โรคลำไส้อักเสบ (Inflammatory bowel disease)
โรคลำไส้อักเสบเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันโจมตีเยื่อบุลำไส้ อาจทำให้มีอาการปวดท้อง มีไข้ น้ำหนักลด ท้องร่วง เลือดออกทางทวารหนัก อาจเป็นโรคลำไส้ใหญ่บวม และโรคโครห์น (Crohn) การรักษาอาจต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันแบบรับประทานและแบบฉีด
-
โรคเซลิแอค (Celiac Disease)
โรคเซลิแอคเป็นโรคที่ไม่สามารถรับประทานอาหารที่มีกลูเตน ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบในธัญพืชหลายชนิด เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ เพราะกลูเตนจะไปกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันโจมตีทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการลำไส้อักเสบ ท้องร่วง ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ในปัจจุบันอาจยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ให้หายขาด แต่การงดอาหารที่มีกลูเตนอาจช่วยควบคุมอาการ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนระยะยาวได้
-
โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)
เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันโจมตีเส้นประสาท อาจทำให้เกิดอาการปวด ร่างกายอ่อนแอ การประสานงานของร่างกายไม่ดี กล้ามเนื้อกระตุก และอาจตาบอดได้ การรักษาอาจต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกัน หรือคอร์ติโคสเตียรอยด์ขนาดสูง เพื่อลดอาการกล้ามเนื้อกระตุกและอาการเจ็บปวด
-
โรคแอดดิสัน (Addison’s disease)
โรคแอดดิสันเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันโจมตีต่อมหมวกไต ทำให้ต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนบางชนิดน้อยเกินไป เช่น ฮอร์โมนคอร์ติซอล ฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน (Aldosterone) ฮอร์โมนแอนโดรเจน จนส่งผลต่อการเปลี่ยนอาหารให้เป็นพลังงาน การรักษาสมดุลของโซเดียมและโพแทสเซียมในร่างกายเพื่อให้ความดันโลหิตเป็นปกติ และการพัฒนาทางเพศ อาจทำให้มีอาการอ่อนแรง เหนื่อยล้า น้ำหนักลด และน้ำตาลในเลือดต่ำ โรคนี้มักรักษาด้วยการรับประทานยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นฮอร์โมนทดแทนเพื่อปรับปรุงระดับฮอร์โมนให้เป็นปกติ
-
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia gravis)
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันโจมตีเส้นประสาท ทำให้มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง การรักษาอาจต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อลดอาการเจ็บปวด และใช้สารยับยั้งโคลีนเอสเตอเรส (Cholinesterase inhibitors) เพื่อช่วยกระตุ้นการสื่อสารระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น
-
โรคเกรฟส์ (Graves’ Disease)
โรคเกรฟส์เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันกระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้ปล่อยฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือดมากเกินไป อาจทำให้มีอาการอารมณ์แปรปรวน น้ำหนักลด หัวใจเต้นช้า ผมร่วง การรักษาอาจต้องใช้ยาเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta-blockers) เพื่อฟื้นฟูระดับฮอร์โมนไทรอยด์ให้กลับสู่สมดุล และบรรเทาความรู้สึกไม่สบาย
การรักษาโรคภูมิแพ้ตัวเอง
โรคภูมิแพ้ตัวเองโดยทั่วไปไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาอาจมีเป้าหมายเพื่อควบคุมอาการและควบคุมระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้เป็นปกติมากขึ้น ซึ่งการรักษาภูมิต้านทานผิดปกติอาจคล้ายคลึงกัน แต่สำหรับบางโรคอาจต้องมีวิธีการรักษาแบบอื่นเพิ่มเติมควบคู่กันไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอ ดังนี้
- ยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
- ยาลดภูมิคุ้มกันขนาดสูง อาจใช้ในบางกรณี เช่น การรักษามะเร็ง การป้องกันการปฏิเสธอวัยวะที่ปลูกถ่าย โดยคุณหมอจะใช้ในปริมาณที่จำเป็น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอ โดยเฉพาะในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลัน
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ลดการอักเสบ หรือใช้เพื่อรักษาอาการกำเริบเฉียบพลัน
- ยาต้านการอักเสบ ลดการอักเสบและความเจ็บปวด
- ยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล โคเดอีน (Codeine) เพื่อบรรเทาอาการปวด
- การรักษาความบกพร่องในด้านอื่น เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ภูมิคุ้มกันทำลายตับอ่อน ทำให้ผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ คุณหมออาจฉีดอินซูลินเพื่อรักษาอาการควบคู่กับการรักษาภูมิต้านทานที่ผิดปกติ
- การผ่าตัด เช่น การผ่าตัดรักษาอาการลำไส้อุดตันในผู้ป่วยโรคโครห์น
- กายภาพบำบัด เพื่อส่งเสริมการเคลื่อนไหวของร่างกาย อาจใช้สำหรับผู้ป่วยที่นอนติดเตียง เคลื่อนไหวลำบาก
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย