ระดับน้ำตาลในเลือด คือ ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดซึ่งมาจากอาหารที่รับประทาน และเป็นแหล่งพลังงานหลักไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป อาจเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน และส่งผลให้มีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ควรหมั่นวัดระดับน้ำตาลในเลือดสม่ำเสมอ เพื่อประเมินการรักษา การดูแลตนเอง และป้องกันความเสี่ยงในการมีโรคแทรกซ้อน
ระดับน้ำตาลในเลือด คืออะไร
กลูโคสเป็นน้ำตาลที่ไหลเวียนอยู่ในเลือด ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักของร่างกาย หากร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไปจะเป็นสัญญาณของโรคเบาหวาน เนื่องจากเกิดความผิดปกติของร่างกายที่ไม่สามารถเปลี่ยนกลูโคสให้เป็นพลังงานได้ จึงทำให้กลูโคสยังคงสะสมอยู่ในเลือดและเพิ่มขึ้น จนพัฒนากลายเป็นโรคเบาหวาน
ระดับน้ำตาลก่อนมื้ออาหาร ค่าปกติควรอยู่ระหว่าง 60-100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ก่อนมื้ออาหาร และเพิ่มขึ้นเป็น 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หลังจากมื้ออาหาร หากน้อยกว่าจะเรียกว่า ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือหากมากกว่าเรียกว่า ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งทั้งสองภาวะนี้มักเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ดังนี้
- ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง มักส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์และอื่น ๆ ซึ่งภาวะนี้อาจส่งผลทำให้เกิดปัญหาสุขภาพและภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง เพราะร่างกายพยามยามกำจัดน้ำตาลส่วนเกินทำให้ร่างกายอาจสูญเสียน้ำจำนวนมาก และภาวะร่างกายสลายไขมันเป็นแหล่งพลังงาน ซึ่งอาจนำไปสู่อาการโคม่าจากเบาหวานได้
- ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ มักส่งผลกระทบกับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่รักษาด้วยยา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องรักษาด้วยอินซูลิน อาจเป็นอันตรายได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและอาจทำให้มีอาการ วิงเวียนศีรษะ หัวใจเต้นแรง ผิวซีด ร่างกายอ่อนแอ และมองเห็นภาพซ้อน
การวัดระดับน้ำตาลในเลือด
การวัดระดับน้ำตาลในเลือด อาจมีประโยชน์ในการจัดการกับโรคเบาหวาน ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด เช่น ความเจ็บป่วย ความเครียด อาหารที่รับประทาน การออกกำลังกาย หรือการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ทั้งยังช่วยให้คุณหมอสามารถติดตามผลของยารักษาโรคเบาหวานที่อาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงความคืบหน้าในการรักษาโรคเบาบวาน โดยวิธีการวัดระดับน้ำตาลในเลือด อาจทำได้ดังนี้
- Glycated hemoglobin (A1C) เป็นการวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบไม่ต้องอดอาหาร โดยใช้การวัดค่าโปรตีนในเม็ดเลือดแดง ซึ่งเป็นตัวพาออกซิเจนในเม็ดเลือดแดง ซึ่งจะบอกระดับน้ำตาลในเลือดช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา หากระดับน้ำตาลในเลือดสูง นั่นอาจหมายความว่า ฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นตัวพาออกซิเจนในเซลล์เม็ดเลือดแดง มีน้ำตาลเกาะอยู่มาก ค่า A1C อาจแบ่งออกได้ดังนี้
- ค่า A1C ต่ำกว่า 5.7% ถือว่าระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ค่า A1C ระหว่าง 5.7%-6.4% อาจอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคเบาหวาน
- ค่า A1C 6.5% ขึ้นไป แสดงว่าเป็นโรคเบาหวาน
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์การวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยวิธี A1C อาจทำให้ผลคลาดเคลื่อนได้ ดังนั้น คุณหมออาจใช้วิธีการวัดระดับน้ำตาลในเลือดอื่น ๆ แทน
- การทดสอบน้ำตาลในเลือดแบบสุ่ม เป็นการตรวจเลือดในช่วงเวลาใดก็ได้ โดยที่ไม่ต้องอดอาหาร หากระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ระหว่าง 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือมากกว่า นั่นแสดงว่าเป็นโรคเบาหวาน
- Oral Glucose Tolerance Test (OGTT) เป็นการวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากที่อดอาหารข้ามคืน จากนั้นคุณหมอจะให้ดื่มสารละลายกลูโคส แล้วรอเวลาอีก 2 ชั่วโมง จึงวัดระดับน้ำตาลในเลือดอีกครั้ง
- ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าปกติ
- ระดับน้ำตาลในเลือดระหว่าง 140-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคเบาหวาน
- ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แสดงว่าเป็นโรคเบาหวาน
- Fasting Plasma Glucose (FPG) เป็นการวัดระดับน้ำตาลในเลือดที่ต้องอดอาหาร โดยต้องไม่รับประทานอาหารเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ก่อนการวัดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งการวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยวิธีนี้อาจจะทำในตอนเช้า ก่อนรับประทานอาหารเช้า สำหรับค่าของการวัดระดับน้ำตาลในเลือดอาจแบ่งได้ดังนี้
- ระดับน้ำตาลในเลือดขณะที่อดอาหารน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าปกติ
- ระดับน้ำตาลในเลือดขณะที่อดอาหารตั้งแต่ 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคเบาหวาน
- ระดับน้ำตาลในเลือดขณะที่อดอาหาร 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือมากกว่า แสดงว่าเป็นโรคเบาหวาน
การวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเอง
การวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเอง อาจทำได้โดยการใช้เครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบเจาะเลือดที่ปลายนิ้ว ซึ่งคุณหมออาจช่วยแนะนำเครื่องตรวจระดับน้ำตาลที่เหมาะสม รวมถึงวิธีการอ่านค่าที่ถูกต้องได้ด้วย สำหรับขั้นตอนในการวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเอง อาจทำได้ดังนี้
- ล้างมือให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง
- ใส่แถบทดสอบลงไปในเครื่องตรวจเลือด
- ใช้เข็มที่มาพร้อมกับเครื่องตรวจเจาะลงไปปลายนิ้วด้านข้าง แล้วหยดเลือดลงไปที่แถบทดสอบ
- รอสักครู่ แล้วอ่านผลการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดที่ปรากฏบนหน้าจอ
การวัดระดับน้ำตาลในเลือดขณะตั้งครรภ์
หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เช่น คุณแม่เป็นโรคอ้วนในช่วงเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน คุณหมออาจให้ทำการวัดระดับน้ำตาลในเลือดตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ หรืออาจมีการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ในช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ 24 ถึงสัปดาห์ที่ 28 ของการตั้งครรภ์ หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกตินั่นอาจเป็นตัวบ่งชี้ว่าคุณแม่อาจเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 หรือเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่าที่จะเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สำหรับวิธีการวัดระดับน้ำตาลในเลือดขณะตั้งครรภ์ อาจทำได้ดังนี้
- การตรวจคัดกรองกลูโคส เป็นการวัดระดับน้ำตาลในเลือดโดยคุณหมอจะให้คุณแม่ดื่มสารละลายกลูโคส หลังจาก 1 ชั่วโมง คุณหมอจะทำการเจาะเลือด เพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด หากระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ที่ 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือต่ำกว่า นั่นแสดงว่าปกติ แต่หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แสดงว่าคุณแม่อาจอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคเบาหวาน ดังนั้น คุณหมออาจมีการทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล (Glucose Tolerance Test) รวมถึงติดตามอาการ เพื่อดูว่าคุณแม่มีโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือไม่
- การทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล (Glucose Tolerance Test) เป็นการวัดระดับน้ำตาลในเลือดขณะที่อดอาหารข้ามคืน หลังจากนั้น คุณหมอจะให้ดื่มสารละลายกลูโคส และวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากผ่านไป 1-3 ชั่วโมง ทั้งนี้ ผลลัพธ์จะต่างกันไปขึ้นอยู่กับสารละลายกลูโคสที่ดื่มเข้าไป และความถี่ในการวัดระดับน้ำตาลในเลือด ดังนั้น คุณแม่จึงควรถามผลการทดสอบจากคุณหมอ เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจน
เพื่อให้ได้ระดับน้ำตาลในเลือดที่ตรงกับค่าที่เหมาะสม ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรควบคุมปริมาณน้ำตาลและแป้งให้พอดีกับมื้ออาหาร นอกจากนี้ ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำเพื่อติดตามผลการรักษา ติดตามความสมดุลของเลือดเพื่อวางแผนการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย สำหรับเวลาที่ผู้ป่วยควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือด คือ
- ตอนตื่นนอนก่อนรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มทุกชนิด
- ก่อนรับประทานอาหาร
- 2 ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหาร
- ก่อนนอน
สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องรักษาด้วยอินซูลินหรือมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ คุณหมออาจแนะนำให้ผู้ป่วยวัดระดับน้ำตาลในเลือดบ่อยขึ้น และเมื่อสงสัยภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
[embed-health-tool-bmi]