backup og meta

น้ำท่วมปอด อาการ สาเหตุ การวินิจฉัย การรักษา

น้ำท่วมปอด อาการ สาเหตุ การวินิจฉัย การรักษา

น้ำท่วมปอด คือ ภาวะที่เกิดจากการมีของเหลวในช่องเยื่อหุ้มปอดมากกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากโรคปอดอักเสบ (โรคปอดบวม) การติดเชื้อไวรัส ภาวะหัวใจขาดเลือด ภาวะไตวาย เป็นต้น หากพบสัญญาณของภาวะน้ำท่วมปอด ควรรีบเข้าพบคุณหมอ เพราะหากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

[embed-health-tool-heart-rate]

คำจำกัดความ

น้ำท่วมปอด คืออะไร

น้ำท่วมปอด (Pulmonary Edema) หรือปอดบวมน้ำ เป็นภาวะที่เกิดจากมีของเหลวส่วนเกินในช่องเยื่อหุ้มปอด ส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจลำบากเนื่องจากการขาดออกซิเจน ปอดอักเสบจากการสัมผัสกับสารพิษ ภาวะหัวใจล้มเหลว การใช้ยาบางชนิด เป็นต้น ภาวะน้ำท่วมปอดมีทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง แต่หากผู้ป่วยเกิดภาวะปอดบวมแบบเฉียบพลัน ต้องรีบเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

น้ำท่วมปอด พบได้บ่อยเพียงใด

น้ำท่วมปอดเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย กรุณาปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของน้ำท่วมปอด

น้ำท่วมปอดเฉียบพลัน อาจทำให้มีอาการดังนี้

  • หายใจลำบาก หรือหายใจถี่ และอาการยิ่งแย่ลงเมื่อต้องออกแรง หรือนอนหงาย
  • ไอพร้อมมีเสมหะเป็นฟอง ซึ่งอาจเป็นสีชมพูเพราะมีเลือดปน
  • หายใจมีเสียงหวีด หรือหายใจหอบ
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • มีไข้
  • ปวดศีรษะ
  • ตัวเย็น ผิวชื้น
  • ปากเขียวคล้ำ
  • รู้สึกวิตกกังวล กระสับกระส่าย หรือหวาดหวั่น

หากพบว่ามีอาการของภาวะน้ำท่วมปอดเฉียบพลัน ควรเข้าพบคุณหมอทันที เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

น้ำท่วมปอดเรื้อรัง อาจทำให้มีอาการดังนี้

  • หายใจลำบาก หรือหายใจถี่ และอาการยิ่งแย่ลงเมื่อต้องออกแรง หรือนอนหงาย
  • ตื่นกลางครันบ่อย ๆ เพราะไอหรือรู้สึกหายใจไม่ออก และอาการอาจดีขึ้นเมื่อลุกขึ้นนั่ง
  • หายใจถี่รุนแรงเมื่อออกแรง หรือออกกำลังกาย
  • หายใจมีเสียงหวีด
  • น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • แขนขาบวม
  • อ่อนเพลีย
  • ไออย่างหนัก

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากมีอาการที่เป็นสัญญาณของภาวะน้ำท่วมปอดเฉียบพลันควรรีบเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แนะนำว่าควรเรียกรถพยาบาล อย่าเดินทางไปสถานพยาบาลเอง เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินระหว่างเดินทาง เจ้าหน้าที่จะได้รักษาเบื้องต้นได้อย่างเหมาะสม

สาเหตุ

สาเหตุของน้ำท่วมปอด

น้ำท่วมปอดมักเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับการเต้นของหัวใจ หรือเกิดจากหัวใจห้องล่างซ้ายไม่สามารถสูบฉีดเลือดที่มาจากปอดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ ส่งผลให้เกิดแรงดันและของเหลวที่สะสมอยู่ย้อนกลับไปที่ปอด

นอกจากนี้ ภาวะหลอดเลือดแดงตีบ กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม ปัญหาลิ้นหัวใจผิดปกติ และความดันโลหิตสูง ก็สามารถทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจห้องล่างซ้ายลดลง และสาเหตุดังต่อไปนี้ก็อาจทำให้เกิดน้ำท่วมปอดได้เช่นกัน

  • กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน
  • เลือดอุดตัน
  • การสัมผัสกับแอมโมเนีย คลอรีน หรือสารพิษอื่น ๆ
  • การสูดดมควันที่มีสารเคมีบางชนิด
  • การบาดเจ็บของสมองหรือระบบประสาท
  • ลิ่มเลือดอุดตันในปอด
  • การจมน้ำ
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด
  • การติดเชื้อไวรัส

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยน้ำท่วมปอด

วิธีการรักษาน้ำท่วมปอดนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล โดยขั้นต้น หากผู้ป่วยมีปัญหาในการหายใจ คุณหมออาจให้ออกซิเจนผ่านทางหน้ากากออกซิเจนหรือสอดท่อออกซิเจนเข้าทางรูจมูกทันทีหากระดับออกซิเจนต่ำ และคุณหมออาจตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีดังต่อไปนี้ด้วย

  • การตรวจเลือด เพื่อหาสาเหตุของภาวะน้ำท่วมปอด และวัดระดับออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด
  • การเอกซเรย์ทรวงอก เพื่อตรวจสอบว่ามีของเหลวในปอดหรือไม่
  • การสวนหัวใจ หรือการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นวิธีการเอกซเรย์หัวใจผ่านสายสวน เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ และหาสาเหตุที่อาจทำให้น้ำท่วมปอด
  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ และการไหลเวียนเลือดว่าเป็นปกติหรือไม่
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงาน และจังหวะการเต้นของหัวใจ

การรักษาน้ำท่วมปอด

การรักษาน้ำท่วมปอดขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ อย่างไรก็ตาม วิธีรักษาน้ำท่วมปอดที่นิยมใช้ ได้แก่

  • การรักษาด้วยยา
    • ยาขับปัสสาวะ ช่วยขับของเหลวส่วนเกินออกจากปอด และช่วยลดความดันเลือด หากรักษาน้ำท่วมปอดด้วยยานี้ อาจทำให้ถ่ายปัสสาวะบ่อยขึ้น
    • ยารักษาโรคหัวใจ อาจช่วยปรับจังหวะและอัตราการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติขึ้น หรืออาจช่วยลดความดันเลือด
    • ยาขยายหลอดเลือด อาจช่วยขยายหลอดเลือดในหัวใจและปอด ส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ความดันเลือดต่ำลง และอาการน้ำท่วมปอดอาจดีขึ้นได้
  • การใช้เครื่องมือช่วยในการหายใจ
    • เครื่องผลิตออกซิเจน ที่นิยมใช้ได้แก่ ชนิดสายออกซิเจนแบบผ่านจมูก และชนิดหน้ากากออกซิเจน เมื่อได้รับออกซิเจนแล้ว จะช่วยให้หายใจได้ดีขึ้น และช่วยลดความดันในปอด การให้ออกซิเจน
    • เครื่องช่วยหายใจชนิดไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ จะช่วยเพิ่มอากาศให้ปอดผ่านทางหน้ากากครอบจมูกและปาก

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่อาจช่วยป้องกันน้ำท่วมปอด

  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผักและผลไม้สด ธัญพืช เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน
  • ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม
  • บริโภคเกลือให้น้อยลง
  • ออกกำลังเป็นประจำ
  • ลดหรือเลิกสูบบุหรี่
  • งดหรือลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Pulmonary edema. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/pulmonary-edema/symptoms-causes/syc-20377009. Accessed March 2, 2020

Pulmonary Edema: Know the Signs and Get the Facts. https://www.webmd.com/lung/the-facts-about-pulmonary-edema#1. Accessed March 2, 2020

Pulmonary Edema. https://www.kindredhealthcare.com/our-services/ltac/conditions/pulmonary-edema. Accessed March 2, 2020

Pulmonary Edema. https://medlineplus.gov/ency/article/000140.htm. Accessed March 2, 2020

Pulmonary Oedema. https://www.svhlunghealth.com.au/conditions/pulmonary-oedema. Accessed March 2, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/02/2024

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ควันธูป ตัวการร้าย สร้างภัย มะเร็งปอด

ฝึกหายใจขยายปอด หายใจถูกวิธี ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของปอดได้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 28/02/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา