของผู้ได้รับวัคซีนก็จะต่อสู้กับไวรัส

mRNA เป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยสูง และสามารถปรับปรุงพัฒนาวัคซีนเพื่อรองรับการกลายพันธุ์ของไวรัสได้ง่าย

ปริมาณของวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็ก

เด็กอายุ 5-11 ปี จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ปริมาณ 0.2 มิลลิลิตร โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 3 สัปดาห์ ซึ่งการฉีดไฟเซอร์ให้เด็กอายุ 5-11 ปี มีประสิทธิภาพป้องกันโรคโควิด-19 สูงถึง 90.7% อ้างอิงจากข้อมูลของผู้ผลิตวัคซีน นอกจากนี้ การศึกษาซึ่งนำโดยกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอล ยังชี้ว่า การฉีดวัคซีนในเด็กช่วยลดความเสี่ยงติดโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนได้ราว 50% เมื่อเทียบกับเด็กซึ่งยังไม่ได้รับวัคซีน

ปัจจุบัน หลายประเทศอนุญาตให้เด็กอายุ 5-11 ปี ฉีดวัคซีนฉีดไฟเซอร์แล้ว ทั้งสหรัฐอเมริกา อิสราเอล ฝรั่งเศส สิงคโปร์ และญี่ปุ่น

ทำไมต้องพาเด็กไปฉีดไฟเซอร์

  • เพื่อป้องกันเด็กอายุ 5-11 ปีจากโควิด-19 และป้องกันอาการรุนแรงที่เกิดจากโรค ซึ่งอาจอันตรายถึงชีวิต
  • เพื่อป้องกันไม่ให้สมาชิกในครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิดติดโควิด-19 จากเด็ก โดยเฉพาะคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งป่วยได้ง่าย เช่น หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคต่าง ๆ เช่น มะเร็ง โรคไตเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรัง เบาหวาน ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเอดส์
  • เพื่อให้เด็กสามารถไปโรงเรียน ทำกิจกรรมนอกบ้าน และใช้ชีวิตได้ตามปกติ

คำแนะนำก่อนพาเด็กไปฉีดไฟเซอร์

  • อธิบายให้เด็ก ๆ เข้าใจถึงเหตุผลที่ต้องฉีดวัคซีน และเล่าอย่างตรงไปตรงมาว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง เช่น ขั้นตอนการฉีด ความเจ็บปวด ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อลดความเครียดของเด็กในสถานการณ์จริง
  • ควรนำของเล่นหรือหนังสือติดไปด้วย เพราะสามารถทำให้เด็ก ๆ สบายใจและผ่อนคลาย นอกจากนี้ ในกรณีของเด็กที่กลัวเข็ม ผู้ปกครองอาจใช้ของเล่นเพื่อลดความเครียดและดึงความสนใจจระหว่างฉีดวัคซีนได้
  • ไม่ควรให้เด็กรับประทานยาแก้ปวดก่อนฉีดวัคซีน เพื่อให้แน่ใจว่าระบบภูมิคุ้มกันของเด็กจะตอบสนองต่อวัคซีนอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยาแก้ปวดอาจทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงได้
  • หากลูกหลานเป็นภูมิแพ้ ควรแจ้งให้คุณหมอหรือพยาบาลทราบ
  • ควรให้เด็ก ๆ นั่งหรือนอนขณะฉีดวัคซีน หรือตอนพักดูอาการ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น

ผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนไฟเซอร์

เช่นเดียวกับการฉีดไฟเซอร์ในบุคคลทั่วไป การฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ดังนี้

  • อาการปวด บวม แดง บริเวณที่ถูกฉีดวัคซีน
  • ปวดหัว
  • เหนื่อยล้า
  • ไข้
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • คลื่นไส้

ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา แนะนำว่าผลข้างเคียงต่าง ๆ จะหายไปเองภายใน 2-3 วัน และมีความเป็นไปได้น้อยมาก ที่จะพบผลข้างเคียงที่รุนแรงหรืออันตรายถึงชีวิต เช่น

  • ภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน อาจมีอาการหัวใจเต้นแรง หายใจลำบาก คอบวม มีผื่นขึ้น
  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน อาจมีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย ขาบวม หรือปวดหัวอย่างรุนแรง ขึ้นกับบริเวณของร่างกายที่เกิดลิ่มเลือดอุดตัน
  • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื้อหุ้มหัวใจอักเสบ อาจมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หัวใจเต้นแรงหรือใจสั่น

หากผู้ปกครองพบอาการผิดปกติในลูกหลานหลังฉีดไฟเซอร์ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่หรือรีบพาลูกหลานไปพบคุณหมอทันที

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

COVID-19 Vaccines for Children and Teens. https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/recommendations/children-teens.html. Accessed January 24, 2022

อาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19: สิ่งทีผู้ปกครองและคนหนุ่มสาวควรทราบ

https://www.doh.wa.gov/Portals/1/Documents/1600/coronavirus/348-835-MyocarditisAfterVaccination-Thai.pdf. Accessed January 24, 2022

Selected Adverse Events Reported after COVID-19 Vaccination. https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/safety/adverse-events.html#:~:text=Selected%20Adverse%20Events%20Reported%20after%20COVID%2D19%20Vaccination. Accessed January 24, 2022

Does the COVID-19 vaccine protect kids from the omicron and delta variants of the virus?. https://www.healthychildren.org/English/tips-tools/ask-the-pediatrician/Pages/How-are-COVID-19-variants-like-delta-and-delta-plus-affecting-children.aspx. Accessed January 24, 2022

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน: รู้เท่าทัน ภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำภายหลังฉีดวัคซีน โควิด-19. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/564/%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%9419-%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%99/. Accessed January 24, 2022

รู้จัก mRNA วัคซีนที่คนไทยเรียกหา. https://vichaivej-nongkhaem.com/health-info/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81mrna/. Accessed January 24, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

26/01/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีป้องกันตนเองจาก เชื้อไวรัส โควิดระบาดในช่วงเทศกาล

บูสเตอร์โดส วัคซีนป้องกันโควิด จำเป็นหรือไม่ เหมาะกับใคร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 26/01/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา