มะเร็งผิวหนัง เกิดจากความผิดปกติในการเจริญเติบโต และแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังจนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง สามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของผิวหนังบนร่างกาย และยังอาจสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นของร่างกายได้ โดยส่วนใหญ่มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
คำจำกัดความ
มะเร็งผิวหนัง คืออะไร
มะเร็งผิวหนัง คือ มะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนัง โดยเกิดจากการเจริญเติบโต การแบ่งเซลล์ของผิวหนังและเยื่อบุที่ผิดปกติ ซึ่งมีโอกาสที่จะแพร่กระจายไปยังกระแสเลือดหรือต่อมน้ำเหลือง ส่วนใหญ่มักจะพบมะเร็งผิวหนังบริเวณที่โดนแสงแดดบ่อย เช่น ศีรษะ ลำคอ แต่อาจสามารถพบได้ในบริเวณใต้ร่มผ้าเช่นกัน
ประเภทของมะเร็งผิวหนัง
มะเร็งผิวหนัง อาจสามารถแบ่งประเภทได้ ดังต่อไปนี้
- มะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา (Non Melanoma Skin Cancer) แบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย ๆ ได้แก่
- มะเร็งผิวหนังชนิดเบซัลเซลล์ (Basal Cell Carcinoma หรือ BCC) เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นฐานของหนังกำพร้า มักไม่ค่อยแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น แต่อาจจะลามและขยายขนาดขึ้นเรื่อย ๆ
- มะเร็งผิวหนังชนิดสะความัสเซลล์ (Squamous Cell Carcinoma หรือ SCC) เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นหนังกำพร้า มะเร็งชนิดนี้มีความรุนแรงมากกว่าชนิดเบซัลเซลล์ เนื่องจากสามารถลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง และแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด หากตรวจไม่พบและไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
- มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Melanoma) เป็นมะเร็งที่เกิดกับเซลล์สร้างเม็ดสีของผิวหนังที่เรียกว่า “เมลาโนไซต์ (Melanocyte)” ซึ่งเป็นเซลล์ผิวหนังที่ผลิตเม็ดสีเมลานิน เซลล์มะเร็งชนิดนี้สามารถแพร่กระจายไปเนื้อเยื่อข้างเคียงและที่อื่น ๆ
มะเร็งผิวหนัง พบได้บ่อยแค่ไหน
ในประเทศไทยมะเร็งผิวหนังเป็นมะเร็งที่พบได้น้อย เมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ โดยสามารถพบได้ประมาณร้อยละ 5 ของมะเร็งทั้งหมด ส่วนใหญ่มักพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และมักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
อาการ
อาการมะเร็งผิวหนัง
อาการของมะเร็งผิวหนังแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับแต่ละชนิดของมะเร็งผิวหนัง
- มะเร็งผิวหนังชนิดเบซัลเซลล์ มีลักษณะเป็นตุ่มหรือก้อนเนื้อนูนใสขนาดเล็ก ๆ สีคล้ายขี้ผึ้งหรือไข่มุก และอาจมีเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ กระจายอยู่บริเวณตุ่มเนื้อ บางครั้งอาจมีลักษณะเป็นสะเก็ดหรือเป็นขุย
- มะเร็งผิวหนังชนิดสะความัสเซลล์ มีลักษณะเป็นตุ่มหรือก้อนเนื้องอกนูนแดงหรือชมพู หรืออาจมีลักษณะแผลแบนราบ ผิวเป็นขุย หรือตกสะเก็ด
- มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา มีลักษณะเป็นไฝ ขี้แมลงวัน หรือจุดดำบนผิวหนังมีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ แผลที่เป็นอาจมีอาการคัน
ควรไปพบคุณหมอเมื่อไร
ควรไปพบคุณหมอเมื่อสังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของขนาด รูปร่าง หรีอสี บริเวณไฝ ผื่น หรือขี้แมลงวันบนร่างกาย โดยเฉพาะบุคคลที่มีผิวขาว หรือสัมผัสกับแสงแดดเป็นประจำ หรือหากมีอาการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผิวหนัง ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาคุณหมอ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์
สาเหตุ
สาเหตุการเกิด มะเร็งผิวหนัง
มะเร็งผิวหนัง อาจเกิดจากสาเหตุเหล่านี้ เช่น
- ได้รับแสงแดดเป็นระยะเวลานาน เช่น การอาบแดด ที่อาจได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตทั้ง UVA และ UVB
- ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- สัมผัสกับสารเคมีเป็นประจำ เช่น สารหนู ไฮโดรคาร์บอน น้ำมันดิบ
- ได้รับรังสีที่เป็นอันตราย เช่น รังสีเอกซ์
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของ มะเร็งผิวหนัง
ปัจจุบันยังไม่ทราบปัจจัยเสี่ยงที่แน่ชัดของการเกิดมะเร็งผิวหนัง แต่สิ่งเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ เช่น
- อาบแดด หรืออยู่กลางแดดเป็นระยะเวลานาน โดยไม่มีการปกป้องผิว
- ผิวขาว โดยเฉพาะผู้ที่เป็นฝ้า กระ เนื่องจากคนผิวขาวอาจมีการผลิตเม็ดสีเมลานินของผิวหนังได้น้อยกว่าคนผิวคล้ำ ทำให้การป้องกันเซลล์ผิวหนังจากแสงอัลตราไวโอเลตอาจน้อยกว่าคนผิวคล้ำ
- ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- แผลเป็นจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
- ความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ภาวะผิวเผือก โรคแพ้แสงแดด (Xeroderma Pigmentosum)
- ครอบครัวมีประวัติการเป็นมะเร็งผิวหนัง หรือผู้ป่วยเคยเป็นมาก่อน และอาจกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้ง
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยมะเร็งผิวหนัง
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งผิวหนังอาจทำได้ดังต่อไปนี้
- การตรวจเบื้องต้นด้วยตัวเอง คือ การสังเกตร่างกายของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากมะเร็งผิวหนังสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า สำหรับความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นบนผิวหนัง ได้แก่ มีตุ่มเนื้อ ไฝ แผล ที่อาจมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ
- การตรวจวินิจฉัยด้วยคุณหมอ คุณหมอจะตรวจผิวหนังทั่วร่างกาย และอาจดูไฝ หรือตำแหน่งที่คาดว่าเป็นมะเร็งผิวหนัง โดยคุณหมออาจใช้กล้อง (Dermatoscope) ตรวจผิวหนัง ทำให้เห็นเม็ดสี เส้นเลือด และเส้นต่าง ๆ ที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะประมวลภาพออกมา เพื่อให้คุณหมอวินิจฉัย รวมถึงอาจมีการเก็บตัวอย่างผิวหนัง หรือที่มักเรียกกันว่า “การตรวจชิ้นเนื้อ”
วิธีการรักษา
วิธีการรักษามะเร็งผิวหนัง
การรักษาโรคมะเร็งผิวหนังอาจแบ่งตามระยะของมะเร็ง และชนิดของมะเร็งที่ตรวจพบ โดยวิธีการรักษาอาจมีดังนี้
- การผ่าตัด เป็นวิธีมาตรฐานในการรักษา โดยทำการผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งที่อยู่บริเวณผิวหนังและเนื้อเยื่อโดยรอบออก
- การรักษาด้วยการจี้เย็น เป็นวิธีการนำไนโตรเจนเหลวมาจี้บนผิวหนังบริเวณที่เป็นมะเร็ง ส่วนใหญ่มักใช้ในระยะเริ่มต้น
- การรักษาด้วยวิธี MMS (Mohs Micrographic Surgery) เป็นวิธีการผ่าตัดที่มักใช้เมื่อมะเร็งเกิดขึ้นในบริเวณที่ไม่สามารถใช้วิธีรักษาแบบอื่นได้ อาจใช้กับมะเร็งผิวหนังที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และเกิดขึ้นซ้ำ
- การให้เคมีบำบัด เป็นการใช้ยาที่มีส่วนผสมของยาเคมีบำบัดทาบริเวณที่เป็นมะเร็ง หรืออาจให้ยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือด เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง
- การฉายรังสี เป็นการใช้รังสีในการกำจัดเซลล์มะเร็ง วิธีนี้จะใช้รักษามะเร็งผิวหนังในกรณีที่มะเร็งมีขนาดใหญ่ไม่สามารถผ่าตัดออกหมด
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์บางอย่าง อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งผิวหนังได้ โดยการปฏิบัติดังต่อไปนี้
- สวมเสื้อผ้าแขนยาว ขายาว เพื่อป้องกันรังสี UV มาสัมผัสกับที่ผิวโดยตรง
- หลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเวลา 10:00-16:00 น. เนื่องจากแสงแดดในช่วงนี้อาจทำอันตรายต่อผิวมากกว่าที่จะได้รับประโยชน์จากแสงแดด
- ทาครีมกันแดดก่อนออกข้างนอกอย่างน้อย 30 นาที และครีมกันแดดควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF มากกว่าหรือเท่ากับ 30 เหมาะสำหรับบุคคลที่อยู่กลางแจ้งเป็นประจำ และ ค่า PA+ หากเครื่องหมาย + ยิ่งมาก อาจช่วยป้องกันได้มากขึ้น ค่า SPF ป้องกันรังสีจาก UVA และ ค่า PA ป้องกันรังสีจาก UVB ที่อาจทำร้ายผิว
- ตรวจดูผิวหนังทั่วร่างกายอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการเปลี่ยนแปลงที่ผิดสังเกต เช่น หูด ไฝ ขี้แมลงวัน ปาน มีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ เช่น โตเร็วกว่าปกติ สี และรูปร่างเปลี่ยนไปจากเดิม ควรไปหาคุณหมอ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา