backup og meta

การควบคุมอาหารสำหรับผู้เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

การควบคุมอาหารสำหรับผู้เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

การควบคุมอาหาร สำหรับผู้เป็น เบาหวาน ขณะ ตั้งครรภ์ เป็นสิ่งที่ควรใส่ใจ เนื่องจากอาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้พุ่งสูงขึ้น และยังอุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิดที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์

[embed-health-tool-heart-rate]

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ คืออะไร

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ คือ เบาหวานที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกระยะของการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่มักถูกวินิจฉัยในช่วงสัปดาห์ที่ 24-32 ของการตั้งครรภ์และอาจหายไปเองหลังคลอด หรืออาจพัฒนาไปเป็นเบาหวานตลอดชีวิต ดังนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์จึงต้องได้รับการดูแลในเรื่องการกินอาหารเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันเบาหวานขณะตั้งครรภ์

นอกจากนี้ เบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของทารก เช่น ปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ โรคดีซ่าน น้ำตาลในเลือดต่ำแต่กำเนิด ทารกมีขนาดตัวใหญ่ซึ่งอาจทำให้คลอดยากและได้รับบาดเจ็บขณะคลอดได้ สิ่งสำคัญเพื่อช่วยจัดการกับเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คือ การตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำในตอนเช้าหลังตื่นนอน หลังกินอาหารทุกมื้อ และก่อนนอน เพื่อให้แน่ใจว่าระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในการควบคุมที่เหมาะสม หากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อวางแผนการดูแลรักษา เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์

เป้าหมายของการรักษาเบาหวานขณะตั้งครรภ์

การรักษาเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ดังนี้

  • 95 มิลลิกรัม/เดซิลิตร. หรือน้อยกว่า ก่อนรับประทานอาหาร
  • 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือน้อยกว่า หลังรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมง
  • 120 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือน้อยกว่า หลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมง

การควบคุมอาหาร ของผู้ป่วย เบาหวาน ขณะ ตั้งครรภ์

การควบคุมอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจทำได้ด้วยการเลือกกินอาหารเพื่อสุขภาพ และหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดที่อาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ดังนี้

  1. เลือกกินคาร์โบไฮเดรตที่ดีต่อสุขภาพ

คาร์โบไฮเดรตทุกชนิดส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด การเลือกประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ดีต่อสุขภาพจึงสำคัญและควรแบ่งการกินอาหารให้เป็นมื้อเล็ก ๆ 3 มื้อและของว่าง 3 มื้อ/วัน เพื่อให้ระดับน้ำตาลคงที่ ดังนี้

  • ควรเลือกกินคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น มัลติเกรน โฮลเกรน ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวกล้อง ซึ่งเป็นธัญพืชไม่ขัดสีและมีเส้นใยสูง ช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด
  • ควรเลือกกินผักและผลไม้ที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำและมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (GI) ให้มากขึ้น เนื่องจากผักและผลไม้มีเส้นใยสูงอาจช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดได้ เช่น ส้มโอ เชอร์รี่ แอปเปิ้ล แก้วมังกรฝรั่ง สตรอว์เบอร์รี่ ผักโขม ผักกาดหอม มะเขือม่วง บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี
  • หลีกเลี่ยงคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว มันฝรั่ง เฟรนช์ฟราย ลูกอม น้ำอัดลม ขนมหวาน ซึ่งเป็นชนิดคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยง่ายและดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
  1. เลือกกินโปรตีนที่ดีต่อสุขภาพ

โปรตีนมีความสำคัญต่อความแข็งแรงของคุณแม่และการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ แต่ควรเลือกโปรตีนที่ดีต่อสุขภาพ เช่น เนื้อไม่ติดมัน เนื้อไก่ลอกหนัง ปลา ไข่ ชีสไขมันต่ำ นมไขมันต่ำ โยเกิร์ต ถั่ว ถั่วลันเตา ถั่วชิกพี ซึ่งจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและคอเลสเตอรอลให้สมดุล

  1. เลือกอาหารไขมันต่ำ

จำกัดปริมาณไขมันในแต่ละวันและควรเลือกกินไขมันที่ดีต่อสุขภาพ เช่น น้ำมันคาโนลา น้ำมันมะกอก อะโวคาโด ถั่ว หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เช่น เนื้อติดมัน เนื้อติดหนัง เค้ก คุกกี้ ขนมหวาน อาหารแปรรูป

  1. ลดน้ำตาล

พยายามจำกัดปริมาณน้ำตาลจากอาหารและเครื่องดื่ม เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำผลไม้เติมน้ำตาล น้ำอัดลม เค้ก ช็อกโกแลต ไอศกรีม บิสกิต โดยอาจหันมากินอาหารที่มีน้ำตาลน้อยลง เช่น นมไขมันต่ำ ชา น้ำผลไม้สด กาแฟไม่มีคาเฟอีน หรือใส่สารให้ความหวานที่มีแคลอรี่ต่ำเพื่อเพิ่มรสชาติ

  1. เสริมแคลเซียมและธาตุเหล็ก

ในระหว่างตั้งครรภ์ร่างกายต้องการแคลเซียมและธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ มวลกระดูกและความแข็งแรงของคุณแม่และทารกในครรภ์ จึงควรกินอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมไขมันต่ำ เช่น นมไขมันต่ำ โยเกิร์ต และเสริมธาตุเหล็กจากเนื้อแดง ไก่ ปลา อย่างน้อย 2-3 มื้อ/วัน

นอกจากการควบคุมอาหารแล้วคุณแม่ตั้งครรภ์ควรออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลางเป็นประจำ เช่น การเดิน โยคะ เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดภาวะดื้อต่ออินซูลินและเพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกายสำหรับการคลอดบุตร

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Gestational diabetes and your diet. https://www.tommys.org/pregnancy-information/pregnancy-complications/gestational-diabetes/gestational-diabetes-and-your-diet. Accessed March 7, 2022

what can i eat with gestational diabetes?. https://www.diabetes.org.uk/guide-to-diabetes/enjoy-food/eating-with-diabetes/i-have-gestational-diabetes. Accessed March 7, 2022

Gestational diabetes diet. https://medlineplus.gov/ency/article/007430.htm. Accessed March 7, 2022

Gestational Diabetes. https://www.acog.org/womens-health/faqs/gestational-diabetes?utm_source=redirect&utm_medium=web&utm_campaign=otn. Accessed March 7, 2022

Managing gestational diabetes. https://www.diabetesaustralia.com.au/living-with-diabetes/managing-your-diabetes/managing-gestational-diabetes/#:~:text=Gestational%20diabetes%20is%20managed%20by,the%20birth%20of%20your%20baby. Accessed March 7, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

18/02/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

การออกกำลังกาย สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความเสี่ยงสุขภาพที่คุณแม่ป้องกันได้


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 18/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา