สาเหตุ
สาเหตุของ Hypoglycemia
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมักพบในผู้ป่วยเบาหวาน โดยมีสาเหตุจากการใช้อินซูลินไม่เหมาะสม การฉีดอินซูลินผิดประเภท หรือการฉีดเข้ากล้ามเนื้อแทนการฉีดใต้ผิวหนัง นอกจากนี้ การรับประทานอาหารน้อยเกินไป หรือออกกำลังกายมากเกินไป ก็สามารถทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำได้เช่นกัน
ในกรณีของผู้ไม่เป็นเบาหวาน สาเหตุของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมักมีดังนี้
- การบริโภคคาร์โบไฮเดรตน้อยเกินไป โดยคาร์โบไฮเดรตเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะถูกย่อยเป็นน้ำตาลกลูโคสแล้วลำเลียงผ่านเส้นเลือดไปยังเซลล์ต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นพลังงานแก่ร่างกาย หากได้รับคาร์โบไฮเดรตไม่เพียงพอ ร่างกายอาจเกิดภาวะน้ำตาลต่ำได้
- ยาบางอย่าง เช่น ควินิน (Quinine) ซึ่งใช้รักษาผู้ป่วยมาลาเรีย เนื่องจากยาควินินไปกระตุ้นตับอ่อนให้ผลิตฮอร์โมนอินซูลินออกมามากเกินไป
- การอดอาหาร ทำให้เกิดการเสียสมดุล ระหว่างปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายผลิตได้และปริมาณที่ร่างกายต้องใช้
- โรคบางโรค เช่น ตับแข็ง การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ โดยเฉพาะการรักษาโรคเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อระดับกลูโคสในร่างกาย
- การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก โดยไม่รับประทานอาหาร จะขัดขวางไม่ให้ตับดึงน้ำตาลที่เก็บไว้ออกมาเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนของร่างกาย อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำได้
- การผลิตอินซูลินมากเกินไป เนื่องจากโรคเนื้องอกตับอ่อนที่ผลิตอินซูลิน (Insulinoma) ทำให้ผลิตอินซูลินมากเกินไปส่งผลให้ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โดยการวินิจฉัย อาจทำได้จากการตรวจเลือด และ CT scan
การวินิจฉัยและรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัย Hypoglycemia
เมื่อไปพบคุณหมอ คุณหมอจะซักถามประวัติสุขภาพ โรคประจำตัว ประวัติการเข้ารับการรักษาโรค และตรวจสุขภาพโดยทั่วไปรวมทั้งเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
ในกรณีของผู้ป่วยเบาหวาน คุณหมออาจวินิจฉัยว่ามีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำทันที โดยพิจารณาจากระดับน้ำตาลในเลือด
สำหรับผู้ไม่เป็นโรคเบาหวาน นอกจากตรวจเลือด คุณหมอจะสอบถามเพิ่มเติมถึงอาการอื่น ๆ รวมถึงอาจให้อดอาหารข้ามคืน เพื่อรอให้อาการของโรคแสดงออกมาและวินิจฉัยเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ในกรณีของผู้ที่มีอาการของโรคหลังมื้ออาหาร คุณหมออาจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว
การรักษา Hypoglycemia
การรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจทำได้ดังนี้
- ค่อย ๆ เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ในกรณีของการดูแลตัวเองเบื้องต้น คือ การดื่มน้ำหวาน รับประทานขนมหวาน ช็อกโกแลต หรือเม็ดกลูโคส น้ำผึ้ง ไม่ควรดื่มน้ำอัดลมชนิดไดเอท เพราะในน้ำอัดลมอาจมีแต่สารให้ความหวานแต่ไม่มีน้ำตาล
- เปลี่ยนตัวยาหรือหยุดรับประทานยา คุณหมอจะวินิจฉัยการรักษาโรคอื่น ๆ ประกอบ หากพบว่ายาที่ใช้รักษาเป็นสาเหตุของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ คุณหมออาจประเมินการรักษาใหม่โดยให้หยุดใช้หรือเปลี่ยนยา
- รักษาโรคหรือความผิดปกติทางสุขภาพ ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น เบาหวาน โรคตับอักเสบ โรคไต โรคกลัวอ้วน (Anorexia)
การรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขั้นรุนแรง อาจทำได้ดังนี้
- ฉีดกลูคากอน (Glucagon) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากตับอ่อน จะไปช่วยกระตุ้นให้ตับปล่อยน้ำตาลที่กักเก็บไว้ออกมา โดยคุณหมอหรือพยาบาลจะฉีดกลูคากอน ในกรณีที่ร่างกายเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขั้นรุนแรง มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร มีอาการผิดปกติ เช่น ชัก หลง สับสน หมดสติ
- ฉีดน้ำตาลกลูโคสเข้าเส้นเลือดดำ เฉพาะกรณีฉุกเฉินที่ผู้ป่วยหมดสติ ไม่สามารถรับประทานของหวานทางปาก ทำได้โดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และต้องระวังสำหรับผู้ป่วยที่แพ้ข้าวโพดเนื่องจากเป็นน้ำตาลกลูโคสที่สกัดมาจากข้าวโพด
การปรับพฤติกรรมและการดูแลตัวเอง
เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงภาวะ Hypoglycemia หรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- รับประทานอาหาร 3 มื้อ/วัน ไม่ควรข้ามมื้อใดมื้อหนึ่ง เพื่อให้ร่างกายได้สารอาหารครบถ้วน
- รับประทานของว่างระหว่างมื้อ ในกรณีคุณหมออนุญาต โดยเฉพาะกรณีผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำตาล
- กรณีผู้ป่วยเบาหวาน ฉีดอินซูลินเข้าสู่ร่างกายในปริมาณเหมาะสม ตามเวลาที่กำหนด และฉีดให้ถูกวิธีตามคำแนะนำของคุณหมอ
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่พอดี และควรรับประทานอาหารก่อนดื่ม
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารหรือของว่างซึ่งมีคาร์โบไฮเดรตซึ่งให้พลังงานก่อนออกกำลังกาย เช่น ขนมปังโฮลวีต
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย