Pap Smear (แปปสเมียร์) เป็นการตรวจหาการเปลี่ยนแปลงบริเวณปากมดลูก เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มักทำควบคู่ไปกับการตรวจภายใน ในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 30 ปี พร้อมกับการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งเป็นเชื้อที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก
การตรวจ Pap Smear (แปปสเมียร์) คืออะไร
Pap Smear (แปปสเมียร์) หรือ Pap Test หรือการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เป็นการตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของเซลล์บริเวณปากมดลูก ซึ่งคุณหมอจะขูดเอาตัวอย่างเซลล์ปากมดลูกมาตรวจ โดยจะใส่ตัวอย่างเซลล์ลงบนสไลด์ (Pap smear) หรือผสมในน้ำยาช่วยรักษาสภาพเซลล์ และส่งไปยังห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์ เซลล์จะถูกตรวจหาความผิดปกติที่อาจชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่ผิดปกติ เช่น ดีสพลาเซีย (dysplasia) หรือมะเร็งปากมดลูก
ช่วงเวลาการตรวจแปปสเมียร์ขึ้นอยู่กับอายุและปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงต่าง ๆ ควรปรึกษาคุณหมอถึงความถี่ที่ควรเข้ารับการตรวจแปปสเมียร์
ชนิดของไวรัสเอชพีวี (HPV) ที่มีความเสี่ยงสูงมักเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก ในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 30 ปี การตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี ควรทำควบคู่ไปกับการตรวจแปปสเมียร์ หากอายุต่ำกว่า 26 ปี สามารถเข้ารับวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวีเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้
ทำไมควรเข้ารับการตรวจแปปสเมียร์
การตรวจแปปสเมียร์เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มักทำควบคู่ไปกับการตรวจภายใน ในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 30 ปี การตรวจแปปสเมียร์จะทำควบคู่กับการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งเป็นเชื้อที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก
โดยทั่วไป คุณหมอจะแนะนำให้ตรวจแปปสเมียร์เมื่ออายุ 21 ปี และตรวจซ้ำทุก ๆ 2-3 ปี หากอายุมากกว่า 30 ปี คุณหมอจะแนะนำให้ตรวจทุก ๆ 3 ปี หรือทุก ๆ 5 ปี ในกรณีที่ตรวจแปปสเมียร์ควบคู่ไปกับการตรวจหาเชื้อเอชพีวี
หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง คุณหมออาจแนะนำให้ตรวจบ่อยขึ้น ตามปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังนี้
- ผลการวินิจฉัยโรคมะเร็งปาดมดลูก หรือ ผลการตรวจแปปสเมียร์ระบุว่ามีเซลล์ก่อมะเร็ง
- ได้รับยาไดเอ็ททิลสติลเบสตรอล (Diethylstilbestrol; DES) ระหว่างอยู่ในครรภ์
- การติดเชื้อเอชไอวี
- ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เนื่องจากการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ การรับเคมีบำบัด หรือ การใช้คอร์ติคอสเตียรอยด์อย่างต่อเนื่อง
ควรปรึกษาคุณหมอและศึกษาเพิ่มเติมถึงผลและความเสี่ยงของการตรวจแปปสเมียร์ ตามปกติ ผู้หญิงสามารถเข้ารับการตรวจแปปสเมียร์ได้เมื่ออายุ 21 ปีขึ้นไป
สิ่งที่ควรรู้ก่อนตรวจ Pap Smear
สิ่งที่ควรรู้ก่อนตรวจแปปสเมียร์
ผู้หญิงที่มีผลการตรวจพบว่ามีเซลล์ผิดปกติ หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปี อาจเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ซึ่งเป็นเชื้อที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ทำให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศ เชื้อไวรัสเอชพีวีที่มีความเสี่ยงสูงบางชนิด ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก อาจต้องทำการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี ร่วมกับการตรวจแปบสเมียร์หรือไม่ก็ได้ ผลการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี จะช่วยให้คุณหมอตัดสินใจว่าควรมีการตรวจหรือรักษาเพิ่มเติมหรือไม่
การตรวจแปปสเมียร์เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถใช้เพื่อตรวจวินิจฉัยเซลล์ที่ผิดปกติหรือมะเร็งปากมดลูกได้ อาจต้องมีการตรวจชนิดอื่น ๆ ด้วย เช่น การตรวจปากมดลูก
การตรวจแปปสเมียร์ไม่ใช่การตรวจเพื่อหาการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ หรือมะเร็งชนิดอื่นนอกจากมะเร็งปากมดลูก หากสงสัยว่าติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ อาจมีการตรวจประเภทอื่น ๆ เพื่อยืนยันข้อสงสัยร่วมด้วย
การตรวจช่องคลอดด้วยตนเอง (Vaginal self-exam /VSE) อาจช่วยให้รู้จักร่างกายของตนเองมากขึ้น และอาจทำให้พบสิ่งผิดปกติหรืออาการผิดปกติอื่น ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม การตรวจช่องคลอดด้วยตนเองควรทำควบคู่กับการตรวจภายใน แต่ไม่สามารถทดแทนการตรวจภายในได้ และควรทำควบคู่ไปกับการตรวจแปปสเมียร์โดยคุณหมออีกด้วย
ขั้นตอนการตรวจ
การเตรียมตัวสำหรับการตรวจแปปสเมียร์
เพื่อให้การตรวจมีประสิทธิภาพ ควรปฏิบัติตามวิธีต่อไปนี้ก่อนการตรวจ
- งดการมีเพศสัมพันธ์ การสวนล้างช่องคลอด การใช้ยาสอด หรือการใช้ครีม เจล หรือโฟมฆ่าเชื้ออสุจิ ก่อนการตรวจ 2 วัน เนื่องจากยาเหล่านี้อาจล้างเซลล์ที่ผิดปกติออกไปได้
- ไม่เข้ารับการตรวจในขณะมีประจำเดือน
ขั้นตอนการตรวจ แปปสเมียร์
การตรวจแปปสเมียร์เป็นการตรวจที่ไม่ซับซ้อนและเร็ว ผู้ทำการตรวจคือ แพทย์ พยาบาลหรือสูตินรีแพทย์
ในระหว่างการตรวจ แพทย์จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า สเปคคูลัม (speculum) สอดเข้าไปในช่องคลอด จากนั้นจะใช้ไม้พายขนาดเล็กหรือแปรงเล็กเก็บตัวอย่างเซลล์จากปากมดลูก จากนั้น นำตัวอย่างเซลล์ใส่บนสไลด์กระจกเพื่อส่งไปยังห้องตรวจ ผลการตรวจจะออกภายในหนึ่งสัปดาห์
การตรวจแปปสเมียร์ไม่ได้ทำให้รู้สึกเจ็บแต่อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกเจ็บ ควรแจ้งคุณหมอหรือพยาบาลทันที
ในบางครั้ง อาจมีการแจ้งจากห้องปฏิบัติการถึงความไม่สมบูรณ์ของตัวอย่างเซลล์ และอาจต้องเข้ารับการตรวจใหม่ นั่นไม่ได้หมายความว่า การตรวจที่ผ่านไปแสดงผลที่ผิดปกติ แต่หมายถึง การนำตัวอย่างเซลล์ไปตรวจอาจมีปริมาณไม่เพียงพอ หรือเซลล์อาจถูกบดบังด้วยเลือดหรือเมือกจนไม่สามารถอ่านค่าได้
ผลการตรวจ
ผลที่ได้รับหมายความอย่างไร
ผลการตรวจจะออกภายใน 1 ถึง 2 สัปดาห์
ผลปกติ
เซลล์ตัวอย่างมีเพียงพอและไม่พบเซลล์ที่ผิดปกติ
ผลผิดปกติ
เซลล์ตัวอย่างไม่เพียงพอ หรือพบเซลล์ที่ผิดปกติ โดยส่วนใหญ่ เกิดปัญหาที่ปากมดลูก หากผลที่ออกมาไม่ชัดเจนหรือมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ปากมดลูกเพียงเล็กน้อย คุณหมออาจให้มีการตรวจซ้ำทันที และเข้ารับการตรวจอีกครั้งภายใน 6 เดือน หรือ 1 ปี
เซลล์ที่ผิดปกติจะเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็ง การรักษาเซลล์เหล่านี้ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ หากผลการตรวจผิดปกติ ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับผลตรวจ
หากผลที่ออกมาพบว่ามีความผิดปกติมาก คุณหมอจะแนะนำให้มีการตรวจอื่น ๆ เพื่อเตรียมหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
การตรวจแปปสเมียร์ไม่สมบูรณ์เสมอไป ผลเป็นบวกและลบที่ผิดพลาดอาจเกิดขึ้นได้ และทำให้เกิดความกังวลและสับสน ดังนี้
- ผลบวกผิดพลาด (False positive) ผลประเภทนี้เกิดขึ้นเมื่อแจ้งว่าพบเซลล์ที่ผิดปกติ แต่ในความจริงแล้ว ไม่มีเซลล์ที่ผิดปกติหรือเป็นเซลล์มะเร็ง หากคุณหมอแจ้งว่า ผลเป็นบวกผิดพลาด นั่นหมายถึง ไม่มีปัญหาเกิดขึ้น
- ผลลบผิดพลาด (False negative) เกิดขึ้นเมื่อมีการแจ้งว่าเซลล์ที่ตรวจปกติ แต่แท้จริงแล้วเกิดปัญหากับเซลล์ปากมดลูกที่เกิดความผิดพลาดจากการตรวจ และผลนี้ทำให้ทราบว่ามีเซลล์ผิดปกติและเข้ารับการรักษาช้าลง แต่การเข้ารับการตรวจสม่ำเสมอเพิ่มโอกาสในการตรวจพบเซลล์ที่ผิดปกติได้เร็วขึ้น มะเร็งปากมดลูกใช้เวลาหลายปีในการแพร่กระจาย หากเกิดความผิดพลาดในการตรวจเซลล์ในครั้งแรก อาจพบเซลล์ดังกล่าวในการตรวจครั้งต่อมาได้
ระยะการตรวจแปปสเมียร์ตามปกติอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับห้องปฏิบัติการและโรงพยาบาล หากมีคำถามเกี่ยวกับการตรวจแปปสเมียร์ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้น