backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

ภูมิแพ้ อาการ สาเหตุ การรักษา และวิธีป้องกัน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/04/2024

ภูมิแพ้ อาการ สาเหตุ การรักษา และวิธีป้องกัน

ภูมิแพ้ เป็นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติต่อสารต่าง ๆ รอบตัว สภาวะแวดล้อม ที่ร่างกายสัมผัสหรือบริโภค เช่น เกสรดอกไม้ น้ำหอม ขนสัตว์ อาหาร เมื่อเป็นภูมิแพ้จะส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ทั้งน้ำมูกไหล หายใจไม่ออก ผื่นขึ้น คันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งนี้ วิธีป้องกันอาการภูมิแพ้กำเริบ คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัส งดบริโภค หรือไม่เข้าใกล้กับสารที่เป็นต้นเหตุของอาการแพ้

คำจำกัดความ

ภูมิแพ้ คืออะไร

ภูมิแพ้ เป็นการตอบสนองอย่างผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต่อสารต่าง ๆ ที่โดยทั่วไปแล้วไม่อันตรายต่อร่างกายมนุษย์

เมื่อผู้เป็นภูมิแพ้สัมผัสหรือได้รับสารดังกล่าว ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่าสารก่อภูมิแพ้ จะมีอาการป่วยหรืออาการผิดปกติต่าง ๆ ตามมา และในบางกรณียังเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ทั้งนี้ สารที่มักพบว่าเป็นสาเหตุของภูมิแพ้ ได้แก่

  • อาหาร เช่น ถั่ว นม ปลา หอย กุ้ง ไข่ ผลไม้
  • วัคซีน เช่น วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
  • พิษของแมลง เช่น ผึ้ง ตัวต่อ ตัวแตน มด
  • สารที่แพร่กระจายทางอากาศ เช่น เกสรดอกไม้ ไรฝุ่น เชื้อรา ขนสัตว์
  • ยางพาราซึ่งเป็นส่วนประกอบของวัตถุต่าง ๆ เช่น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย
  • ยาบางชนิด

อาการ

อาการของ ภูมิแพ้

เมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ผู้ที่เป็นภูมิแพ้มักมีอาการดังนี้

  • จาม
  • น้ำมูกไหล
  • คันตามผิวหนัง
  • หน้าบวม
  • ผื่นขึ้นตามลำตัว
  • ผิวแห้ง ลอก แดง เป็นขุย
  • ท้องร่วง ในกรณีแพ้อาหาร
  • บริเวณที่ถูกแมลงกัดหรือต่อยบวมผิดปกติ

ทั้งนี้ ในกรณีของผู้ที่มีภาวะแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) เมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้แล้ว อาการที่พบได้อาจเป็นดังนี้

  • หายใจดัง หายใจลำบาก
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องร่วง
  • เวียนศีรษะ เป็นลม
  • ปากบวมหรือคันรอบริมฝีปาก

อย่างไรก็ตาม ภาวะแพ้รุนแรงพบได้น้อย แต่หากมีอาการควรไปหาหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วนเพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

สาเหตุ

สาเหตุของ ภูมิแพ้

ภูมิแพ้เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเข้าใจว่าสารก่อภูมิแพ้เป็นสารอันตราย จึงสร้างโปรตีนที่เรียกว่าแอนติบอดี (Antibody) ขึ้นมาเพื่อตรวจจับสารดังกล่าว เมื่อผู้ที่เป็นภูมิแพ้สัมผัสหรือได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย แอนติบอดีจึงกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารเคมีในระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย และก่อให้เกิดอาการแพ้ตามมา

เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ควรไปพบคุณหมอในกรณีต่อไปนี้

  • เมื่อใช้ยาแก้แพ้แล้ว อาการแพ้ไม่ทุเลาลง
  • เมื่อมีภาวะแพ้รุนแรง เพราะอาจเป็นอันตรายจนทำเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ภาวะแพ้รุนแรงในระยะเริ่มแรกอาจมีอาการคล้ายภูมิแพ้ทั่วไป คือน้ำมูกไหลและผื่นขึ้นตามลำตัว เมื่อมีอาการเหล่านี้ไม่ควรนิ่งนอนใจหรือปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาการแพ้อาจจะรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วจนควบคุมไม่ได้

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยภูมิแพ้

เมื่อไปพบคุณหมอ คุณหมอจะถามถึงสาเหตุของภูมิแพ้ ประวัติสุขภาพ และการสัมผัสกับสาร หรือการบริโภคอาหารต่าง ๆ และอาจแนะนำให้เข้ารับการตรวจดังต่อไปนี้ เพื่อหาต้นเหตุของอาการแพ้

  • ตรวจเลือด โดยคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญจะนำตัวอย่างเลือดไปทดสอบการตอบสนองของแอนติบอดีในเลือดกับสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ในห้องปฏิบัติการ
  • ตรวจภูมิแพ้ด้วยวิธีสะกิดผิวหนัง เป็นการทดสอบการแพ้ โดยผู้เชี่ยวชาญจะหยดสารที่สกัดจากสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ลงบนแขนของผู้ป่วย จากนั้นใช้เข็มสะอาดจิ้มบริเวณที่หยดสารสกัดเบา ๆ โดยไม่ทำให้เลือดออก เมื่อเวลาผ่านไป หากแขนของผู้ป่วยแดงหรือเป็นตุ่มบวม แสดงว่าแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้น ๆ

การรักษาภูมิแพ้

คุณหมอมักเลือกรักษาผู้ที่เป็นภูมิแพ้ด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • แนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เมื่อทราบแล้วว่าแพ้สารก่อภูมิแพ้ใด เพื่อป้องกันอาการแพ้กำเริบ
  • จ่ายยาแก้แพ้ โดยอาจอยู่ในรูปแบบของยาเม็ด ยาน้ำ หรือยาพ่นจมูก เพื่อลดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันหรือช่วยให้อาการแพ้ทุเลาลง
  • ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นการให้บริโภคสารก่อภูมิแพ้ ฉีดเข้าสู่ร่างกาย หรือหยดลงใต้ลิ้น อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันคุ้นชินกับสารดังกล่าวมากขึ้น และป้องกันระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองผิดปกติจนทำให้มีอาการแพ้
  • ให้ฉีดยาอิพิเนฟริน (Epinephrine) หรืออะดรีนาลีน (Adrenaline) เพื่อยับยั้งปฏิกิริยาภูมิแพ้โดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่มีภาวะแพ้รุนแรง ทั้งนี้ การฉีดอิพิเนฟริน 1 ครั้ง จะมีผลประมาณ 1 ปี ดังนั้น เมื่อครบปีแล้ว ผู้ที่มีภาวะแพ้รุนแรง จึงควรเข้ารับการฉีดยาอิพิเนฟรินอีกครั้งเพื่อป้องกันภูมิแพ้กำเริบ

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกัน ภูมิแพ้

อาการภูมิแพ้อาจป้องกันได้ หากปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ หากรู้ว่าตัวเองแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใดก็ตาม ควรงดการสัมผัสหรืองดการบริโภค อย่างไรก็ตาม หากไม่ทราบถึงสาเหตุของการแพ้ ควรเข้ารับการตรวจที่สถานพยาบาล หรือหมั่นสังเกตตัวเองว่ามีอาการแพ้เมื่ออยู่ใกล้สิ่งใดหรือเมื่อรับประทานอาหารชนิดใด
  • พกอุปกรณ์ฉีดอิพิเนฟรินติดตัว ในกรณีของผู้ที่เคยมีภาวะแพ้รุนแรง แต่ควรเก็บอุปกรณ์ดังกล่าวไว้ในที่เย็น เพื่อป้องกันอิพิเนฟรินเสื่อมคุณภาพ
  • แจ้งให้คนรอบตัวทราบเกี่ยวกับอาการแพ้ ในกรณีของผู้ที่เคยมีภาวะแพ้รุนแรง ควรแนะนำคนรอบตัวให้รู้จักวิธีใช้อุปกรณ์ฉีดอิพิเนฟรินด้วย เนื่องจากเมื่ออาการกำเริบ ผู้ป่วยอาจไม่สามารถฉีดยาให้ตนเองได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/04/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา