ในภาวะปกติ หัวใจจะเต้นอย่างสม่ำเสมอ คือประมาณ 70-100 ครั้งต่อนาทีในขณะพัก และอาจจะเต้นเร็วมากขึ้นเมื่อทำกิจกรรมที่ใช้แรงหรือออกกำลังกาย โดยอัตราการเต้นของหัวใจอาจขึ้นอยู่กับอายุด้วย แต่ไม่ว่าจะเต้นเร็วหรือเต้นช้า การเต้นของหัวใจจะมีจังหวะสม่ำเสมอ
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ คือ ภาวะที่หัวใจเต้นจังหวะไม่สม่ำเสมอ เช่น เต้นช้ามาก เต้นเร็วมาก เต้น ๆ หยุด ๆ มักทำให้ผู้ป่วยมีอาการใจสั่น หน้ามืด หรือหัวใจเต้นรัว จนอาจทำให้หมดแรงและหัวใจหยุดเต้นไปในที่สุด หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ
โรคหลอดเลือดหัวใจเกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อภายในหลอดเลือดหัวใจถูกทำลายจากปัจจัยต่าง ๆ ที่พบมาก เช่น คอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ ภาวะดื้อต่ออินซูลิน น้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน โรคเมตาบอลิก การไม่ออกกำลังกาย อายุมาก พันธุกรรม นอกจากนี้ โรคเบาหวานอาจหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจเช่นกัน
การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
การรักษาและดูแลตัวเองด้วยวิธีดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดความดันและคอเลอเตอรอลในเลือด ทั้งยังอาจช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจลดลงได้
การควบคุมอาหาร
โภชนาการที่ดีถือเป็นเรื่องพื้นฐานในการควบคุมโรคเบาหวานและป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โดยผู้ป่วยเบาหวานอาจรับประทานอาหารตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- รับพลังงานหรือแคลอรี่จากอาหารจำพวกไขมันประมาณ 25-35% ของพลังงานทั้งหมดที่ควรได้รับต่อวัน แต่ไขมันอิ่มตัวไม่ควรเกิน 10% ของไขมันทั้งหมดที่บริโภค และไม่ควรรับประทานคอเลสเตอรอลเกิน 300 มก. ต่อวัน แหล่งไขมันดีที่แนะนำ เช่น น้ำมันมะกอก ธัญพืช ปลาไขมันสูง (เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน) อะโดคาโด ถั่วเหลือง
- รับพลังงานจากอาหารจำพวกโปรตีนประมาณ 10-15% ของพลังงานทั้งหมดที่ควรได้รับต่อวัน โดยปริมาณโปรตีนที่เหมาะสม คือ บริโภคโปรตีน 0.8-1 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กก. จากแหล่งโปรตีนที่หลากหลายและดีต่อสุขภาพ เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ไก่ เนื้อปลา นม เต้าหู้
- รับพลังงานจากอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตประมาณ 50-60% ของพลังงานทั้งหมดที่ควรได้รับต่อวัน โดยเลือกแหล่งคาร์โบไฮเดรตที่หลากหลายและมีไฟเบอร์สูง เช่น เมล็ดพืชและธัญพืชไม่ขัดสี (เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต) ผักใบเขียว เผือก มันเทศ
- ไม่ควรบริโภคเกลือหรือโซเดียมมากเกินไป (ไม่ควรเกิน 1,500 มิลลิกรัม/วัน) โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานที่มีความดันโลหิตสูงและเป็นโรคไต
- หากต้องการเติมรสหวานในอาหารและเครื่องดื่ม ควรเลือกใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล เช่น หญ้าหวานหรือสตีเวีย ซูคราโลส แอสปาแตม ทั้งนี้ ควรเลือกประเภทให้เหมาะสมกับวิธีประกอบอาหาร และควรใช้ในปริมาณน้อยที่สุด และไม่ควรใช้สารให้ความหวานมีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ซอร์บิทอล ฟรุกโตส
- ควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในผู้ที่รับประทานยารักษาโรคเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานที่ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นโรคระบบประสาท
การรักษาโรคเบาหวานด้วยยา
หากควบคุมอาหารร่วมกับการออกกำลังกายแล้วยังไม่สามารถควบคุมโรคเบาหวานได้ คุณหมออาจต้องรักษาด้วยการให้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด เช่น ยากลุ่มไบกัวไนด์ ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานอาจต้องรับประทานยาที่ช่วยลดและควบคุมระดับไขมันในเลือด เช่น ยากลุ่มไฟเบรท ยากลุ่มสแตติน เพื่อช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจด้วย
ประโยชน์ของยากลุ่มสแตติน
ยากลุ่มสแตติน เช่น อะทอร์วาสแตติน (Atorvastatin) โรซูวาสแตติน (Rosuvastatin) ซิมวาสแตติน (Simvastatin) ฟลูวาสแตติน (Fluvastatin) เป็นยาลดไขมันในเลือดที่นิยมใช้ในการรักษาระดับไขมันหรือคอเลสเตอรอลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากช่วยลดไขมันชนิดเลวหรือไขมันแอลดีแอล (LDL) และไตรกลีเซอไรด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาจช่วยเพิ่มไขมันเอชดีแอล (HDL) หรือไขมันดีได้ด้วย
ยากลุ่มสแตตินจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ HMG-CoA reductase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในกระบวนการสังเคราะห์คอเลสเตอรอลในตับและในเนื้อเยื่ออื่น ๆ เมื่อเอนไซม์นี้ถูกยับยั้ง จะส่งผลให้คอเลสเตอรอลภายในตับลดลง ตับจึงดูดซึมคอเลสเตอรอลจากกระแสเลือดมาใช้โดยการสร้างตัวรับไขมันแอลดีแอล (LDL-receptor) บนเซลล์ตับให้มากขึ้น จึงส่งผลให้ระดับของไขมันแอลดีแอลในกระแสเลือดลดลง นอกจากนี้ กลุ่มยาสแตตินยังเป็นยาที่ทำให้เซลล์เยื่อบุหลอดเลือดทำงานดีขึ้น และลดกระบวนการอักเสบของหลอดเลือด ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยเบาหวานได้
การใช้ยากลุ่มสแตตินสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
ข้อมูลจากสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) ที่เผยแพร่เมื่อปีพ.ศ. 2556 แนะนำว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานอายุ 40-75 ปีที่มีค่าไขมัน LDL มากกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (mg/dL) และผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีสาเหตุมาจากหลอดเลือดแดงแข็ง ควรได้รับยาสแตตินร่วมในการรักษาด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทานยากลุ่มสแตตินเพื่อลดระดับไขมันในเลือด เพื่อให้ทราบขนาดยาที่เหมาะสม และคุณหมออาจแนะนำวิธีปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตที่ยิ่งส่งผลดีต่อสุขภาพ
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์อื่น ๆ
นอกจากการรับประทานอาหารและใช้ยาตามที่คุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัดแล้ว การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ดังต่อไปนี้ร่วมด้วย อาจยิ่งช่วยลดความเสี่ยงในการภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ และช่วยให้สามารถควบคุมโรคเบาหวานได้ดียิ่งขึ้น
- งดการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น ออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลางอย่างการเดิน การเต้นแอโรบิก เป็นต้น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที
LIPI-2022-0060
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย