backup og meta

ลักษณะผื่นแพ้อาหาร ทารก ที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกต

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/10/2022

    ลักษณะผื่นแพ้อาหาร ทารก ที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกต

    ลักษณะผื่นแพ้อาหาร ทารก เป็นการแพ้ที่อาจทำให้ทารกมีอาการผื่นแดง ลมพิษ คัน หายใจติดขัด คันคอและปาก มีอาการบวมที่ปาก ลิ้น และลำคอ ร้องไห้งอแงมากกว่าปกติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการนอนหลับของทารก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตอาการของทารกหลังรับประทานอาหารอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้ป้องกันอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้

    การแพ้อาหารของทารก คืออะไร

    การแพ้อาหาร (Food Allergy) เป็นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่เกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหารบางชนิด เช่น นม ไข่ แป้งสาลี ถั่ว ถั่วเหลือง อาหารทะเล เช่น ปลา กุ้ง ปลาหมึก แม้จะรับประทานอาหารดังกล่าวเข้าไปได้ไม่นานและในปริมาณเพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะทารกที่ระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่สมบูรณ์จึงอาจทำให้เกิดอาการแพ้อาหารง่ายกว่าปกติ ซึ่งทารกบางคนอาจแพ้สารอาหารที่ผ่านมาทางนมแม่ได้เช่นกัน โดยระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของทารกจะทำปฏิกิริยากับอาหารบางชนิด ส่งผลให้ฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและสะสมอยู่ในเซลล์ของร่างกายทุกส่วน ถูกปล่อยออกมาเมื่อร่างกายเกิดอาการแพ้ จนทำให้เกิดลักษณะผื่นแพ้อาหาร ทารกเกิดขึ้น

    ลักษณะผื่นแพ้อาหาร ทารก

    ลักษณะผื่นแพ้อาหาร ทารก อาจมีอาการตั้งแต่รุนแรงน้อยไปจนถึงรุนแรงปานกลาง ดังนี้

    • คันบริเวณคอและปาก
    • คันตา น้ำตาไหล
    • อาการบวมที่ริมฝีปาก ตา ลิ้น ใบหน้า หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
    • อาการลมพิษ หรือผื่นแดง
    • ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน
    • ทารกเสียงแหบ
    • ไอแห้ง คัดจมูก จาม น้ำมูกไหล หายใจมีเสียงหวีด หายใจลำบาก
    • ทารกแสดงพฤติกรรมเอามือเข้าปาก เกา หรือดึงลิ้น ดึงหู ร้องไห้ รวมถึงอาจมีพฤติกรรมผิดแปลกไปจากปกติ
    • งัวเงีย เซื่องซึม มึนงง

    เมื่อผื่นแพ้อาหารของทารกมีความรุนแรงมากขึ้น อาจทำให้ทารกเกิดอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • ทารกมีอารมณ์แปรปรวนมาก หงุดหงิด ร้องไห้งอแงมากและไม่ยอมหยุด
  • ผื่นหรือลมพิษขึ้นเต็มตัว และมีอาการคันรุนแรง
  • อาการบวมที่ตา ริมฝีปาก ลิ้น ใบหน้า และบริเวณอื่น ๆ
  • อาเจียนมาก ท้องเสีย
  • หัวใจเต้นเร็วขึ้น
  • หายใจลำบากหรือหายใจถี่ หายใจมีเสียงดังหวีด
  • งัวเงีย เซื่องซึม วิงเวียนศีรษะหรือเป็นลม
  • หากพบอาการเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่ควรพาทารกเข้าพบคุณหมอ เพื่อทำการรักษาทันที

    การรักษาอาการผื่นแพ้อาหารทารก

    การรักษาลักษณะผื่นแพ้อาหาร ทารก คือ การหลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้ทารกเกิดอาการแพ้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตอาหารที่ทารกกินแล้วแพ้เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านั้น รวมถึงควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทเดียวกัน เช่น ทารกแพ้นมวัวก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารอื่น ๆ ที่มีส่วนผสมของนมวัวด้วย นอกจากนี้ หากทารกยังกินน้ำนมแม่อยู่ คุณแม่จำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารก่อภูมิแพ้ด้วย เนื่องจากสารก่อภูมิแพ้อาจผสมอยู่ในน้ำนมและส่งต่อไปยังทารกได้

    หากทารกมีอาการแพ้อาหารรุนแรง ควรพาทารกเข้าพบคุณหมอทันที โดยคุณหมออาจทำการรักษาฉุกเฉินด้วยการให้อะดรีนาลีน (Adrenaline) เพื่อช่วยหยุดอาการแพ้รุนแรงที่เกิดขึ้น

    การป้องกันอาการผื่นแพ้อาหาร ทารก

    การแพ้อาหารยังไม่มีวิธีที่จะสามารถป้องกันได้ แต่อาจมีวิธีช่วยป้องกันการพัฒนาของลักษณะผื่นแพ้อาหาร ทารก ด้วยวิธีดังนี้

    • ควรให้ทารกกินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรก เนื่องจากนมแม่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของทารก ช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันและความแข็งแรงของร่างกาย
    • ไม่ควรให้ทารกกินอาหารแข็งจนกว่าจะอายุ -4-6 เดือนขึ้นไป เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการแพ้อาหารในขณะที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายยังพัฒนาไม่สมบูรณ์
    • อาจหลีกเลี่ยอาหารประเภทถั่ว และอาหารทะเลในช่วงขวบปีแรก เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีสารก่อภูมิแพ้ที่อาจทำให้ทารกแพ้อาหารได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา