เบาหวานในเด็ก เป็นโรคเบาหวานที่เกิดขึ้นในเด็กซึ่งพบได้ยาก โดยส่วนใหญ่มักพบว่าเด็กป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ ๅ ซึ่งพ่อแม่จำเป็นต้องใช้เวลาในการทำความรู้จักและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้อย่างละเอียด เพื่อจะได้ดูแลลูกน้อยได้อย่างถูกวิธี ช่วยให้ลูกสามารถอยู่กับโรคนี้ได้และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
การทำความเข้าใจเบาหวานในเด็ก
พ่อแม่จำเป็นต้องศึกษาเกี่ยวกับเบาหวานในเด็ก ซึ่งแตกต่างจากเบาหวานในผู้ใหญ่ โดยเบาหวานในเด็กที่พบบ่อยคือเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ทางการแพทย์สันนิษฐานว่า เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติไปทำลายเซลล์เบต้าในตับอ่อน ทำให้ตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินชูคืนได้ การศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเบาหวานในเด็กจึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
- การศึกษาตัวผู้ป่วยและครอบครัว พ่อแม่ควรทำความเข้าใจลูกที่ป่วยเป็นเบาหวานในเด็ก และให้การดูแลรักษอย่างเหมาะสม แต่ในขณะเดียวกันควรให้ความใส่ใจกับสมาชิกในครอบครัวคนอื่น ๆ ด้วย
- การติดต่อกับทีมผู้ดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างใกล้ชิด พ่อแม่จำเป็นต้องพาลูกไปตรวจสุขภาพเป็นประจำสม่ำเสมอ สังเกตอาการและปรึกษาแพทย์หากพบข้อสงสัย
อาการเบาหวานในเด็ก
เบาหวานในเด็ก อาจมีอาการเหล่านี้ ได้แก่
- กินเก่ง แต่น้ำหนักตัวมักลดลง
- หายใจหอบ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย
- ดื่มน้ำมากกว่าปกติ มักกระหายน้ำถี่
- ปัสสาวะมากและบ่อยโดยเฉพาะในตอนกลางคืน
- หากเป็นแผล มักหายช้ากว่าปกติ
การรักษาเบาหวานในเด็ก
เบาหวานในเด็ก ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด โดยปกติมักรักษาโดยการฉีดอินซูลินตลอดชีวิต รวมทั้งการดูแลเรื่องโภชนาการที่เหมาะสม และที่สำคัญคือการพักผ่อนอย่างเพียงพอและออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอกจากนั้นแล้ว ผู้ป่วยเด็กที่เป็นเบาหวานมีแนวโน้มเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนได้มากกว่าผู้ใหญ่ และมักควบคุมได้ยากว่า เนื่องจากเด็ก ๆ ยังไม่สามารถควบคุมความต้องการของตนเองได้ ทำให้ความสามารถในการควบคุมเบาหวานทำได้ยาก
ทำไมจึงต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับเบาหวานในเด็ก
การศึกษาเกี่ยวกับเบาหวาน โดยเฉพาะการศึกษาเกี่ยวกับเบาหวานชนิดที่ 1 ในเด็ก พ่อแม่จำเป็นต้องใส่ใจอย่างจริงจังเด็กที่เป็นเบาหวานควรได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะในการพูดคุย มีทักษะในการแสดงอารมณ์ จิตใจดี และเข้าใจอาการเบาหวานในเด็กอย่างลึกซึ้ง ข้อมูลที่ได้รับจะต้องเป็นข้อมูลสำหรับโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในเด็กโดยเฉพาะ
ในการศึกษาเกี่ยวกับเบาหวานในเด็ก ควรประกอบไปด้วยทีมควบคุมที่ได้รับการรับรอง เช่น นักจิตวิทยา พยาบาล นักโภชนาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อมุ่งศึกษาและจัดการโรคเบาหวานขั้นพื้นฐาน ภายในบริบทที่ครอบครัวสามารถปรับตัวและรับมือเองได้ (การจัดการขั้นพื้นฐาน เรียกว่า “ทักษะการอยู่รอด”) และถ่ายทอดให้กับครอบครัวที่มีเด็กเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ทันทีหลังจากการวินิจฉัยครั้งแรกเสร็จสิ้น ครอบครัวมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความตกใจหรือความเศร้าหลังจากทราบผลการวินิจฉัย และอาจไม่สามารถควบคุมอารมณ์และยอมรับการเรียนรู้เนื้อหาเพื่อการดูแลรูปแบบใหม่ ๆ ได้
การศึกษาเรื่องเบาหวานในเด็ก ควรครอบคลุมถึงเรื่องใดบ้าง
การศึกษาเกี่ยวกับเบาหวานในเด็กจะเริ่มตั้งแต่เรื่องอายุและพัฒนาการเด็ก โดยคำนึงถึงเนื้อหาและแนวทางการศึกษา สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน การศึกษานี้จะปูแนวทางให้คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแลผู้ป่วย (หลังพิจารณาจากพัฒนาการด้านอารมณ์และความรู้ความเข้าใจ) สามารถดูแลเด็กได้เป็นอย่างดี การศึกษาควรเจาะจงไปยังผู้ป่วย รวมทั้งผู้ปกครองด้วย เนื่องจากอาจเกิดการสับสนจากข้อมูลที่ได้รับ และหากครอบครัวมีปัญหา การศึกษาจะช่วยให้ผู้ดูแลผู้ป่วยเกิดความรู้และความเข้าใจและพร้อมที่จะดูแลได้อย่างเต็มที่
ครอบครัวและเด็ก ๆ ต้องการการศึกษาและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเด็กต้องเติบโตขึ้นและสามารถดูแลตนเองได้ ทั้งผู้ปกครองและเด็กที่เป็นเบาหวานจึงควรได้รับการประเมินความรู้และทักษะจำเป็นโดยผู้ให้คำปรึกษาผู้ป่วยโรคเบาหวานเป็นประจำ
นอกเหนือจากการศึกษาและทำความเข้าใจของโรคอย่างละเอียดเเล้ว การพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงตรวจหาภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานแบบเฉียบพลัน ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยเช่นกัน
เด็กที่ป่วยเป็นเบาหวานและครอบครัวควรได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการป้องกันและตรวจคัดกรองภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคเบาหวาน และควรเข้ารับการปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นประจำด้วย เพื่อจะได้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ไขมัน และความดันโลหิตได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
[embed-health-tool-bmi]