แพ้นม หมายถึงภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันมีปฏิกิริยาต่อโปรตีนที่อยู่ในนม ทำให้เกิดอาการแพ้ตั้งแต่อาการระดับเบา เช่น ผื่นคัน ปวดท้อง ท้องเสีย ไปจนถึงอาการรุนแรง เช่น หายใจติดขัด อาเจียน ลมพิษ สามารถจัดการได้ด้วยการใช้ยาแก้แพ้ อย่างไรก็ตาม บางคนอาจสับสนระหว่างการแพ้นมกับภาวะการย่อยแลคโตสผิดปกติ ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสในนม ทำให้เกิดอาการที่คล้ายกับการแพ้นม แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้แพ้เพื่อรักษา
คำจำกัดความ
แพ้นม คืออะไร
แพ้นม (milk allergy) คือโรคภูมิแพ้ที่เกิดจากปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนชนิดหนึ่งในน้ำนมสัตว์ เช่น โปรตีนอัลฟ่า เอส1-เคซีน (alpha S1-casein) โดยส่วนใหญ่นั้นมักเกิดจากนมวัว แต่นมแกะ นมแพะ นมควาย และนมจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ ก็สามารถทำให้เกิดอาการนี้ได้
อาการแพ้นั้นมักจะในเวลาไม่กี่นาทีถึงหลายชั่วโมง หลังจากที่ได้บริโภคนมเข้าไปแล้ว สัญญาณและอาการแพ้ มีตั้งแต่ระดับเบาไปจนถึงรุนแรง และอาจมีอาการหายใจมีเสียงหวีด อาเจียน ลมพิษและปัญหาที่ระบบทางเดินอาหาร ในบางครั้งอาการภูมิแพ้นมอาจทำให้เกิดภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง (Anaphylaxis) ซึ่งเป็นอาการที่รุนแรงถึงชีวิต
ในบางครั้งอาการภูมิแพ้นมนั้น อาจสับสนกับภาวะการย่อยแลคโตสผิดปกติ (lactose intolerance) เพราะมีอาการคล้ายกัน แต่สองโรคนี้แตกต่างกันอย่างมาก โดยภาวะการย่อยแลคโตสผิดปกตินั้นจะเกิดขึ้น หากคนๆ นั้นขาดเอนไซม์แลคเตส (Lactase) ในลำไส้ ที่จะเผาผลาญน้ำตาลแลคโทสในนม
แพ้นมพบได้บ่อยแค่ไหน
นมวัวเป็นสาเหตุหลักของอาการแพ้ในเด็กเล็ก และเป็นหนึ่งในแปดอาหารที่เป็นสาเหตุของอาการภูมิแพ้ใน 90% ของเด็ก สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดปรึกษากับแพทย์
อาการ
อาการของแพ้นม
อาการของภูมิแพ้นม อาจแตกต่างไปในแต่ละคน มักจะเกิดขึ้นในเวลาไม่กี่นาทีถึงหลายชั่วโมงหลังจากที่ดื่มนม หรือรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของนม
สัญญาณและอาการที่เกิดในทันทีหลังจากการบริโภคนมเข้าไปแล้ว อาจมีอาการดังนี้
- ลมพิษ
- หายใจมีเสียงหวีด
- อาเจียน
สัญญาณและอาการที่ใช้เวลาในการเกิดนานกว่า มีดังนี้
- ถ่ายอุจจาระเหลว ซึ่งอาจจะมีเลือดปะปน
- ท้องร่วง
- ปวดท้อง
- ไอและหายใจมีเสียงหวีด
- น้ำมูกไหล
- น้ำตาไหล
- ผื่นคันที่ผิวหนัง มักจะเกิดบริเวณรอบปาก
อาการของการย่อยนมผิดปกติ
ภูมิแพ้นมที่แท้จริงนั้น แตกต่างจากการย่อยโปรตีนนมที่ผิดปกติ เพราะอาการย่อยนมผิดปกติไม่ได้เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน อาการย่อยนมผิดปกติมีอาการที่แตกต่างกัน และต้องรักษาแตกต่างจากภูมิแพ้นม
สัญญาณและอาการทั่วไปของอาการย่อยนมผิดปกตินั้น ได้แก่ ปัญหาระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด มีแก๊ส หรือท้องร่วง หลังจากที่บริโภคนมหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของนมเข้าไปแล้ว
ควรไปพบหมอเมื่อไร
หากเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง ดังนี้
- หลอดลมตีบ รวมไปจนถึงอาการบวมที่ลำคอ ทำให้หายใจได้ลำบาก
- หน้าแดง
- คัน
- ความดันโลหิตลลดลง
- ช็อค
หากผู้ป่วยมีอาการแพ้อย่างรุนแรง ควรฉีดสารอะดรีนาลีนอย่างอิพิเนฟริน (Epinephrine) แล้วรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาในทันที
สาเหตุ
สาเหตุของอาการแพ้นม
โรคภูมิแพ้อาหารทั้งหมด เกิดขึ้นจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ที่เข้าใจว่าโปรตีนนมบางชนิดเป็นอันตราย จึงผลิตอิมมูโนโกลบุลิน อี (Immunoglobulin E) ซึ่งเป็นแอนติบอดี้ออกมาต่อต้านสารก่อภูมิแพ้ และส่งสัญญาณให้ระบบภูมิคุ้มกันปล่อยฮิสทามีน (Histamine) และสารเคมีอื่นๆ ทำให้เกิดสัญญาณและอาการแพ้
มีโปรตีนในนมวัวอยู่สองชนิดหลัก ที่สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ ได้แก่
- เคซีน (Casein)
- เวย์ (Whey)
อาการแพ้นมอาจเกิดจากโปรตีนนมทั้งหนึ่งหรือสองชนิด โปรตีนเหล่านี้อาจจะยากต่อการหลีกเลี่ยง เพราะอาจพบได้อาหารแปรรูปบางอย่าง นอกจากนี้ คนส่วนใหญ่ที่มีปฏิกิริยากับนมวัว มักจะมีปฏิกิริยากับนมแกะ นมแพะ และนมความด้วยเช่นกัน
โรคลำไส้อักเสบที่เกิดจากโปรตีนในอาหาร (Food protein-induced enterocolitis syndrome)
ในบางครั้งอาหารก่อภูมิแพ้ อาจจะก่อให้เกิดอาการแพ้อาหารแบบล่าช้า (Delayed food allergy) แม้ว่าอาหารใดๆ ก็สามารถเป็นตัวกระตุ้นได้ แต่นมนั้นเป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบได้ทั่วไป ปฏิกิริยาทั่วไปภายหลังการรับประทานอาหารตัวกระตุ้นเข้าไป คือการอาเจียนและท้องร่วง มักจะเกิดขึ้นหลังจากผ่านไปหลายชั่วโมงมากกว่าในทันที
อย่างไรก็ตาม โรคลำไส้อักเสบที่เกิดจากโปรตีนในอาหาร มักจะหายเมื่อเวลาผ่านไป วิธีการป้องกันโรคลำไส้อักเสบที่เกิดจากโปรตีนในอาหาร ก็คือการหลีกเลี่ยงนมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่นเดียวกันกับวิธีการป้องกันโรคภูมิแพ้นมอื่นๆ
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของโรคภูมิแพ้นม
- โรคภูมิแพ้อื่นๆ เด็กส่วนมากที่เป็นโรคภูมิแพ้นม มักจะเป็นโรคภูมิแพ้อื่นๆด้วยเช่นกัน โดยมักจะเป็นโรคภูมิแพ้นมก่อน
- ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) เด็กที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังซึ่งก็คือโรคอักเสบที่ผิวหนังเรื้อรังทั่วไปนั้น มักจะมีอาการภูมิแพ้อาหารด้วยเช่นกัน
- ประวัติในครอบครัว ความเสี่ยงของการเป็นโรคภูมิแพ้อาหารจะเพิ่มมากขึ้น หากมีพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้อาหารหรือภูมิแพ้อื่น ๆ เช่น ไข้ละอองฟาง โรคหืดหอบ โรคลมพิษ โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง
- โรคภูมิแพ้นมนั้นจะพบมากในเด็ก เมื่อโตขึ้นระบบทางเดินอาหารจะแข็งแรงขึ้น และร่างกายก็มักจะไม่ค่อยมีปฏิกิริยากับนมแล้ว
การวินิจฉัยโรคและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้นม
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคภูมิแพ้จะซักประวัติ เช่น ถามว่ารับประทานอะไรไป อาการที่เป็น ระยะเวลาของอาการนั้น และวิธีที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการ
วิธีการตรวจสอบโรคภูมิแพ้โดยทั่วไปคือการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (skin-prick test) หรือการตรวจเลือด ทั้งสองวิธีทำเพื่อหาแอนติบอดี้อิมมูโนโกลบุลิน อี ที่ผลิตขึ้นมา เมื่อร่างกายสัมผัสกับสารกระตุ้น แอนดิบอดี้นี้จะกระตุ้นให้ปล่อยสารเคมีซึ่งทำให้เกิดอาการแพ้
ในการสะกิดผิวนั้นจะใช้ของเหลวที่ประกอบไปด้วยนม หรือสารสกัดโปรตีนนม มาทาที่ปลายแขนหรือที่หลัง โดยคุณหมอจะสะกิดผิวด้วยแท่งโลหะขนาดเล็กและปลอดเชื้อ ทำให้ของเหลวนั้นซึมเข้าไปในผิว หากมีรอยสีแดงเข้มขึ้นมา โดยปกติแล้วมักจะภายใน 15 ถึง 20 นาที นั่นอาจบ่งบอกถึงอาการแพ้
ในการตรวจเลือดนั้น จะตรวจสอบตัวอย่างเลือดเพื่อหาแอนติบอดี้อิมมูโนโกลบุลิน อี ซึ่งผลจะแสดงออกมาเป็นค่าเชิงตัวเลข
นักวิจัยแนะนำว่า โปรตีนนมบางชนิดมักจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่รุนแรง การตรวจเลือดแบบใหม่ที่เรียกว่าการทดสอบส่วนประกอบ (component test) อาจสามารถช่วยให้บ่งชี้ความเสี่ยงในการเกิดปฏิกิริยาที่รุนแรง โดยการมองหาอาการแพ้ที่เกิดขึ้นกับโปรตีนเหล่านั้น
วิธีการตรวจสอบอีกอย่างนึงคือ การลองรับประทานอาหารที่เสี่ยงว่าจะแพ้ โดยควรลองรับประทานในปริมาณที่น้อย ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อดูว่ามีอาการอะไรหรือไม่ เนื่องจากอาจจะเกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงได้
การรักษาภูมิแพ้นม
การใช้ยาแก้แพ้ เช่น ยาต้านฮิสตามีน (antihistamines) อาจสามารถช่วยบรรเทาอาการลงได้ แต่หากมีอาการภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง อาจจำเป็นต้องฉีดสารอะดรีนาลีนอย่างอิพิเนฟรินฉุกเฉิน แล้วนำส่งห้องฉุกเฉินให้เร็วที่สุด
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือการดูแลตัวเองที่จะช่วยรับมือกับภูมิแพ้นม
วิธีในการป้องกันอาการแพ้นมที่ดีที่สุด คือการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของนม รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส โยเกิร์ต เนย เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายทำปฏิกิริยาและเกิดอาการแพ้
สำหรับอาการที่เกิดจากการย่อยน้ำตาลแลคโทสผิดปกติ อาจเปลี่ยนไปเลือกดื่มนมที่ไม่มีส่วนผสมของแลคโทสแทน
[embed-health-tool-bmr]